Writer: Weerawut U.
เป็นเวลาเกือบหกปีที่ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ใช้ชีวิตเหมือนอยู่บนรถไฟเหาะบนเส้นทางการเมือง เขาเกือบขึ้นถึงจุดสูงสุดจากการชนะเลือกตั้งปี 2566 และได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทย แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้พลาดตำแหน่งผู้นำรัฐบาลไปอย่างน่าเสียดาย ตามมาด้วยมรสุมทางการเมืองเรื่องการยุบพรรคในเดือนสิงหาคม จนถูกตัดสิทธิ์ทางเมืองเป็นเวลาสิบปี
ในดีมีร้าย ในร้ายมีดี ชีวิตของทิมก็คงเป็นแบบนั้น หลังจากหกปีที่ผ่านมาภาพความเป็นนักการเมืองทาบทับแทบทั้งชีวิต มาวันนี้เป็นโอกาสดีที่เขากลับมาเป็นพ่อของลูก เป็นเพื่อนของเพื่อน และเป็นตัวของตัวเองที่มีความสนใจหลากหลาย มีความสุขกับการได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต
ลอฟฟีเซียลมีนัดคุยกับทิมในบ่ายวันหนึ่งหลังจากเขาหยุดพักหน้าที่นักการเมืองมาหมาดๆ และเพิ่งเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะวิทยากรพิเศษที่วิทยาลัยการปกครองเคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันที่เขาเคยศึกษา ทิมเล่าว่ามีอีกหลากหลายภารกิจที่อยากทำเมื่อกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง
“ตอนนี้ผมใช้เวลาระหว่างกรุงเทพฯ กับบอสตัน พอไม่ได้เล่นการเมืองก็ได้รับการติดต่อจากอาจารย์ที่นั่นให้ไปเป็นวิทยากรพิเศษ เพราะมีอาจารย์หลายท่านที่ติดตามผมอยู่ และจำได้ว่าเราเป็นแคนดิเดตนายกและชนะเลือกตั้ง ก็เป็นไปอย่างที่ตั้งใจเพราะผมอยากใช้ความรู้ความสามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนการเมือง อยากเอาประสบการณ์ทั้งที่เคยได้จากห้องเรียนและเอามาใช้ในการเมืองไทยจริงๆ ไปอัพเดตให้เขา ขณะเดียวกันผมก็อัพเดตตัวเองในหลายเรื่องเพราะเป็นสส. และเป็นนักการเมืองมา 5-6 ปี คุยแต่เรื่องวนไปวนมาอยู่ในสภา แต่โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ อย่างวงการศิลปะ วงการสร้างสรรค์ วงการเทคโนโลยี อย่างผมไปบอสตันมาสิบกว่าวัน รู้สึกว่ามันมีซีนใหม่ๆ มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ วงดนตรีใหม่ และศิลปะสร้างสรรค์ผสมผสานกันหลายสื่อมากขึ้น เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่การไปสอนเขาอย่างเดียว แต่ได้ไปซึมซับอะไรหลายๆ อย่างเข้ามาด้วย เหมือนเป็นบทใหม่ของตัวเอง”
เขาเล่าต่อว่าตอนนี้ได้กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง กลับมาเป็น ‘ทิมคนเดิม’ ที่สนใจดนตรี มีเวลาดูแลตัวเอง และได้เป็นพ่อของลูกในแบบที่ควรจะเป็น “ผมรู้สึกว่าเราเอาเปรียบลูกพอสมควร เพราะเอาเวลาที่เขาต้องการไปใช้กับเรื่องอื่นเสียเยอะ สิ่งสำคัญที่สุดของผมก็คือลูกกับงาน และงานที่เราทำมันไม่เหมือนงานอื่น ไม่มีเวลาเข้าออกเพราะชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนไม่มีวันหยุด พอมาถึงตอนนี้ สิ่งที่ดีคือผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำอีกด้าน ผมอยากเป็นพ่อที่มีอยู่จริง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสุดท้ายที่เรายังเป็นคนที่เขาต้องการมากๆ เพราะตอนนี้เขาอายุ 8 ขวบแล้ว พออายุสัก 10-13 ปี เขาอาจจะไปสนใจอย่างอื่น น่าเสียดายตรงที่ผมต้องบินไปบินมา ช่วงปิดเทอมคิดว่าจะเอาเขาไปบอสตันด้วย ให้เขาได้ไปเปิดประสบการณ์ ได้เจออะไรใหม่ๆ”
