Sunday, May 19, 2024

แฟชั่นและความยั่งยืน

ความยั่งยืน หรือ Sustainability ที่ดูเหมือนจะเป็นคำขวัญประจำใจของแทบจะทุกหน่วยงานและบริษัทยุคใหม่ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เกิดภาวะอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มลพิษที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อตอกย้ำด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ยิ่งตั้งคำถามกับพฤติกรรมของตนเองและหันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น

ลอฟฟีเซียลจึงพาไปบุกสตูดิโอของดีไซเนอร์ ทั้ง Dry Clean Only, Sarran และ Philip Huang เพื่อพูดคุยถึงแนวคิดในการทำแบรนด์โดยคำนึงถึงโลก สิ่งแวดล้อม และสังคม

 

SARRAN

จิวเวลรี่ดีไซน์รูปดอกไม้ที่ผสมผสานความเป็นไทยนั้นสร้างชื่อให้กับแบรนด์ SARRAN จนกระทั่งนักร้องสาวชื่อดังอลิเซียคีย์เลือกที่จะสวมใส่ขึ้นร้องเพลงศรัณย์อยู่คงดีคือผู้อยู่เบื้องหลังผลงานที่งดงามจับใจจนเรียกได้ว่าเป็นชิ้นงานศิลปะเขาไม่เพียงทำให้เรามองจิวเวลรี่ในมุมใหม่แต่ยังผนวกแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้าไปและสื่อสารแนวคิดนั้นให้คนทั่วไปได้เข้าถึงอย่างแนบเนียน

จริงๆ ก่อนที่จะเป็นจิวเวลรี่อาร์ทิสต์อย่างทุกวันนี้ ชื่อของศรัณย์ อยู่คงดี เป็นที่จับตามองในวงการออกแบบของตกแต่งมาตั้งแต่เกือบสิบปีก่อน ชายหนุ่มซึ่งเรียนศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี และต่อด้วยปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวัสดุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เริ่มต้นอาชีพด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผลงานของเขาถูกส่งไปจัดแสดงในงานแฟร์ต่างๆ และชนะรางวัลมาแล้วแทบจะทุกเวที ในระหว่างนั้นเขาก็ได้ทำความรู้จักและซึมซับกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน “ตอนนั้นมันเป็นเหมือนเทรนด์ของวงการออกแบบ เวลาที่ทำงานประกวดก็จะเกี่ยวข้องกับแนวคิดนี้” การทำงานที่ต้องลงไปศึกษาวัสดุ ทั้งผ้า เส้นใยธรรมชาติ ไปจนถึงกระดาษ โดยต้องเข้าไปคลุกคลีและทำงานในชุมชนด้วยตัวเองทำให้ศรัณย์เห็นความสำคัญของคำว่า ความยั่งยืน อย่างแท้จริง “คำว่า sustainable ไม่ใช่แค่ภาพสวยๆ ภายนอกที่เราเห็น แต่มันคือกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นเลย ทำอย่างไรให้ทุกอย่างเป็นขยะน้อยที่สุด” 

และยิ่งเมื่อได้ทุนจาก Japan Foundation ให้ไปศึกษางานที่ญี่ปุ่นสี่เดือน ก็ทำให้ได้เห็นวิธีการทำงานซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เขา “ในห้องเล็กๆ ที่เล็กกว่าออฟฟิศผม มีคนทำงานสี่คน แต่ละเดือนเขาทำเงินได้หลายสิบล้านบาท มันทำให้เรานึกภาพชีวิตนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จ มีพนักงานเต็มออฟฟิศ ซึ่งเป็นสเกลที่ไม่โดนใจเรา เราชอบเก็บเอเนอร์จี้ไว้ทำงานกับตัวเองมากกว่า แล้วเราก็ได้เห็นว่าบ้านเขายั่งยืนกว่าที่เราเคยทำหรือคิดมากๆ เขาให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ สังคม ชุมชน แม่น้ำ หมู่บ้าน มันทำให้รู้สึกว่าเราต้องคิดและหาสิ่งที่เราอยากกลับไปทำที่เมืองไทยที่กลายมาเป็นธุรกิจของเรา แล้วเราชอบอะไรกันแน่ เราชอบของตกแต่งเหรอ หรือเราอยากทำแฟชั่นซึ่งเป็นสิ่งที่อยากทำมาตั้งแต่แรกแต่ไม่มีหัวทางนี้เลย”

