Gagosian นำเสนอนิทรรศการ Iconic Avedon ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ Richard Avedon ช่างภาพอัจฉริยะผู้สร้างสรรค์ภาพถ่ายที่กลายเป็นภาพจำของโลกแฟชั่น
“การถ่ายภาพเป็นเหมือนกระจกสองด้านสำหรับผมมาโดยตลอด ด้านหนึ่งสะท้อนถึงตัวตนของคนที่ถูกถ่าย และอีกด้านสะท้อนถึงตัวตนของผม”… Richard Avedon (1923-2004) คือผู้ทรงอิทธิพลและมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมป๊อป ผ่านการถ่ายภาพแฟชั่นรวมถึงเหล่าคนดัง ถ้าจะให้นิยามผลงานของเขา ก็คงต้องใช้คำว่า ‘ไอคอนิก’ เท่านั้น”
ริชาร์ด แอเวอดอนเกิดที่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 1923 พ่อของเขาเป็นเจ้าของร้านเสื้อ ส่วนแม่มาจากครอบครัวเจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้า เขาจับกล้องครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 12 (Kodak Box Brownie) และอยู่ชมรมถ่ายภาพ ตอนที่เข้ามหาวิทยาลัย เขาเลือกเรียนทางปรัชญาและกวีนิพนธ์ก่อนจะต้องลาออกไปรับใช้ชาติในช่วงสงครามโลก ที่กรมทหารเรือ เขาทำหน้าที่เป็นช่างภาพถ่ายรูปติดบัตรให้กับเหล่ากะลาสีทั้งหลาย หลังจากทำงานอยู่สองปี เขาจึงสมัครเรียนถ่ายภาพที่ Design Laboratory of the New School of Social Research ภายใต้การดูแลของอเล็กซี่ โบรโดวิตช์ อาร์ตไดเร็กเตอร์ชื่อดังของ Harper’s Bazaar นิตยสารแฟชั่นอเมริกันที่อเวดอนได้มีโอกาสร่วมงานด้วยเป็นที่แรก (1944–65) ก่อนจะได้ไปทำงานที่นิตยสาร Vogue อเมริกัน (1966–88)
“It’s not the camera that makes a good picture, but the eye and the mind of the photographer.”
แอเวอดอนเคยเล่าถึงความทรงจำวัยเด็กที่ทำให้เขาสนใจการถ่ายภาพแฟชั่นว่า “เย็นวันหนึ่ง พ่อกับผมเดินอยู่ที่ถนนฟิฟธอเวนิว และที่หน้าโรงแรมพลาซ่า ผมเห็นผู้ชายหัวล้านถือกล้องถ่ายผู้หญิงที่โพสอยู่ข้างต้นไม้ เขาเงยหน้า เข้าไปจัดชุดให้เธอ และถ่ายต่อ ต่อมาผมเห็นภาพนั้นอยู่ในนิตยสาร Harper’s Bazaar ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้เธอยืนข้างต้นไม้จนกระทั่งผมได้ไปปารีสในอีกหลายปีต่อมา ต้นไม้ที่้หน้าโรงแรมพลาซ่ามีเปลือกเหมือนต้นไม้ที่ถนนชองป์เซลิเซ่”
ภาพถ่ายแฟชั่นของแอเวอดอนนั้นมีเรื่องราว เพราะเขาเข้าใจดีว่าภาพแฟชั่นไม่ใช่แค่การขายโปรดักต์เท่านั้น แต่ยังต้องสื่ออารมณ์ความรู้สึกและสะท้อนจิตวิญญาณผ่านภาพ นั่นทำให้เขาได้มีโอกาสถ่ายภาพแคมเปญดังๆ ให้กับแบรนด์ต่างๆ มากมาย ทั้ง Calvin Klein, Revlon, Versace เป็นต้น
Dovima with elephants, evening dress by Dior, Cirque d ́Hiver, Paris, August 1955
Photograph(s) by Richard Avedon © The Richard Avedon Foundation