แล้ว ‘ทิมคนเดิม’ ในสายตาเพื่อนๆ เป็นอย่างไร “ผมไม่เคยถามนะ แต่เขาเคยบอกว่ามึงยังเป็นเหมือนเดิม ซึ่งในมุมมองของเขาก็คือไม่ได้เปลี่ยนไปจากตอนก่อนจะเป็นนักการเมือง ก่อนเป็นแคนดิเดตนายก หรือโดนตัดสิทธิ์ เป็นคนที่ยังพอนัดได้ มีเวลาให้กับเพื่อนฝูงอยู่บ้าง ถ้าในเรื่องความเป็น ‘ที่สุด’ ในกลุ่มก็คงจะเป็นยุ่งที่สุด เทบ่อยที่สุด ช่วงหลังมานี้ก็พยายามหาเวลา อย่างวันศุกร์เย็น บ้านผมอยู่สุขุมวิทข้างแจ๊ซบาร์ พอจะมีเวลาสองสามชั่วโมงก็ลงมาฟังดนตรีบ้าง แล้วก็เริ่มเล่นกีฬาด้วยกัน แต่วัยสี่สิบกว่าอย่างผม ทุกคนต่างมีครอบครัว เพื่อนๆ จะอยู่กับครอบครัวของเขา ส่วนเล่นกีฬาถ้ามาเป็นทีมใหญ่ๆ จะไม่ค่อยได้เกิดขึ้น กีฬาที่เล่นกันคนสองคนแบบตีสควอชก็มีบ้าง”
หากไม่นับหกปีที่ผ่านมา ทิม-พิธาคือนักธุรกิจและเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคม แต่ก่อนหน้านั้นเขาก็เหมือนเด็กทั่วไปที่เคยลองผิดลองถูก และมีหัวขบถตั้งแต่เด็กๆ แม้แต่ในสมุดพกตอนป.6 ยังมีข้อความจากคุณครูว่าเขาเป็นคนรับฟัง แต่มีความรั้นเงียบๆ และก็เป็นอย่างนั้นจนกระทั่งตอนโต “เมื่อไม่นานนี้ผมไปรับรางวัลศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ก็บอกว่า ‘ฉันแปลกใจนะว่าเธอได้รางวัลนี้ เพราะจำได้ว่าเธอพยายามจะใส่กางเกงเลกับรองเท้าแตะเข้าห้องสอบ’ แต่ผมก็เรียนหนังสือได้นะ แค่จะมีความขบถ และตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าผมไม่ใส่ยูนิฟอร์ม ผมจะได้คะแนนน้อยกว่าเดิมหรือเปล่า
“หรือถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ช่วงวัยรุ่นก็เกเรพอประมาณ มีทะเลาะเบาะแว้ง สูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นที่ค้นหาตัวเอง พอไปอยู่นิวซีแลนด์ก็ไม่มีสิ่งมอมเมา ซึ่งผมได้รอยสักบนร่างกายที่ขา แขน และหลัง ตั้งแต่ก่อนม.6 จากชนเผ่าเมารีที่นั่น ซึ่งผมว่ามันเบสิก อย่างอดีตพรรคก้าวไกลต้องเข้าไปทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ ตอนที่เราอยู่กับเขาแล้วเห็นเขาสักแบบนี้ ผมได้เห็นถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ว่าการมีความเท่าเทียมกันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในเมืองไทยกลายเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กัน คิดไปคิดมาย้อนหลังกลับไปมันก็มีหลายเรื่องที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเอามาใช้ได้”
‘ทิมคนเดิม’ ในที่นี้ยังหมายถึงคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมสมัยใหม่ ทั้งดนตรี แฟชั่น และภาพยนตร์ที่หล่อหลอมตัวเขา หากยังจำกันได้ในช่วงก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี ทิมปรากฏตัวในงานคอนเสิร์ตและงานเปิดตัวภาพยนตร์บ่อยครั้งจนถูกครหาว่าหิวแสง ทั้งที่จริงแล้วเขาสนใจสิ่งนี้มาก่อนหน้านั้น เขาเป็นแฟนหนังของผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จนมีโปสเตอร์พร้อมลายเซ็นเก็บไว้ เป็นแฟนเพลงของแก๊ป ทีโบน รวมทั้งวงใหม่ๆ อย่าง FREEHAND ที่เขาชื่นชอบจนเข้าไปขอถ่ายรูปด้วย และนิยามไว้ว่าได้ตายอย่างสงบศพสีชมพู