ศรัณย์เริ่มต้นทำจิวเวลรี่ในนามแบรนด์ SARRAN โดยนำวัสดุที่เหลือจากการทำของแต่งบ้านมาใช้ “ถ้าไม่เอามาทำ มันจะเป็นขยะ กว่าจะย่อยสลาย ทำไมไม่ทำให้มีมูลค่าและทำให้คนอยากเป็นเจ้าของ” เขายังบอกด้วยว่า “การทำจิวเวลรี่ เราไม่ได้ทำแค่ของสวยงามอย่างเดียว แต่เราพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนเกี่ยวกับการใช้ของมีค่าหรือวัสดุมีค่าหรือไม่มีค่า เราพยายามสร้างแมทีเรียลขึ้นมาใหม่ (ซึ่งแตกต่างจากวัสดุตามขนบอย่างทอง เพชร ที่นิยมใช้ทำจิวเวลรี่) ทำให้มันมีคุณค่าทางจิตใจ ผสมผสานกับมรดกของอดีต อย่างการอบร่ำ การร้อยมาลัยแบบไทย ซึ่งแสนจะธรรมชาติมากในสมัยก่อน ทำให้ชีวิตกลับมาละเมียด และให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ แล้วการเลือกใช้วัสดุเหล่านี้ยังเป็นการลดวัตถุดิบหลังบ้าน ลดของที่เรามีอยู่เยอะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

วัสดุเด่นของ SARRAN คือ Fabric Felt ซึ่งเกิดจากการนำเศษผ้าหลายชนิดในอุตสาหกรรมมาอัดด้วยความร้อน จนได้เท็กซ์เจอร์ที่คล้ายกระดาษ พอส่องกับแสงจะเห็นเส้นใย ทนกรดเกลือ ทนน้ำ ทนแดด “ผมว่าในอีกสิบปีมันอาจจะหมดไปอย่างแน่นอน ตอนนี้เราเลยพัฒนาวัสดุตัวใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ของเรา แต่เป็นเศษวัสดุจากใครก็ได้ อย่างย่านลิเภา การลงรัก แล็กเกอร์แวร์ งานฝังมุก เราใช้เศษวัสดุ แต่เราเอามาทำให้มันไม่ใช่เศษ เราต้องเอามารีฟอร์มให้สวยด้วย” 

นอกจากเรื่องการใช้วัสดุอย่างรู้คุณค่าแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับงานฝีมือเป็นอย่างมาก ผลงานแต่ละชิ้นใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานนับเดือน “คำว่าใช้เวลาดูจะขัดแย้งกับโลกของการทำธุรกิจ” แต่เขายืนยันว่างานประณีตก็ต้องให้เวลาซึ่งลูกค้าของเขาเข้าใจดี 

“ตอนนี้มีงานซึ่งเป็นกึ่ง made-to-order เข้ามามาก เราก็ต้องเริ่มให้น้องในทีมเข้ามาช่วยบ้าง อย่างการร้อยมุก แต่ถ้าแมทีเรียล ผมจะลงมือทำเองทั้งหมด คือ 70 เปอร์เซ็นต์ต้องเป็นมือผม ผมเชื่อว่าอาร์ทิสต์ต้องทำงานด้วยมือตัวเอง เพราะเราจะเห็นว่าในอดีต ลีโอนาร์โด ดา วินชีก็มีลูกมือ แต่จุดหลักๆ เขาต้องทำเอง” 

เราถามว่าทำไมเขาถึงเรียกตัวเองว่าจิวเวลรี่อาร์ทิสต์ ไม่ใช่ดีไซเนอร์ “ผมไม่เรียกตัวเองว่าดีไซเนอร์ เพราะเราไม่สามารถทำตามระบบอุตสาหกรรมที่ดีไซเนอร์ที่ดีเขาทำกันได้ เราทำเยอะๆ ไม่ได้ เราคืออาร์ทิสต์มาตั้งแต่เริ่มต้น เราไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่ดี แต่เราก็เป็นอาร์ทิสต์ที่แหวกขนบนิดหน่อยเพราะเราทำงานเป็นคอลเลกชั่นได้ และที่ผมเลือกทำเป็นคอลเลกชั่นเพราะผมมีเรื่องที่อยากจะเล่าเยอะมาก เราอยากให้ภาพมันออกมาชัดเจน อย่างการเล่าเรื่องราวสถานะของผู้หญิงในปัจจุบันผ่านคอลเลกชั่น ผมว่าสิ่งที่เราทำอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกหรอก แต่เราทำในสิ่งที่เป็นแพสชั่นของเรา”