ถ้าพูดถึงภาพแฟชั่นไอคอนิกของเขา หนึ่งในนั้นก็คือ Dovima with Elephants (1955) ซึ่งเป็นภาพที่นางแบบชื่อโดวิม่าสวมชุดราตรีคาดเอวของดิออร์ ยืนโพสท่าอยู่ระหว่างช้างสองตัว “เขาขอให้ฉันทำในสิ่งที่น่าอัศจรรย์ค่ะ ฉันรู้ว่าฉันจะได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพที่ยิ่งใหญ่นี้” โดวิม่าพูดถึงแอเวอดอน
ในการถ่ายภาพพอร์เทรตของเขา แอเวอดอนมักจะทำความรู้จักมักคุ้นกับผู้ที่เป็นแบบ เพื่อให้ได้รับความเชื่อใจจนสามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ที่เป็นธรรมชาติและเปี่ยมด้วยความรู้สึกออกมาได้ บ่อยครั้ง เขามักถ่ายภาพโคลสอัพเพื่อให้เห็นรายละเอียดชัดเจน และทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของแบบ และการเลือกถ่ายภาพแบ็กกราวด์ขาวดำยังทำให้ปราศจากบริบท ให้ผู้ชมโฟกัสแค่ใบหน้าและเรือนร่างของแบบ
ภาพพอร์เทรตของ Marian Anderson (1955), Marilyn Monroe (1957), Bob Dylan (1965) และ the Beatles (1967) ที่เขาเป็นคนถ่ายยังเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ Harold Brodkey นักเขียนชาวอเมริกัน กล่าวถึงภาพที่แอเวอดอนถ่ายตัวเขาว่า “มันไม่ใช่ภายนอกที่คนมองเห็นผม แต่มันเป็นสิ่งที่ผมเป็น”
Left: The Vicomtesse Jacqueline de Ribes, hair by Kenneth, New York, December 14, 1955 Right:
China Machado,suit by Ben Zuckerman, hair by Kenneth, New York, November 6, 1958 All: Photograph(s) by Richard Avedon © The Richard Avedon Foundation
Left: Tina Turner, performer, dress by Azzaro, New York, June 13, 1971
Right: Sandra Bennett, twelve year old, Rocky Ford, Colorado,August 23, 1980
All: Photograph(s) by Richard Avedon © The Richard Avedon Foundation
หลังจากทำงานที่นิตยสาร Vogue อเมริกันมานานกว่า 20 ปี เขาได้ทำงานเป็นช่างภาพสตาฟคนแรกของนิตยสาร The New Yorker ในปี 1992 นอกจากถ่ายภาพแฟชั่นและคนดังแล้ว เขายังสร้างสรรค์ภาพถ่ายศิลป์และภาพถ่ายสารคดีด้วย
“ผมถ่ายภาพทุกคนในโลกแล้ว แต่สิ่งที่ผมหวังว่าอยากจะทำก็คือถ่ายภาพคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนดัง และสร้างนิยามให้คนเห็นความต่าง”
Charles Chaplin, actor, New York, September 13, 1952
Photograph(s) by Richard Avedon © The Richard Avedon Foundation
นิทรรศการ ICONIC AVEDON: A Centennial Celebration of Richard Avedon จัดขึ้นที่แกเลอรี่ Gagosian กรุงปารีส จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2024
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
บอกเล่าเรื่องราวอัน ‘หนักอึ้ง’ ด้วยมวลความทรงจำและความรู้สึกจากภาพถ่ายของ ‘เต๋อ นวพล’
‘สวัสดี2519’ กับเวลาที่ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงของ รอง จิตต์สิงห์
ชวนดูนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ช่างภาพสงคราม พร้อมเผยภาพถ่ายชุดสงครามยูเครนสู่สายตาชาวโลก