Tuesday, December 10, 2024

ความฝัน ความสุข ความเชื่อ และความลับของนุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ

คงไม่ต้องยกนิ้วขึ้นมานับหากจะขานชื่อผู้กำกับภาพยนตร์มากความสามารถที่เปิดเผยเพศสภาพของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา และถ้าจะล้อมวงให้แคบเข้าไปอีกว่า วนเวียนทำแต่หนังที่สะท้อนความหลากหลายทางเพศนับตั้งแต่เดย์วัน ด้วยความศรัทธาโดยไม่โลเลไปแนวอื่น เรากำลังพูดถึง ‘นุชี่’ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับและนักเขียนบท เจ้าแม่ผู้ผลิตหนังดาร์กออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ด้วยลายเซ็นคมกริบ จนทำให้เหล่านักแสดงคว้ารางวัลกันเป็นกอบเป็นกำ รวมถึงตัวเธอเองด้วย อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่องอนธการที่คว้า 8 รางวัลในประเทศ และมะลิลาที่คว้า 9 รางวัลจากทั้งในและต่างประเทศ

เหตุผลในการทำหนังและซีรีส์ที่สะท้อนสังคม LGBTQ+ คืออะไร รวมทั้งกลุ่มคนดูส่วนใหญ่เป็นใคร

“เป็นเหตุผลซิมเพิลเลยค่ะ ในแง่ที่ว่าพอเรามีโอกาสได้มาทำงานในวงการบันเทิง เราก็เล่าเรื่องราวของเรา เหมือนเป็นเสียงของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะว่าเราเข้าใจตัวละครซึ่งเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศในช่วงเวลานั้นๆ อย่างเช่น อนธการ จะมีตัวละครที่เป็นเกย์ เพราะตอนนั้นเพศสภาพเราเป็นเกย์ เราก็จะเข้าใจตัวละครผู้ชายที่เป็นเกย์ เรายังไม่ค่อยเข้าใจตัวละครที่เป็นผู้หญิง หรือความรักระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย แต่เรามีความมั่นใจว่าผู้ชาย-ผู้ชายจะเป็นแบบนั้น เรื่อง มะลิลา ก็เหมือนกัน มีตัวละครเป็นชายรักชาย จนมาถึง Not Me เขาไม่ใช่ผม เราเริ่มเป็นกะเทยแล้ว ก็อยากเล่าเรื่องที่เป็นกะเทย แต่อาจจะสร้างได้ยากกว่าเรื่องชายรักชาย เพราะในยุคหลังมานี้เขานิยมแนว BL เพราะฉะนั้นมันเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งว่าการจะเพิ่มความหลากหลายในอุตสาหกรรมบันเทิงหรืออาชีพต่างๆ เราต้องส่งเสียงหรือเล่าเรื่องราวที่มันแตกต่างออกมาได้

“ในฐานะที่เป็นคนทำหนังอิสระ เราจะโฟกัสเนื้องานก่อนเป็นหลัก การคำนึงถึงการตลาดหรือกลุ่มผู้ชมต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องรอง เท่าที่ผลงานเราได้เผยแพร่ออกไปจะมีทั้งกลุ่มคนดูที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนที่เป็นผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งเขาอาจมองเห็นคุณค่าในตัวงาน แล้วมาชมแบบไม่ได้คิดเรื่องเพศหรืออะไร หนังของตัวนุชี่เอง เราแค่เล่าถึงตัวละคร LGBT ในฐานะที่เข้าใจตัวละครนั้น แต่ว่าประเด็นต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น อนธการพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว ก็จะมีกลุ่มคนที่สนใจหนังอาร์ตเฮาส์ทั้งผู้หญิงผู้ชาย แล้วก็มีกลุ่มคนที่ชอบดูหนังผี เพราะเรื่องนี้มีความเป็นหนังผีอยู่ด้วย มะลิลาก็ได้กลุ่มคนที่เป็นเกย์ หรือกลุ่มที่ชอบเรื่องราวความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนที่สนใจเรื่องศาสนา พุทธปรัชญาต่างๆ ก็จะมีพระที่เป็นหมู่คณะมาชม เพราะมีการเล่าเรื่องของการบวชพระ การปฏิบัติธรรมของพระป่าซึ่งปกติไม่ค่อยได้เห็นในหนังเรื่องอื่น อย่าง Not Me เขาไม่ใช่ผม พอเป็นหนัง BL กลุ่มคนอาจจะมีทั้ง LGBTQ+ และสายวาย ในเรื่องมีประเด็นเรื่องสังคมการเมืองเยอะมาก กลุ่มคนที่เป็นแอ็กติวิสต์ หรือขับเคลื่อนประเด็นนี้ก็มาดู