“ผมคิดถึงเรื่องการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของเราเอง การยอมรับตัวตน มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ผมมองว่าบางทีเราก็มองหาแรงบันดาลใจจากทั่วโลก โดยลืมมองสิ่งที่อยู่ข้างๆ บ้านของเราเอง ทำให้โลกมันไม่เสถียร เราเป็นคนไทย เราจะรับอะไรมาบ้าง แล้วเราจะสร้างงานเพื่อใครกันแน่ เพราะถ้างานไม่ขายให้คนที่เราตั้งใจจะขาย สุดท้ายมันก็กลายเป็น dead stock ต้องเอามาลดราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกลัวที่สุด ผมตั้งใจว่าการทำแบรนด์ของผมต้องไม่มีการเซล ไม่มี dead stock”

เรานั่งคุยกันอยู่ในร้านของเขาที่ซอยสมคิด ย่านชิดลม ซึ่งมีห้องทำงานของเขาอยู่ด้วยและที่นี่ยังมีคนอยู่แค่สามคนเท่านั้น “ผมจะไม่ขยายองค์กรให้ใหญ่ไปกว่านี้ ตั้งใจว่าจะมีหน้าร้านไม่เกิน 3-4 ที่เท่านั้น เพราะการที่เราสามารถควบคุมอะไรได้ด้วยตัวเองมันคือเสน่ห์ของแบรนด์ด้วย เราไม่อยากให้ความสัมพันธ์ของเรากับทีมงาน หรือความสัมพันธ์ของเรากับลูกค้าหายไป ถ้าจะโตเราก็อยากเติบโตโดยเน้นคุณภาพ”

ในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ศรัณย์บอกว่าเขาคิดอะไรไม่ออกไปพักหนึ่ง แต่เมื่อตั้งตัวได้แล้วก็ทำให้เขาผุดไอเดียใหม่ๆ อย่างโปรเจ็กต์ How To Sarran ซึ่งเชิญคุณจูน สาวิตรี และคุณสู่ขวัญ บูลกุล มาร่วมออกแบบด้วย “ปรากฏว่ามีคนชอบผลงานเหล่านั้น ก็ทำให้ผมได้รู้ว่าวิธีการออกแบบของเราอาจต้องดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น” และตอนนี้นอกจากกำลังวุ่นๆ อยู่กับการสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ซึ่งจะใช้เป็นช่องทางการจำหน่ายด้วยแล้ว วิธีการทำงานหลายอย่างของเขาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน อย่างการทำงานร่วมกับชุมชน 

“เมื่อก่อนผมต้องเดินทางไปเอง แต่ตอนนี้ทำงานผ่าน Zoom ก็ทำให้งานง่ายขึ้นได้เหมือนกัน ลดคาร์บอนฟุตเทจไปเยอะ มันทำให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้พลังงานน้อยที่สุดแต่เกิดผลมากที่สุด จะขนส่งวัสดุอย่างไร หรือเราจะเข้าถึงลูกค้าอย่างไรในวันที่ทุกอย่างอาจจะไม่ปกติเหมือนเดิม จริงๆ ปีที่แล้วกับปีนี้เป็นปีที่ทำให้เข้าใจเรื่องความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น เราพยายามแก้ปัญหาให้มันผ่านไปได้ และทำให้ทุกอย่างมันสมดุล”

DRY CLEAN ONLY

เสื้อผ้าของเบสท์-ปฏิพัทธ์ชัยภักดีไม่เหมือนใครเขามองเห็นเสน่ห์ของชิ้นงานเก่าจนตั้งใจนำมาตีความและรีเมกจนกลายเป็นชิ้นงานใหม่ที่มีมูลค่าเป็นผลงาน one-of-a-kind แฝงความสตรีทและความร่วมสมัยทำให้คนรู้จักชื่อแบรนด์ Dry Clean Only มานานนับสิบปีแล้ว

