Tuesday, May 21, 2024

Gucci นำเสนอบทที่สามของ Hortus Deliciarum คอลเลกชั่นเครื่องประดับชั้นสูง

เราได้ยินชื่อ Hortus Deliciarum เมื่ออเลสซานโดร มิเคเล ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของกุชชี่นำมาตั้งเป็นชื่อของคอลเลกชั่นไฮจิวเวลรี่ในปี 2019 และยังคงใช้ชื่อนั้นมาจนถึงคอลเลกชั่นที่สามซึ่งเปิดตัวในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา Hortus Deliciarum เป็นภาษาละติน หมายถึง Garden of Delights และยังเป็นชื่อของต้นฉบับเอกสารในยุคกลาง ซึ่งเขียนโดยแม่ชีเฮอร์ราดแห่งแลนด์สเบิร์ก และเป็นสารานุกรมฉบับแรกของโลก 

พูดได้ว่า Hortus Deliciarum เป็นเสมือนสารานุกรมของมิเคเล เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจที่เขานำมาผสมผสานเข้ากับจินตนาการและเรียงร้อยออกมาผ่านศิลปะการเล่าเรื่อง ดังเช่นคอลเลกชั่นที่สามซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Grand Tour ซึ่งเป็นขนบของการเดินทางในยุคนีโอคลาสสิกของชาวยุโรปผู้รากมากดีและปัญญาชนในวัยหนุ่มสาว เพื่อเปิดหูเปิดตาและศึกษาความรุ่งเรืองของยุคคลาสสิกในอดีต แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการเดินทางของผู้คนอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 18-19 

Hortus Deliciarum คอลเลกชั่นล่าสุดนี้แบ่งเป็น 5 ธีม นำเสนอออกมาเป็นผลงานที่โดดเด่นแตกต่างจากขนบ ผสมผสานแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ ในสมัยอดีตเข้ากับเส้นสายและแนวคิดต่างๆ ในยุคปัจจุบัน มิเคเลซึ่งเป็นนักสะสมได้ซึมซับความปรารถนาของนักเดินทางที่ต้องการเรียนรู้และศึกษาโลกที่เป็นรูปเป็นร่างต่อหน้าต่อตา และนำมาบันทึกไว้ใน Grand Tour ซึ่งเป็นการเดินทางส่วนตัวในจินตนาการ ผ่านความคิดฝันและบอกเล่าโดยตัวเขาเอง

เมื่อเข้ามาภายในสถานที่จัดงานชื่อ วิลล่า อัลบานี ซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยมีกฎว่าห้ามถ่ายภาพ ซึ่งแง่หนึ่งก็ทำให้นึกถึงการเดินทางในอดีต ทางทีมกุชชี่ได้เกริ่นให้ฟังว่า ในอดีตซึ่งยังไม่มีกล้องหรือโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ นอกจากจะใช้สายตาและสมองดื่มด่ำกับสิ่งที่ได้พบเห็น เหล่านักเดินทางที่มาเยือนกรุงโรมยังมักซื้อชิ้นงานตกแต่งด้วยศิลปะไมโครโมเสกเป็นภาพสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงโรมกลับไปเป็นที่ระลึก ซึ่งปัจจุบันชิ้นงานโมเสกนี้ยังคงพอหาได้จากร้านขายของเก่าหรือร้านจิวเวลรี่เก่าแก่ในกรุงโรม

และนั่นก็คือจุดเด่นของเครื่องประดับในธีม Roma ซึ่งอุทิศให้กับกรุงโรมในยุค Grand Tour และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของคอลเลกชั่นนี้ ชิ้นงานไมโครโมเสกจากยุคอดีต ซึ่งมีทั้งภาพโคลอสเซียม จัตุรัสซานปิเอโตรกับแนวเสาเบอร์นีนี วิหารแพนธีออนในศตวรรษที่ 19 จัตุรัสโรมัน วิหารเวสตา วิหารเฮอร์คิวลีสที่โครี น้ำตกที่ทิโวลี และพีระมิดแห่งเซสติอุส ถูกนำมาประดับเป็นเซ็นเตอร์พีซของชิ้นงาน ล้อมด้วยโมทีฟและอัญมณีสีสันต่างๆ แน่นอนว่าภาพอนุสรณ์สถานบนจี้ไมโครโมเสกซึ่งเป็นของสะสมของมิเคเล (ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยสถาบันคริสตีส์) ย่อมแตกต่างจากสถานที่จริงซึ่งเราพบเห็นในปัจจุบัน จะเรียกว่ามันคือภาพสแน็ปช็อตของอดีตก็คงได้