“เราคิดว่ามันเป็นงาน อย่างที่บอกว่าเราเป็นผู้กำกับหนังที่มาแนวอิสระ เพราะฉะนั้นเราต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองมากๆ การที่เราก็ไม่ได้ชอบเรื่องราวแบบใสมากอยู่แล้ว เราชอบสิ่งที่ทั้งสวยงามและสิ่งที่น่าเกลียด เราชอบความรักแล้วก็ชอบสื่อสารเรื่องความตาย เพราะฉะนั้นมันจะมาคู่กัน เป็นเรื่องของรสนิยมความชอบ หรือสิ่งที่มันประกอบเป็นตัวตนเราขึ้นมา หนังจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวคนทำ มันต้องทำให้คนดูดูแล้วรู้ว่าหนังเรื่องนี้คือผู้กำกับคนไหนทำ เราต้องหาที่ยืนที่เด่นชัดในวงการอุตสาหกรรมให้ได้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง เราชอบแบบไหนก็ทำอย่างนั้น”

ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ อะไรที่คิดว่าเป็นการลดทอนหรือด้อยค่าแบบรับไม่ได้

“ช่วงที่เป็นเด็กอาจจะมีนะ ตอนนี้ไม่ค่อยมี อย่างที่บางคนบอกว่าไม่ควรจะเอาตัวละคร LGBT มานำเสนอในเชิงล้อเลียนขบขันอย่างเดียว ส่วนหนึ่งเราเห็นด้วยว่าไม่ควร แต่พอทำงานมาเยอะๆ แล้วมองย้อนกลับไป มันเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอนะ การที่จะไฟต์ให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่อยู่บนทีวีหรือจอภาพยนตร์ในชั้นต้นเป็นเรื่องยาก เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในกระแสหลัก ไม่ได้เป็นสิ่งที่นายทุนเชื่อว่าคนอยากดู หรือคนดูเองอยากจะดูไหม ทีนี้ช่วงต้นอาจจะมีคนทำให้มันเกิดขึ้นมาในบทบาทตลก ในที่สุดแล้วก็มีพื้นที่สำหรับคนเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสื่อ ทำให้เกิดการพูดถึง

“แล้วในประเทศเรามีคอมมิวนิตี้ที่เข้มแข็ง สามารถส่งเสียงไปให้ผู้ผลิตได้ว่าฉันไม่ชอบที่คุณทำแบบนี้ คุณนำเสนอฉันในแง่มุมอื่นบ้างสิ ฉันไม่ได้มีแง่มุมตลกอย่างเดียว จึงเกิดการพัฒนาต่อมา ในส่วนของคนทำก็อาจทำบทตลกได้ แต่ว่าไม่ตลกแบบเหยียดหยาม ก็เริ่มมีบทดราม่าลึกซึ้งขึ้น มีความหลากหลายขึ้น ตอนแรกอาจจะมีแต่กะเทยอย่างเดียว ต่อมาเริ่มมีเกย์ มีแนวคิดที่เป็นนอน-ไบนารีเข้ามา ซึ่งมันต้องมีการสร้างงานแล้วออกสู่สาธารณชน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคอมมิวนิตี้ มีการพัฒนางานย้อนกลับไปกลับมาเกิดขึ้น

“อย่างซีรีส์วายช่วงแรกก็มีปัญหาเยอะมาก แม้กระทั่งว่าไม่ต้องการให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศมาแคสต์ ต้องเป็นชายแท้มาแคสต์เท่านั้นเพราะเชื่อว่าจะขายได้มากกว่า พอมีประเด็นนี้เกิดขึ้นก็มีเสียงจากคอมมิวนิตี้ว่าทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง เหล่านี้เป็นการพัฒนา ต่อไปเราอาจจะเห็นนักแสดงที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามารับบทในซีรีส์วายมากขึ้น เมื่อเขารู้สึกว่า comfortable นักแสดงบางคนก็จะ come out ว่าเป็นเกย์หรืออะไรก็แล้วแต่