จากจุดเริ่มต้นร้านเสื้อเล็กๆ ในจตุจักรเมื่อสิบกว่าปีก่อน จนถึงตอนนี้คนแฟชั่นทั้งไทยและต่างประเทศต่างก็ประจักษ์ในความโดดเด่นของแบรนด์ Dry Clean Only ทั้งยังหลงรักในจิตวิญญาณความขบถ การเสียดสี ล้อเลียน โดยผสมผสานชิ้นงานวินเทจเข้ากับความหรูหรา (ขนาดชื่อแบรนด์ยังมาจากป้ายชื่อสำเร็จรูปจากร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บ เพราะตอนนั้นไม่มีทุนทำป้ายเอง) เบสท์-ปฏิพัทธ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ มองเห็นเสน่ห์ของเสื้อผ้าวินเทจที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ด้วยราคา จึงนำมาตกแต่งประดับประดาแบบงานคราฟต์ รวมถึงนำมารื้อสร้างผสมผสานกับวัสดุต่างๆ หรือทำแพทเทิร์นใหม่จนได้เป็นชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร 

“ตอนแรกที่ทำแบรนด์ Dry Clean Only ขึ้นมา พูดแบบตรงๆ ว่าไม่ได้มีความคิดเรื่องความยั่งยืน แต่มองว่ามันคือช่องว่างทางการตลาด และมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา คิดว่าจะสามารถนำเอาของวินเทจที่เราพบเห็นมานำเสนอได้ในแบบใหม่ครับ… จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่กล้าเรียกว่าเราเป็นแบรนด์ sustainable อย่างเต็มปาก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความยั่งยืนในแบบของเราก็คือการเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่แล้ว หรือเหลือใช้มารีเมกหรือรีเวิร์กใหม่” 

อะไรทำให้ Dry Clean Only แตกต่าง

“คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของวิธีคิดมากกว่า เหมือนเราหยิบจับวัสดุที่คนอื่นๆ ไม่ค่อยได้หยิบจับมาเป็นตัวชูโรง ทำให้มันแตกต่างจากคนอื่น ความท้าทายนอกจากการนำเอาวัสดุเก่าหรือวินเทจมาใช้แล้ว ก็คือการที่ต้องคิดอะไรให้ใหม่อยู่เสมอ ต้องคิดอะไรที่คนยังไม่เคยเห็น มันถึงจะถูกใจตลาด” 

ความท้าทายในการทำงานจากวัสดุเก่าหรือวินเทจคืออะไร 

“การใช้ของเก่าหรือของวินเทจมารีเมกจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการทำชิ้นงานในปริมาณมาก เพราะวัสดุมันหายาก บางทีก็ไม่สามารถทำตามออเดอร์ของลูกค้าได้ทั้งหมดครับ เพราะเหตุนี้ผลงานของ Dry Clean Only จึงมีความนิชอยู่พอสมควร และความท้าทายอีกอย่างก็คือ เราต้องสื่อสารกับลูกค้าว่ามันคือของเก่าที่มีเสน่ห์ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเสื้อมีรอยเก่า ซึ่งนี่คือสิ่งที่ยากในการทำแบรนด์และสื่อสารออกไป” 

หลังเกิดโควิดคุณเบสท์มองแฟชั่นต่างไปจากเดิมไหม

“คิดว่าตอนนี้เราทำแค่เสื้ออย่างเดียวไม่พอแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้พีอาร์หรือมาร์เก็ตติ้งมันนำด้านดีไซน์ด้วยซ้ำ เมื่อสิบปีก่อนทำเสื้อสวยอย่างเดียวอาจจะได้ ให้เสื้อมันพูดด้วยตัวของมันเอง แต่ตอนนี้ไม่พอแล้วเพราะการแข่งขันมันสูง การที่จะทำให้เราสแตนด์เอาต์ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบด้านพีอาร์ มาร์เก็ตติ้ง และอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้คนเห็น และทำให้คนสนใจโปรดักต์ของเรา”

แล้วฤดูกาลยังมีความสำคัญไหม

“ฤดูกาลสำคัญสำหรับคนทำงานกับบายเออร์ แต่ตอนนี้อาจไม่ได้สำคัญเท่าเดิม มันเหมือนกับว่าคนก็สามารถนำเสนอเสื้อผ้าที่ตัวเองพร้อมเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วคิดว่า right product และ right timing น่าจะสำคัญกว่า แต่แค่ว่าซีซั่นมันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องวางงบประมาณ ทำให้เรายังต้องยึดอยู่” 

