ห้องโถงโปร่งกว้างสีขาวและเพดานสูง 6 เมตรตระการตา อาจจะฟังดูว่างเปล่าแต่กลับเต็มไปด้วยคอลเลกชั่นรูปเข้าเฟรมกว่า 120 รูปเรียงรายที่บรรจุความทรงจำและความรู้สึกของผู้ชายเจ้าของนิทรรศการนี้ บทหนังสั้นความยาว 2 หน้ากระดาษเริ่มต้นขึ้นที่ ฉากของชายเจ้าของงานใส่เสื้อสีดำคอปกลายแขนยาวขว้างยืนหันหลังรอเราอยู่กลางโถ่งดังกล่าว ทันใดที่เราเปิดประตูเข้าไป เขาหันกลับมาทักทายเราด้วยท่าทางใจดี ยิ้มแย้มอย่างอบอุ่น และเชิญเรานั่งที่โต๊ะบริเวณใกล้ๆและแนะนำตัวเขา “สวัสดีครับ ผม เต๋อ นวพล ปกติเป็นผู้กำกับ แล้วก็ทำงานเล่าเรื่องผ่านสื่ออื่นๆเช่นหนังสือและนิทรรศการครับ”
สำหรับคนที่ติดตามและรู้จักผลงานของเขาอยู่บ้าง นี่ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่เราคาดว่าจะพบจากการเผชิญหน้ากับผู้กำกับหนังใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ไทยและกวาดรางวัลมากมายในระดับนานาชาติมาแล้ว เขาดูสบายๆ ตัวเบาๆ ขัดแย้งกับคอนเส็ปของนิทรรศการภาพถ่ายของเขาในครั้งนี้ที่ใช้ชื่อว่า Heavy
“จริงๆจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มันค่อนข้างตรงไปตรงมาครับ เริ่มจากผมเพิ่งทำบ้านและอยากหาของตกแต่ง เพราะบ้านผมโล่งมากครับ (หัวเราะ) เลยมีไอเดียว่าจะหารูป 2 เมตรมาติดผนังบ้าน เลยลองกลับมาค้นหารูปถ่ายของตัวเองแล้วกัน เพราะว่าถ่ายไว้ค่อนข้างเยอะตลอดเวลาที่ทำงานมา แล้วก็คิดว่า เออ มันเป็นไอเดียที่ดีเหมือนกัน เพราะปกติงานที่ผมทำมันจะอยู่แค่ในจอ ฉายเสร็จก็หายไปเลย ไม่มีอะไรให้เก็บและจับต้องไม่ได้
อยากถือโอกาสนี้ ‘จับงานตัวเองสักครั้งครับ’ ผมเลยเลือกรูปแล้วส่งให้ทางร้านปริ้นรูปและนำเข้ากรอบ”
“ตอนรูปมาส่ง มันเหมือนซีนตลกครับ รถกระบะสองประตูคันงาม วิ่งเข้ามาจอดหน้าบ้านของผม พี่คนขับเดินลงมาและยืนใบเซ็นรับของให้ผม ผมเซ็นรับด้วยความดีใจ และบอกเขาว่า ‘ยกเข้าบ้านได้เลยครับ’ พี่คนขับยกห่อรูปลงจากกระบะและบอกผมว่า ‘คุณผู้ชายยกเข้าบ้านเองนะครับ เรามาส่งคุณได้แค่นี้’ แล้วขับรถจากไป ทิ้งให้ผมโยกรูปขนาดใหญ่ 2 เมตรด้วยตัวผมเองเข้าบ้าน ไม่หน่ำซ้ำผ่านบันไดขึ้นชั้น 2 ชั้นเป็นฉากที่ทุลักทุเลอย่างยิ่ง เมื่อถึงตำแหน่งที่ต้องการติดภาพ ผมแกะมันออกและพบว่ามันคือรูปของนางเอกหนังเรื่องหนึ่งของผม ‘ญาญ่า อุรัสยา’ ชั่งเป็นภาพที่ตลกสิ้นดี และขอตั้งชื่อซีนนี้ว่า ‘นวพลแบกญาญ่าเข้าบ้าน’ (หัวเราะ)”
เปรียบ เต๋อ นวพล เป็นตัวเอกในหนังชีวประวัติของตัวเอง หลังจากฉากที่น่าขบขันผ่านไป เขากลับคิดถึงสิ่งหนึ่งขึ้นมา นอกจากเขาจะตื่นเต้นและชื่นชอบกับประสบการณ์ใหม่ ในการจับงานของเขาเองแล้ว เขายังรู้สึกจุกที่อกถึง ‘ความหนักและภาระ’ ในแง่ของความรู้สึก ที่อยู่ในสิ่งของที่บรรจุความทรงจำอันมากมายไว้อีกด้วย เขาจึงได้แรงบันดาลในการสร้างสรรค์นิทรรศการภาพถ่ายของเขาและเริ่มค้นหาภาพเพิ่มเติมจากไฟล์ที่เขาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งคัดจาก 50,000 กว่ารูป ให้เหลือเพียง 120 รูปที่เซตภาพทั้งหมดแฝงนัยยะของความรู้สึกที่มีต่อ ‘ความทรงจำ’ ที่หนักอึ่งย้อนแย้งกับการมีเทคโนโลยีที่ทำให้การดูรูปทางดิจิตัล ‘เบาหวิวและไร้น้ำหนัก’ อย่างไรก็ตามการคัดภาพถ่ายจากทั้งหมด ทำให้ตัวละครนี้ตอบคำถามของตัวเองเรื่อง ‘ตัวตนของเขาที่แท้จริง’ เช่นกัน
หลังจากที่นั่งพูดคุยที่โต๊ะตัวเล็กอย่างพอสมควร เต๋อ นวพล ได้พาเราเดินรอบๆแกลลอรี่จัดแสดงงานของเขาที่ปรากฎสแตกค์ของภาพถ่ายตรงกลางห้อง