“จะมากจะน้อยวัฒนธรรมป็อปก็ช่วยให้เราผ่อนคลาย สิ่งที่มีอิทธิพลกับผมมากที่สุดคงจะเป็นดนตรี อย่างรุ่นผมก็ต้องฟังเพลงของริค วชิรปิลันธิ์, Desktop Error, Silly Fools, Metallica, Papa Roach ตอนนี้ผมชอบบอสซาโนวา เริ่มสนใจวัฒนธรรมของเพลงเหล่านี้ ช่วงนี้เจ็ตแล็กด้วย เมื่อวานตีสามยังหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นดนตรีอยู่เลย แต่ถ้าช่วงวัยรุ่นจะทั้งอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง รุ่นผมก็ต้องหนังอย่าง Snatch, Fight Club, Blissfully Yours, เรื่องตลก 69, สุดเสน่หา สมัยก่อนผมชอบไปดูหนังที่ House RCA บางทีทั้งโรงก็มีผมอยู่คนเดียว เวลาดูหนังเราต้องซึมซับอยู่กับมันสองสามชั่วโมง ผมเลยไม่ค่อยมีโอกาสไปดูในโรง ส่วนถ้าดูที่บ้านก็จะเป็นเรื่องที่อินหรือชอบจริงๆ ถึงจะดูจนจบ และนิสัยไม่ดีคือเลื่อนไปดูตอนจบ แล้วมันทำให้อรรถรสการดูหนังหายไป ยิ่งถ้าในแง่ที่มีเทคโนโลยี ความซาบซึ้งใจกับหนังก็หายไปเหมือนกัน
“ส่วนเรื่องแฟชั่นผมก็สนุกกับมัน ได้ลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ยุค Rave ต้องใส่สร้อยคออันใหญ่ๆ เวลาไปเที่ยวกลางคืน กางเกงขาบาน เสื้อ adidas แบบวง Korn แล้วก็ไปบ้าเสื้อกากเพชรตัวละสามสี่พัน เสื้อวงดนตรีมือสองจากจตุจักรก็สะสมไว้เยอะมาก จนมาถึงยุคของไทยดีไซเนอร์อย่าง 27Friday, Soda, Theatre, Issue, Greyhound ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะ คือซื้อน้อยแต่ซื้อชิ้นที่ชอบจริงๆ มีความมินิมัลมากขึ้น พอมาเป็นนักการเมืองก็จะพยายามสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีแบรนด์หน้าใหม่ๆ ที่เราเข้าไปอุดหนุน อย่าง Painkiller, Moradok, The Refinement เพราะของเขาดีจริง
“ผมคิดว่าเรื่องวัฒนธรรมถ้ามองในภาพใหญ่ คือสิ่งที่ไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับให้ออกมาเหมือนกัน ทั้งวัฒนธรรมในบ้าน วัฒนธรรมในองค์กร วัฒนธรรมในประเทศ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือในการกดปราบที่มีเอาไว้เพื่อให้คนเชื่อฟัง ผมกลับเห็นด้วยกับความหลากหลายทางความคิดในมุมที่วัฒนธรรมมีเอาไว้ให้คนลองผิดลองถูก จะได้มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่จุลภาคไปถึงมหภาค ตั้งแต่ปัจเจกไปจนถึงสังคม”
หากมองในมุมนี้ ทิมน่าจะเป็นนักการเมืองไทยเพียงไม่กี่คนที่มีความสนใจใกล้เคียงกับคนรุ่นใหม่ในยุคที่ความแตกต่างทางความคิดกำลังแยกคนต่างเจเนอเรชั่นออกจากกัน เขามีมุมมองกับเรื่องนี้อย่างไร
“ผมคิดว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องของอายุหรือเจเนอเรชั่น แต่เป็นเรื่องของการเคารพซึ่งกันและกันและทำงานด้วยกันได้ อย่างที่อเมริกาความสุดโต่งน่าจะยิ่งกว่าเมืองไทย ยิ่งเทคโนโลยีมีอัลกอริทึมแบ่งคนตามความสนใจ ยิ่งทำให้คนต่างวัย ต่างเชื้อชาติ ต่างความคิดยิ่งห่างกัน ในมหาวิทยาลัยที่ผมกำลังจะไปสอน มีโปสเตอร์ที่เขียนไว้ว่าความขัดแย้งสามารถบริหารได้ เป็นเหมือนกล้ามเนื้อ เป็นทักษะที่คุณต้องฝึก แต่ถ้าไปตั้งแง่เรื่องเจเนอเรชั่นก็เหมือนไปแปะป้ายเหมารวมไปแล้วโดยไม่ได้ดูเป็นคนๆ ไป คนรุ่นก่อนอาจจะมีประสบการณ์มากกว่า แต่เด็กรุ่นนี้อาจจะรู้เรื่องเทคโนโลยีมากกว่า ก็สามารถเอาสองอย่างมารวมกัน และพร้อมถกเถียงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับงานมากที่สุด ถึงจะไม่เห็นตรงกันแต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพิษต่อกัน