คิดว่าโลกแฟชั่นปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร

“สำหรับเราคิดว่ามีแบรนด์ให้เลือกเยอะ ใครก็สามารถทำแบรนด์ได้ ซึ่งก็แล้วแต่คนจะเลือกเสพอยู่ดี และมันทำให้เราต้องทำงานมากขึ้น เข้มข้นขึ้น อย่างแบรนด์ใน IG เราก็ชอบนะ มันเหมือนว่าใครเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องหาลูกค้าหรือสาวกของเราให้เจอ คิดว่าโลกค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก ยิ่งพอมาเจอโควิด พฤติกรรมคนก็ยิ่งเปลี่ยนไป แต่คิดว่ามันเป็นโอกาส ซึ่งเราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ เพราะสิ่งที่เราเคยคิด ลูกค้าอาจจะไม่ต้องการก็ได้ กลุ่มลูกค้าก็จะเล็กและแคบลงเรื่อยๆ กลายเป็น subjective ลงไปอีก” 

ขอถามถึงแรงบันดาลใจบ้างว่ามาจากไหนหรือมาจากวัสดุเป็นหลัก 

“มันก็มาจากวัสดุด้วยครับ เพราะวัสดุนำก่อน ก็ต้องมาดูว่าตอนนี้อะไรมันอินสไปร์เรา แล้วเอามาพัฒนาต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง ส่วนแรงบันดาลใจด้านอื่นๆ ก็มาจากการใช้ชีวิตของเรา ดูหนัง ฟังเพลง การเดินทางซึ่งเราชอบที่จะได้ไปเห็นนั่นเห็นนี่ แต่แค่ว่าตอนนี้มันเดินทางไม่ได้ เราก็ต้องปรับวิธีการคิดใหม่เหมือนกัน” 

ตลอดเวลาที่ผ่าน Dry Clean Only ทำงานคอลลาบอเรชั่นกับหลายๆแบรนด์

“ผมว่ามันช่วยสร้าง awareness ให้กับแบรนด์แล้วอาจจะได้ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อนก็ได้ อย่างล่าสุดที่เราทำกับ Adidas เป็นแบรนด์ใหญ่สุดที่เราเคยร่วมงานกันมา เราก็ได้รับการติดต่อจากรองประธานของแบรนด์ที่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ ช่วงโควิดปีที่ผ่านมาเราทำงานผ่านซูมกันอยู่หกเดือน ทุกอย่างมันเกิดขึ้นผ่านออนไลน์หมดเลย ซึ่งเราก็ตื่นเต้นกับมันเหมือนกัน แล้วความยากคือเราต้องทำให้มันคอมเมอร์เชียล เพราะต้องผลิตในปริมาณเยอะ เราก็ต้องเอามุมมองของ Dry Clean Only ไปตีความใหม่ในไดเร็กชั่นของอาดิดาส เพราะฉะนั้นวัสดุที่เอามาใช้มันจะเกิดจากการลอกเลียนแบบของเก่า ไม่ใช่วัสดุเก่าจริง อย่างสูทเราก็สร้างแพทเทิร์นขึ้นมาจากเสื้อกีฬาเก่าของอาดิดาส ต้องส่งไปให้ฝ่ายเทคนิเชียลของอาดิดาสแกะขึ้นมา มันค่อนข้างถูกจริตไดเร็กชั่นใหม่ที่เราอยากจะก้าวไปในอนาคต” 

เป้าหมายในปี 2021 คืออะไร 

“ตอนนี้เรากำลังทำ second line ซึ่งกำลังไปได้ดี ชื่อว่า Casa Dry Clean Only ก็เหมือนเราเอา Dry Clean Only มาย่อยให้มันง่ายขึ้น และในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ยังเดินทางไปไหนไม่ได้ ไม่รู้สถานการณ์โรคจะกลับมารุนแรงอีกไหม เราก็จะกลับมาโฟกัสที่ตลาดในประเทศมากขึ้น”

คิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อความยั่งยืน 

“ถ้ามองในฐานะผู้บริโภค เราคิดว่าการใส่อะไรซ้ำๆ มันง่ายสุด และซื้อของที่ตัวเองชอบจริงๆ มันจะได้ไม่เสียเปล่าหรือกลายเป็นขยะ คือเราต้องมั่นใจว่าชอบ เราจะได้ใส่มันบ่อยๆ ถ้าจะบอกว่าให้ซื้อน้อยลงก็เหมือนขัดกับการเป็นคนทำธุรกิจ แต่อยากให้เลือกชิ้นที่เหมาะกับเรา ซื้อชิ้นที่เราชอบ ถ้าชอบจริงๆ ต่อให้แพง แต่เราใส่มันได้บ่อย มันก็มีคุณค่า” 