และเชื้อเชิญให้เราลองเคลื่อนย้าย ยก จัดเรียงใหม่ และ ขุดหาความทรงจำต่างๆทีละแผ่นๆ
เสมือนจำลองฉากที่เรากำลังเปิดดู ‘ไฟล์ความทรงจำ’ ของเขา
“ผมตื่นเต้นมากทุกครั้งในการทำนิทรรศการ ทั้ง นิทรรศการ I write you a lot และ second hand dialogue ที่ผ่านมา มันไม่เหมือน ’งานเขียน’ ที่เล่าเรื่องผ่าน ตัวอักษร และจบด้วยตัวของเราเองได้ง่าย หรือ ‘ภาพยนตร์’ ที่อาศัย ภาพเคลื่อนไหวและเสียง และที่ร่วมงานกับผู้คนมากมายและยังควบคุมได้ยาก เพราะนิทรรศการคือการเล่นกับ ‘พื้นที่’ จริง ต้องใช้อะไร จัดการมันอย่างไร แสงสว่างแค่ไหน คนเดินโฟลว์เป็นยังไง ให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่เราอยากสื่อสารให้เขา ไม่ใช่แค่รูปถ่ายของผมที่เป็นงาน แต่มันคือ ‘ผู้ชม’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานเช่นกัน เวลาผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับงานและคนรอบข้าง ผมรู้สึกชื่นใจที่สุด และผมดีใจที่งานของผมเป็น ‘จุดเริ่มต้นบทสนทนา’ ของผู้คนที่มาชมงาน ไม่ว่าจะมาเป็นกลุ่ม เป็นคู่ หรือคนเดียว จากการยกและเคลื่อนย้ายเฟรมรูป หรือบางทีมันอาจจะเกิดอะไรที่เราเรียกว่า Magic Moment ในนิทรรศการก็ได้”
จุดไคลแม็กซ์สำหรับการพูดคุยกับผุ้ชายคนนี้ ยิ่งทำให้เราเริ่มรับรู้ถึงถึงความถาโถมของคำว่า ‘หนักอึ้ง’ ที่ผู้ชายคนนี้ต้องการจะสื่อ เมื่อเขาพูดถึงรูปที่บรรจุความทรงจำของ ตัวละคร โลเคชั่น ไทม์ไลน์ และ พร๊อป ที่เขา ‘คิดถึงที่สุด’ ในหนังชีวประวัติของเขาจากรูปอันมากมายที่จัดแสดงอยู่
ภาพที่คิดถึงคนถูกถ่าย : ตัวละคร (ชื่อภาพ: 11.3MB)
“เป็นรูปของ ‘คุณพ่อ’
รู้สึกว่าเป็นคนในครอบครัวที่ผมเสียไปคนแรก สักประมาณปีที่แล้ว ถือว่าอันนี้เป็น portrait อย่างนึง ‘ถ้าพ่อจะฝากอะไรไว้ก็ฝากภาพไว้นี้นะครับ’ (หัวเราะ) รู้สึกว่ามันเป็นภาพสุดท้ายของพ่อผมและสิ่งที่เขาทิ้งเอาไว้ให้ “
ภาพที่คิดถึงสถานที่ : โลเคชั่น (ชื่อภาพ: 4.3MB)
“เป็นรูป ‘ฟิล์มที่ถ่ายตัวเอง’
ในช่วง 2013 มันเป็นห้องที่เวนิส ตอนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Mary is happy , Mary is happy (2013) เพราะต้องพัฒนาบทแล้วต้องส่งเลย ยกให้เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามันยากเลย รู้สึกว่ามันคือ ‘ห้องแห่งกาลเวลา’ มองออกไปก็เห็นวิวสวยๆของทะเลอิตาลี และเรือกอโดร่า แต่เราออกไปไหนไม่ได้เลย แอบทรมานนิดๆ”
ภาพที่คิดถึงช่วงเวลาของชีวิต : ไทม์ไลน์ (ชื่อภาพ: 5.9MB)
“เป็นรูป ‘โมเม้นจากบนเวทีตอนขึ้นรับรางวัลแรก’
มันเป็นช่วงเวลาที่เราทำหนังเรื่องแรกเสร็จแล้วส่งไปที่ปูซาน แล้วปีนั้นมันดันชนะ ‘ที่หนึ่ง’ ตอนนั้นขณะที่ผมขึ้นไปบนเวทีเพื่อรับรางวัล มันเพียงไม่กี่วินาที ผมเลยขอทางเวทีถ่ายภาพที่ระลึกหลังพูดขอบคุณเสร็จ รู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ขอชีวิต เพียงแค่ก้าวขาขึ้นลงจากเวที”
ภาพที่คิดถึงสิ่งของ : พร๊อป (ชื่อภาพ: 10.7MB)
“เป็นรูป ‘โน๊ต’
เราถ่ายที่โฮสเทลแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน บนโน้ตธรรมดาๆอันนี้เขียนว่า “Alex, I left you, your memories at the front desk.” เราเห็นแล้วเราชอบเลยถ่ายเก็บไว้ ซึ่งพอกลับมาดูใหม่ ก็ค้นพบว่ามันคือ ‘ต้นทางที่เราทำอยู่ในชีวิตเราตอนนี้’ และเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง 36 (2012) ของผม”
Cr.
Photographer: Wasu Sukatocharoenkul
Writer: Maetavee Vatanapahu