“ช่วงที่ผมกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงความคิดเห็นในห้องประชุม และทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเรามีคุณค่าในการทำงาน ซึ่งต้องรู้ก่อนว่าเขามีประสบการณ์แต่อาจไม่มีข้อมูล ช่วงนั้นอินเตอร์เน็ตเพิ่งเข้ามา เหมือน AI ที่เพิ่งเข้ามาตอนนี้ ดังนั้นเมื่อมีการประชุมอะไร ผมจะเตรียมตัวก่อน เพื่อให้รู้เรื่องที่จะประชุมกันให้มากที่สุด ผมไม่เคยแสดงตัวว่ารู้เรื่องนี้ทุกอย่าง ยังคงมีความถ่อมตัวแบบไทยๆ แต่เมื่อถึงช่องที่ผมจะพูดเมื่อไรก็ทำออกมาให้ดีที่สุด จากนั้นก็จะได้ความไว้ใจจากผู้ใหญ่ตามแบบคนไทย และทำให้มีคุณค่าที่จะอยู่บนโต๊ะประชุมได้ นี่คือการบริหารความคาดหวังของกันและกัน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญ ถ้าอยากทำงานกับคนที่ต่างกัน”
ในอีกสิบปีข้างหน้าน่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของเขา ทั้งในด้านหน้าที่การงานเพราะเป็นจุดสิ้นสุดการเว้นวรรคทางการเมือง รวมทั้งชีวิตส่วนตัวเมื่อลูกสาวคือน้องพิพิม ลิ้มเจริญรัตน์ ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอายุ 18 ปี เขามองชีวิตตัวเองในวันนั้นอย่างไร
“ผมคิดตลอดเวลาว่าสักวันหนึ่งก็ต้องมีชีวิตของผม มีกิจกรรม มีกลุ่มเพื่อน มีสิ่งที่ผมรักด้วยตัวเองที่ไม่ได้เอาความรู้สึกที่ว่าเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ต้องอยู่คนเดียวจนรู้สึกเคว้ง แล้วเอาความหวังไว้กับลูก ตอนนี้พยายามมองหาข้อดีในสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างครอบครัวไม่อยู่ด้วยกัน ผมต้องเอาเวลานั้นไปดูแลสุขภาพ ดูแลจิตใจ โดยไม่ได้เอาความสุขของผมไปฝากไว้กับใคร แต่ขอความช่วยเหลือกันได้ อย่างน้อยเราต้องเป็นตัวของตัวเอง และอยากให้ลูกเป็นตัวของเขาเองด้วย
“ถึงวันนั้นผมจะกลับมาเล่นการเมือง สิ่งที่ผมไม่ค่อยได้เล่าคือผมเป็นนักกีฬา ร่างกายแข็งแรง ช่วงที่เป็นนักการเมืองคือช่วงที่สุขภาพผมแย่ที่สุดเลย ทั้งสุขภาพใจ สุขภาพร่างกาย ถ้าให้คะแนนคงสัก 6 เต็ม 10 ผมจะใช้เวลาสิบปีต่อจากนี้ดูแลสุขภาพกาย ดูแลสมองให้กลับมาเป็นคนอายุ 53 ที่ยังดูหนุ่มกว่าตอนอายุ 43 และหลักแหลมกว่าเดิม เป็นนักการเมืองที่อัพเดตมากขึ้น”
Photographer: Manosit Boonnon
Fashion Editor: Watcharachai Nun-ngam
Makeup: Winai Jumpaprom
Makeup: Winai Jumpaprom
Hair: Thanon Songsil
Photographer Assistants: Supasit Sooksawat, Piyawat Jarunpong
Stylist Assistant: Panithan Prasongsanti
Producer: Angkana Wongwisetpaiboon
Special Thanks: SILQ Hotel & Residence, 41 Sukhumvit Soi 24; Tel: 0-2407-1000; IG: @silqhotelandresidence; FB: SILQ Hetel & Residence