PHILIP HUANG

ถ้าพูดถึงกระบวนการผลิตผ้าแบบย้อมคราม (indigo) นั้น อาจจะดูคล้ายวิชาวิทยาศาสตร์ผสมกับวิชาศิลปะอยู่สักหน่อย ดังเช่นที่ฟิลิป ฮวง ได้อธิบายให้เราฟังขณะชมมุมทดลองย้อมครามของเขาบริเวณหลังบ้านในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับโชว์รูมของแบรนด์ในชื่อของเขาเอง กระบวนการนั้นเริ่มต้นจากการนำใบครามไปแช่น้ำอยู่นานข้ามวันจนเปื่อยยุ่ย ก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการในถังหมักโดยเติมส่วนผสมอื่นๆ ให้เกิดสีสันแปลกตา ตัว indigo paste ที่ได้นั้นจะเก็บไว้ได้นานก็ขึ้นอยู่กับการดูแลระบบนิเวศของแบคทีเรียในถัง ต้องดูค่าความเป็นกรดด่าง โดยฟิลิปต้องคอยตรวจเช็ค วัดค่าความเป็นกรดด่าง และตักฟองด้านบนออก “เหมือนร่างกายเราครับที่มันต้องดีท็อกซ์ ถ้าถามว่าเก็บไว้ได้นานไหม? ช่วงโควิดผมเก็บไว้ได้นานเจ็ดเดือน”

ขอเท้าความถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ Philip Huang กันสักหน่อย ตัวฟิลิป ฮวง หนุ่มอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน เคยทำงานเป็นนายแบบให้กับแบรนด์ดังอย่างกุชชี่ และโดลเช่ แอนด์ กาบบาน่า ส่วนชมวรรณ วีรวรวิทย์ เป็นที่ปรึกษาด้านแฟชั่น และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ สองสามีภรรยาสนใจการทำเสื้อผ้าและได้ศึกษาการย้อมครามมานานหลายปีแล้ว ฟิลิปเล่าว่า “เราเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ตอนที่ย้ายมาอยู่ประเทศไทยครับ ก่อนหน้านั้นเราอยู่กันคนละที่ ผมอยู่นิวยอร์ก เธออยู่เชียงใหม่ แล้วเราก็เคยผ่านเวิร์กช็อปย้อมครามด้วยความอยากรู้อยากสนุก โดยต่างคนก็ต่างไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไร พอย้ายมาอยู่ที่ไทย เราก็อยากศึกษาด้านนี้ให้มากขึ้น เลยขับรถไปดูกันที่จังหวัดสกลนคร” และจากการได้ไปสัมผัสด้วยตนเองก็ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเริ่มต้นทำแบรนด์ Philip Huang ให้เป็นรูปเป็นร่างในปี 2016 โดยชูจุดเด่นเป็นเสื้อย้อมครามธรรมชาติ โดยชิ้นงานหลักเป็นเสื้อยืดเพราะเป็นสิ่งที่ฟิลิปชอบใส่ 

ฟิลิปเล่าว่า “ผมตกหลุมรักการย้อมครามจังๆ จากการได้ไปเยือนสกลนคร ได้คลุกคลีกับวิถีชีวิต ธรรมชาติ และแง่มุม ความยั่งยืนของที่นั่น มันต่างไปจากเมืองใหญ่ต่างๆ ที่เราไปเยือนมา ซึ่งเรามักจะเห็นแต่โปรดักต์สำเร็จวางขาย ไม่เคยเห็นที่มาที่ไปหรือกระบวนการหรือเบื้องหลังเลย” ส่วนชมวรรณซึ่งทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์บอกว่าเป็นเพราะการศึกษาวิจัยที่เธอทำ “ได้เห็นว่ามันเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และความรู้ดั้งเดิมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น” และเกิดแรงบันดาลใจให้อยากทำอะไรที่ใช้มือทำ งานหัตถกรรม ซึ่งมันมีเสน่ห์ต่างจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ทุกอย่างออกมาหน้าตาเหมือนกัน 