ถัดมาในธีม Kaleidoscope มิเคเลพาเราเดินทางต่อเพื่อมาสัมผัสความงามหลากหลายสีสันบนเส้นทางจากกรุงโรมไปยังอินเดียในยุคมหาราชา อิทธิพลที่หลากหลาย ทั้งศิลปะ และสถาปัตยกรรม รวมถึงธรรมชาติได้รับการผสมผสานไว้ในชิ้นงานต่างๆ อย่างเซ็ตจิวเวลรี่ประดับอัญมณีเฉดสีแดง ทั้งรูเบลไลต์ โทปาซ เบริล ทัวร์มาลีน โกเมน โดยเฉพาะบรรดาแหวนโซลิแตร์ทั้งหลาย

ตามด้วยธีมเครื่องประดับมุก ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีความผูกพันกับปกรณัมและสื่อถึงความเป็นผู้หญิง เป็นตัวแทนของเทพอะโฟรไดที เป็นอัญมณีที่ซีซาร์บรรณาการแด่คลีโอพัตรา และยังปรากฏอยู่ในภาพของบอตติเชลลี ซึ่งมิเคเลได้นำมาร้อยเรียงในแบบร่วมสมัย สอดประสานเข้ากับความงามของอัญมณีอื่นๆ ออกมาเป็นสร้อยเส้นยาว ตุ้มหู และแหวน โดยใช้ทั้งมุกขาวจากออสเตรเลีย มุกดำจากตาฮิติ และมุกสีแชมเปญจากอินโดนีเซีย กล่าวได้ว่าอัญมณีนี้เป็นจุดบรรจบของโลกตะวันออกและตะวันตก

จากนั้นเราก้าวเข้าสู่นิวเวิลด์ในยุค 1930s-1940s ซึ่งเป็นยุคของอาร์ตเดโค เส้นสายของตึกสูงระฟ้า เรขาคณิต ความอสมมาตร โซ่ที่ยืดหยุ่นได้ประดับด้วยอเมทิสต์ พลอยสีฟ้า เบริลสีเทาและน้ำเงินตัดกับเบาะ ซึ่งจำลองความงดงามออกมาผ่านตุ้มหูหรือจี้ตรงกลางที่ตั้งอยู่ในกรงของเพชรเจียระไนทรงบาแก็ตต์  

และปิดท้ายด้วยยุค 1970s ซึ่งเป็นยุคของป็อปคัลเจอร์ การแสดงตัวตน และความปรารถนาที่จะสำรวจโลกใหม่ เป็นดั่งบทสรุปการเดินทางโดยระลึกถึงจุดเริ่มต้น โดยนำความทรงจำมาอ้างอิง ต่อเติม และเปลี่ยนเครื่องประดับให้เป็นเครื่องรางที่ปกป้องความคิด วิสัยทัศน์และเรื่องราวต่างๆ หนึ่งในผลงานเด่นก็คือจี้มรกตทรงหกเหลี่ยมหนัก 172 กะรัต งดงามด้วยเฉดสีเขียวและ inclusion ซึ่งเปรียบดั่งอัตลักษณ์ของอัญมณี โอบล้อมด้วยกรงเล็บ ร้อยเข้ากับสายสร้อยโซ่ประดับเพชรบาแก็ตต์ ทีมงานบอกว่าหลังจากจัดแสดงผลงานชิ้นนี้ได้เพียงสองวันก็มีผู้ต้องการสร้อยเส้นนี้ไว้ในครอบครองแล้ว 

และหากไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ นั่นคือสร้อยคอโซ่เส้นยาวพร้อมจี้ประดับเพชรและหินสี ที่นำแรงบันดาลใจมาจากผ้าพันคอ ‘Savana’ ซึ่ง Vittorio Accornero De Testa ออกแบบให้กับกุชชี่ในปี 1969 ถือเป็นการปิดฉากบทสุดท้ายของการเดินทางอันยาวนานของคอลเลกชั่นที่สามของเครื่องประดับชั้นสูงของ Gucci ที่ชื่อว่า Hortus Deliciarum

Photographer: Per Florian Appelgren 

Stylist: Atinan Nitisunthonkul

Model: Isabelle H @ Her Management

Makeup: Claudia Malagasy @ W-MManagement 

Hair: Cosimo Bellomo @ W-MManagement 

Digital Images: RETUSH 

Moving Images: Natasha Mantovani @ W-MManagement 

Coordinator: Alessia Caliendo

Special Thanks: Palazzo Visconti di Modrone (Palazzo Visconti) Milano






Other Articles