“เพราะฉะนั้นถ้ามองย้อนกลับไป เราก็ไม่ได้มีอะไร หรืออาจจะมีแหละ แต่ว่าไม่ได้วี้ดกรี๊ดอะไรแล้วไง ถ้าเป็นฟีลด์ของสื่อนะ ตอนนี้เราจะมองว่ามันวิวัฒนาการถึงขั้นไหนแล้ว และเราจะแก้ยังไงเพื่อให้ดีขึ้น แต่โอเคคนที่เกรี้ยวกราดก็ถูก เพราะมันจำเป็นต้องมีทั้งคนที่เกรี้ยวกราดและคนที่รอมชอม ในการทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้นั้นอาจจะต้องมีทั้งสองทาง อย่างเราจะออกแนวใจเย็นแบบค่อยเป็นค่อยไป”

ถ้าอย่างนั้นธงสูงสุดของคุณคืออะไร

“ถ้าเป็นธงในแง่ของการพัฒนาเรื่อง LGBT เราเชื่ออย่างที่เราเป็นมาตลอด เพราะคิดว่าวิธีที่จะทำให้คอนเทนต์ซีรีส์ หรือภาพยนตร์มันมีเสียงที่แตกต่าง เล่าตัวละครที่มีความแตกต่างหลากหลาย วิธีที่ดีที่สุดก็คือว่าเราต้องทำให้มีบุคลากรที่มีเพศหลากหลายเข้ามาในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ให้มากขึ้น อยู่ในตำแหน่งที่สามารถกำหนดทิศทางหลักๆ ของตัวงานได้ เช่น อาจจะต้องมีผู้กำกับที่เป็นกะเทย เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์วูแมนมากขึ้น หรืออาจจะต้องมีคนเขียนบทที่เป็น LGBTQ+ มากขึ้น และนักแสดงจะต้องมากขึ้น ตอนนี้เราอาจจะหานักแสดงกะเทยได้บ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะ นักแสดงที่เป็นทรานส์แมนยังมีน้อยมาก หรือว่าคนที่เปิดเผยว่าเป็นเลสเบี้ยนมีตัวเลือกที่หลากหลายพอหรือยัง หรือตำแหน่งอื่น เช่น โปรดิวเซอร์ ผู้อำนวยการสร้าง หรือนายทุน มีพอหรือยัง หรือคนที่เป็นช่างภาพ คนตัดต่อ ก็สามารถส่งเสียงของเขาออกมาได้

“เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของเราในฐานะที่ตอนนี้นอกจากเป็นฟิล์มเมกเกอร์ ยังเป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยด้วย เราคิดว่าต้องสนับสนุนความหลากหลายตรงนี้ให้มันเกิดขึ้น ทุกเพศเลยนะ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQ+ ให้มีโอกาสเข้ามาทำงาน แล้วในที่สุดเขาก็จะวอยส์เสียงของเขาออกมาแบบธรรมชาติพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาคอนเทนต์ เช่นตอนนี้ซีรีส์วายได้รับความนิยมมาก แน่นอนว่าเราต้องผลักดันกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเข้ามา ในการที่จะทำความเข้าใจหรือนำเสนอเรื่องราวของคนเหล่านี้ให้มีชีวิตหรือความเป็นมนุษย์ได้อย่างถูกต้อง หรือว่ามีการวอยส์เสียงที่เรากำลังขับเคลื่อนต่อสู้เรื่องประเด็นสิทธิเสรีภาพลงไปในซีรีส์ พอสังคมเริ่มมีความเข้าใจ เริ่มมีความคุ้นชิน เริ่มรู้จักคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มันจะค่อยๆ เปิดกว้าง เราว่าส่วนหนึ่งนอกจากสื่อแล้วก็ต้องเวิร์กด้านกฎหมายด้วย โอเคในวงการสื่อเราถนัด เราจะช่วยเป็นแรงตรงนี้”

บูลลี่ประสบการณ์ตรงที่เคยเจอกับตัวเอง

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีการ abuse และ discrimination อยู่จริง ถ้าเราไปทำงานอาชีพอื่นๆ อาจจะเจอซึ่งๆ หน้าก็ได้ ในวงการบันเทิงถือว่าเป็นอาชีพที่มีการเหยียดเพศน้อยมาก แม้แต่นุชี่เองเวลาอยู่ในวงการบันเทิงก็ไม่ใช่ว่าไม่มี เราเองก็เคยเจอ และเป็นเรื่องงานด้วย หรือในชีวิตประจำวันต่างๆ ถามว่ามีคนมาบูลลี่ไหม มันก็มี เราว่าการรวมตัวกันเป็นคอมมิวนิตี้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม มันก็ชอบธรรม หรือการมีกฎหมายเพื่อปกป้องคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมก็ควรที่จะมีอยู่