“แล้วเราก็อยากผสานสิ่งที่เราได้ค้นพบให้เข้ากับชีวิตร่วมสมัยค่ะ นำเสนอในบริบทใหม่ที่ไม่ใช่แค่แฟชั่นเท่านั้น แต่ในทางวัฒนธรรมด้วย มันเป็นแรงผลักดันให้เรานำเสนอทางเลือกใหม่ เราได้ยินคำว่า sustainable fashion มาเยอะมาก แต่เราก็ต้องพยายามสร้างภาษาในการสื่อสารของตัวเอง และการทำงานร่วมกับคนอื่นเพื่อสร้างผลงานขึ้นมา” ชมวรรณกล่าว 

เมื่อถามว่าความยั่งยืนหมายถึงอะไรกันแน่ ทั้งสองบอกว่ามันมีความหมายหลายระดับ แต่ตัวพวกเขาเองก็ไม่เคยเรียกแบรนด์ตนเองด้วยคำนี้จนกระทั่งมีสื่อหนึ่งเขียนบทความ และบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไปในทิศทางที่เน้นความยั่งยืน ชมวรรณอธิบายว่า “เรายึดมั่นในแนวทางบางอย่างที่เราคิดว่าสำคัญ ไม่ว่ามันควรจะเรียกว่า sustainable หรือไม่ก็ตาม เราเองก็มองมันในความหมายของเรา อย่างการนำเสนอทางเลือกในกระบวนการผลิต และในอุตสาหกรรมแฟชั่น การที่เราเลือกใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ไม่ใช่เพราะเราอยากได้รับเครื่องหมายหรือตรารับรอง แต่เพราะเราเชื่อในการมอบอิสระให้กับชาวไร่ เพราะพวกเขาส่วนใหญ่พึ่งพาการใช้สารเคมี ถ้าพวกเขามีอิสระในการตัดสินใจได้น้อย ในอนาคตชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ฉันเลยคิดว่า sustainable ในแง่นี้หมายถึงการที่เรามีทางเลือกอื่นๆ ซึ่งคนสามารถตัดสินใจเพื่อตัวพวกเขาเอง ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น และสร้างอันตรายน้อยลงแก่ทุกคน รวมทั้งตัวเอง” 

“ผมว่ามันเกี่ยวกับว่าเราอยู่ที่ไหนด้วยนะ อย่างถ้าพูดกับบางคนในนิวยอร์กก็อาจคิดไม่เหมือนกัน อาจจะเพราะว่าที่นี่เราอยู่ใกล้กับกระบวนการผลิต เราใกล้ผืนดิน มันทำให้เห็นภาพชัดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง อย่างในนิวยอร์ก เราจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่ สิ่งที่แบรนด์ต่างๆ ทำก็เลยจะเป็นเรื่อง upcycling เอาวัสดุในสต็อกมา reuse ผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงชาวไร่ชาวนาน่ะครับ”

ในภาพยนตร์สั้น Finding Oasis ที่ทางแบรนด์นำเสนอสำหรับประกอบคอลเลกชั่นในฤดูกาลสปริง-ซัมเมอร์ 2021 ยังแสดงให้เห็นว่านี่คือทางเลือก เราสามารถผลิตชิ้นงานแฟชั่นโดยร่วมมือกับชุมชนได้ และนำไปสู่ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น “คนจำนวนมากก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาอยู่ในหอพักเล็กๆ ในเมือง ทำงานโรงงาน ได้ค่าจ้างน้อย พวกเขาสามารถใช้ชีวิตบนผืนดินของตัวเองและมีชีวิตที่ดีได้ ฉันคิดว่ามุมมองเกี่ยวกับคนไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเท่าไหร่ในแง่ความยั่งยืน” 

เธอบอกว่าแบรนด์ Philip Huang ทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘สื่อกลาง’ ในการส่งต่อความรู้และวัฒนธรรมของชุมชนผ่านเสื้อผ้าและโปรดักต์ที่แบรนด์สร้างสรรค์ขึ้น ดังเช่นผลงานล่าสุดประจำสปริง-ซัมเมอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งในปารีสแฟชั่นวีกซึ่งนำเสนอในรูปแบบดิจิตัล คอลเลกชั่นนี้ทำให้สื่อแฟชั่นชั้นนำอย่าง WWD ยกให้แบรนด์เป็นหนึ่งในสี่แบรนด์ที่น่าจับตามอง

ILLUSTRATIONS: OAT MONTIEN






Other Articles