ความร่วมมือครั้งที่ 4 ในรอบ 9 ปี ระหว่าง Richard Mille และ McLaren ตอกย้ำถึงความพยายามในการก้าวข้ามขีดจำกัด เน้นย้ำถึงประสิทธิภาพ วิศวกรรม และการผสานศิลปะของโลกนาฬิกากับนวัตกรรมยานยนต์เข้าไว้ด้วยกัน
นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา Richard Mille แบรนด์นาฬิกาชั้นสูงจากสวิสได้จับมือกับ McLaren แบรนด์รถยนต์และรถแข่งจากอังกฤษ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องนวัตกรรม วิศวกรรม และความงาม แต่ที่จริงแล้วตัวมิลล์เองชื่นชอบ Bruce McLaren มาตั้งแต่ปี 1966 ตอนที่เขาลงแข่ง Monaco Grand Prix ด้วยรถรุ่น M2B จิตวิญญาณของตำนานนักแข่งผู้นี้ได้สืบทอดต่อมายังบริษัทผลิตรถยนต์ซูเปอร์คาร์ McLaren Automative ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถซูเปอร์คาร์ไฮบริด McLaren P1TM รุ่นแรกของโลกในปี 2013
นับตั้งแต่เป็นพาร์ตเนอร์กัน ทาง Richard Mille ได้สร้างสรรค์นาฬิกาที่ทริบิวต์ให้กับซูเปอร์คาร์ MacLaren มาแล้วสามรุ่น จนมาถึงผลงานล่าสุด RM 65-01 Automatic Split-Seconds Chronograph McLaren W1 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากรถยนต์ McLaren W1 แน่นอนว่านาฬิการุ่นนี้ต้องสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งเหมือนรถยนต์ ซึ่งโดดเด่นทั้งในด้านของดีไซน์สุดล้ำ ประสิทธิภาพสูงสุด การส่งพลัง และการเป็นโร้ดคาร์ที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่บริษัทเคยผลิตมา
“โปรเจ็กต์นี้สะท้อนถึงปรัชญาของ Richard Mille ในการผลักดันขีดจำกัดทางเทคนิคเพื่อสร้างสรรค์นาฬิกาอันก้าวล้ำ ประกอบขึ้นจากการหารือและวิจัยพัฒนาล่าสุดด้วยแนวทางที่เน้นฟังก์ชั่น การใช้งาน และประสิทธิภาพ” Salvador Arbona ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ Richard Mille กล่าว
ในส่วนของรูปทรงตัวเรือนนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงที่มีมิติของตัวถังรถ W1 เมื่อมองจากมุมท็อป ตัวเรือนนี้มีขนาด 43.84 x 49.49 x 16.19 มม. ทีมสร้างสรรค์ของ Richard Mille ใช้เวลา 16 เดือนในการสร้างโปรโตไทป์ และอีก 9 เดือนในการพัฒนาเวอร์ชั่นที่สำเร็จ จนนำไปสู่ดีไซน์แบบขอบตัวเรือนสองชั้น โดยขอบตัวเรือน Carbon TPT® วางอยู่บนขอบหน้าปัดที่สองซึ่งผลิตจากไทเทเนียมเกรด 5 ขัดแบบซาตินและขัดเงา แสดงถึงความเชี่ยวชาญในวิศวกรรมขั้นสูง ส่วนโค้งเผยให้เห็นสายตัวเรือน Carbon TPT® ซึ่งเพิ่มความลึกและเน้นรูปทรงของนาฬิกา ส่วนขอบตัวเรือนด้านบน จุดที่บางที่สุดมีความบางเพียง 5/10 มม. ซึ่งเทียบเท่ากระดาษโพสต์อิตรวมกัน 5 แผ่น
ในส่วนของเม็ดมะยมนำแรงบันดาลใจมาจากเพลา ประดับด้วยโลโก้ Speedmark ของ McLaren ส่วนปุ่มกดจับเวลา ปุ่มกดสำหรับไขลาน ไปจนถึงหน้าปัดดีไซน์แบบสเกเลตัน ได้นำแรงบันดาลใจมาจากขอบล้อ เช่นเดียวกับสายรับเบอร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสปอยเลอร์รถยนต์ และสีสันต่างๆ ที่เลือกมาใช้ โดยเฉพาะสี papaya ornage ซึ่งเป็นสีของ McLaren ก็ถูกนำมาใช้บนหน้าปัดย่อยจับเวลา 12 ชั่วโมงและ 30 นาที และสีเหลืองบนหน้าปัดเวลา 60 วินาที
Richard Mille เลือกใช้ RMAC4 กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟแบบ split-seconds ซึ่งเทียบได้กับเครื่องยนต์กำลังแรงสูง ทำงานด้วยความถี่ 5 เฮิร์ตซ์ ที่แรงสั่นสะเทือน 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง ทำให้กลไกนี้สามารถจับเวลาได้อย่างละเอียดถึง 1/10 วินาที อีกทั้งคลัตช์แนวตั้งและคอลัมน์วีลยังทำให้กดจับเวลาได้อย่างแม่นยำและเรียบลื่น
นอกจากนี้ยังมีระบบพิเศษ ‘rapid winding’ ทำให้ขึ้นลานและเก็บพลังงานสำรอง 60 ชั่วโมงได้เร็วเพียงแค่กดปุ่มพิเศษที่ผลิตจาก Quartz TPT® สีส้ม และเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน นอกจากความแกร่งของกลไกที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 480 ชิ้นแล้ว ยังติดตั้งโรเตอร์สำหรับขึ้นลานซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงให้เหมาะกับการใช้งานได้ โดยถือเป็นจุดเด่นของแบรนด์
แม้จะเป็นผลงานที่ซับซ้อนและท้าทายในการผลิตแค่ไหน แต่นาฬิกา RM 65-01 McLaren W1 ก็ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย เพียงแค่กดปุ่ม funbction selector ผู้ใช้สามารถเลือกโหมด winding (W) การตั้งเวลา hand setting (H) และ Date (D) ได้ โดยแสดงอยู่ที่ช่อง ณ ตำแหน่ง 4-5 นาฬิกา
RM 65-01 Automatic Split-Seconds Chronograph McLaren W1 คือการผสมผสานโลกนาฬิกาและยานยนต์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว…ซึ่งไม่ใช่เพื่อทำลายสถิติที่เคยมีมา แต่เพื่อแสวงหาขอบฟ้าใหม่
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
The Famous Project โปรเจ็กต์ทะยานฝันล่องเรือรอบโลกโดยนักกีฬาหญิงล้วน