“เวลาเราไปอธิบายเรื่องการทำหนังเกี่ยวกับ LGBT ในไทย ต่างชาติจะมองว่าสังคมเราเปิดกว้างมาก คุณสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ คุณมีอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ฉันอิจฉาคุณจังเลย แต่เราไม่ได้มีกฎหมายมาปกป้องชัดเจนเท่าเขา ถ้ามองในแง่ดีอาจเป็นเพราะว่าสังคมเราเปิดกว้างประมาณหนึ่ง เลยไม่ได้ให้ความสำคัญด้านกฎหมายที่จะมาโพรเท็กต์ บางประเทศที่มีความคอนเซอร์เวทีฟมากๆ ถึงขั้นว่าคนที่เป็น LGBTQ+ ถูกไล่ฆ่า โดนรุมทำร้าย หรือลิดรอนสิทธิต่างๆ เขาเลยต้องมีกฎหมายชัดเจน

“จำได้ว่าไปต่างประเทศก็โดนบูลลี่เยอะเหมือนกัน แต่ในไทยเดินตามถนน น้อยมากที่จะมีคนเข้ามาบูลลี่ เลยคิดว่าต่อให้ประเทศนั้นมีกฎหมายที่แข็งแรง ก็ยังมีข้อดีข้อเสีย คือการที่มีกฎหมายแข็งแรง เวลาเราไปเรียกร้องสิทธิ หรือทำอะไรที่โพรเท็กต์สิทธิของเรา มันคงดีกว่าที่ไทยแหละ เพราะในไทยอาจจะเหมือนโดนผีหลอก อันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ได้ ทำไมฉันไม่ถูกรับเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันจะมีความวุ่นวายเวิ่นเว้อมากเลย แต่ว่าการดำเนินชีวิตประจำวันในไทยอาจจะสบายกว่า มันมีคอมมิวนิตี้ อยากจะแต่งหญิงก็มีกางเกงในแต๊บ มีฮอร์โมนให้ทา มีผลิตภัณฑ์พร้อม มีรุ่นพี่คอยแนะนำ ข้อมูลไม่ได้มืดบอด แต่ถ้าสมมติเราเป็นเด็กต่างประเทศ ฉันเกิดเป็นกะเทย ฉันจะแต๊บยังไง มันคงมีความลำบากแตกต่างกันไป

“ทุกวันนี้จะแคร์ก็ต่อเมื่อมันสำคัญกับเรื่องอาชีพการงานและชีวิตประจำวัน ไม่แคร์ก็ลำบากเหมือนกันนะ อย่างเช่นเราไปสนามบิน เราเบื้อเบื่อเวลา identity ไม่ชัดเจน มันจะมีความลำบากมากเลย ถ้าไปต่างประเทศก็ต้องให้มันชัดไปเลย ไม่งั้นจะเกิดความวุ่นวาย มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนค่ะ อย่างเช่นเคยแต่งอย่างที่เป็นตัวเรานี่แหละ เจ้าหน้าที่บอกว่าให้ไปช่องผู้หญิง พอต่อแถวเข้าไปปุ๊บ เจ้าหน้าที่จะตรวจอาวุธก็ดูพาสปอร์ต อ้าว ทำไมเป็นนาย ฉันแตะคุณไม่ได้เพราะเป็นมุสลิม เราต้องย้ายกลับไป มันมีความปวดกบาล คงเลี่ยงสิ่งที่คนมองไม่ได้หรอก ในที่สุดคนก็ตัดสินอะไรบางอย่างอยู่แล้ว

“เวลาไปเทศกาลภาพยนตร์ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือต้องให้เขาส่งบัตรเชิญมา แล้วพิมพ์เป็นจดหมายเพื่อจะยื่นให้ตม. เพราะว่าไม่งั้นเขาจะคิดว่าเราไปทำงานขายตัว เราเป็นกะเทยไทย มันเกิดการตีตราเราไปแล้ว ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไรถ้าเขาจะมองว่าเราเป็น sex worker สำหรับเราก็มองว่าฉันสวย ฉันขายได้ แต่มันจะเกิดปัญหาว่าเขาไม่ให้เราเข้าประเทศหรือเปล่า มันไม่แฟร์เลย เราก็ต้องพกบัตรเชิญไป หรือถ้าบอกว่าฉันเป็นผู้กำกับนะ เขาอาจจะไม่เชื่อหรือเปล่า เพราะไม่ค่อยเจอผู้กำกับที่เป็นกะเทย เราถึงบอกว่าจริงๆ แล้วเพศมันก็เป็นสิ่งที่ตัวเรา comfortable แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่สังคมมองเข้ามาด้วยว่าเขามองเราอย่างไร ณ เวลานี้มันไม่มีอะไรสมบูรณ์ เราก็แค่หาวิธีที่จะเอาตัวรอดไปให้ได้”

It’s Me

ความฝัน: วัยเด็กอยากเป็นสถาปนิก พอเริ่มไปฝึกวาดรูปตอนจะสมัครสอบเข้า เรารู้สึกว่าไม่ได้ถนัดมาก เลยมาเรียนนิเทศ ตอนเอ็นทรานซ์ไม่คิดว่าจะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แค่คลำๆ ว่าน่าจะเป็นทางนี้แหละ เรารู้สึกว่าไม่ได้ชอบวิศวะ หมอก็ไม่น่าใช่ สถาปัตย์ก็ก้ำๆ กึ่งๆ เราคิดว่านิเทศเป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต สามารถที่จะเรียนไปในทางกลางๆ ได้ พอเข้ามาก็ลองทำหนัง เรื่องแรกตัวละครก็เล่นเอง เป็นเกย์ คนก็พูดถึง รู้สึกว่าตัวเองทำสิ่งนี้ได้ดีก็ทำต่อๆ มา

ความสุข: เรามันอาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มั้ง อย่างช่วงหนึ่งเราอาจจะเชื่อว่าความสุขคือความสงบ พอมาอีกช่วงหนึ่งความสุขมันอาจจะเป็นเรื่องของการประสบความสำเร็จชีวิตหรือเปล่า หรือตอนนี้อาจจะเป็นความสุขในแง่ที่ว่าเราอาจจะคอนทริบิวต์บางอย่างให้กับวงการหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นความสุขของการสะสมสิ่งเล็กๆ ที่เราชอบ อย่างเช่นน้ำหอม เราว่าความสุขในแต่ละช่วงเวลามันอาจแปรเปลี่ยนไม่คงที่

ความเชื่อ: เรามีความเชื่อเรื่องการลื่นไหลทางเพศ ตอนเด็กๆ จำได้ว่าเราเคยชอบผู้หญิง เคยเห็นหนังสือโป๊ผู้หญิงก็มีอารมณ์นะ แต่ขณะเดียวกันก็มองผู้ชายแล้วชอบเหมือนกัน พอโตมาช่วงวัยรุ่นมันก็ยังมีความเป็นเกย์อยู่ โอเคเราอาจจะมีความออกสาว แล้วก็ค่อยๆ มาชัดเจน เริ่มกลายเป็นกะเทยในช่วงท้ายๆ สามสิบขึ้นไป มุมมองทางด้านเพศของเรามันเปลี่ยนนะ เราเชื่อเรื่อง gender fluid เพราะเราเองก็มีประสบการณ์อย่างนั้น แต่ก็ไม่ควรจะไปยึดติดทางเพศมาก สำหรับเราเรื่องเพศบางทีมันอาจจะไม่ได้สำคัญที่สุด อย่างตัวเราเอง แล้วก็เพื่อนหลายคนที่เป็นกะเทย เราไม่ได้เกิดมาแล้วคิดว่าจะเป็นกะเทย นุชี่มีเพื่อนที่เป็น sex worker เยอะ สุดท้ายแล้วเป็นกะเทยเพราะเรื่องงาน ‘ฉันต้องไปเต้นโชว์ที่ต่างประเทศ เดี๋ยวฉันทำนมเลย เพราะฉันต้องไปทำงาน’ บางทีมันก็ just like that น่ะ ข้ามจากความเป็นผู้ชาย มาเป็นเกย์ แล้วกลายเป็นกะเทยเพราะเหตุนั้น แต่มันอยู่ที่ว่าตัวเอง comfortable กับการทำสิ่งเหล่านี้ไหม

ความลับ: มีคนบอกนุชี่ว่าเธอน่าจะเสริมนมนะ มันอาจจะทำให้ดูสวย อะไรก็ง่ายขึ้นหรือเปล่า คิดว่าเดี๋ยวดูก่อน เพราะไม่ได้รีบขนาดนั้น เลยคิดว่าเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้ แล้วมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงด้วย สำหรับบางคนอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่างเราคือเป็นเรื่องงาน การที่เราเปลี่ยนจากเกย์มาเป็นกะเทยเพราะโปรดิวเซอร์ทักมาว่า ทำไมเธอไม่เป็นกะเทยไปเลยจะได้ให้มันชัดๆ เพราะว่าเธอดูเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว เราก็จริงเหรอ ฉันไม่รู้ เอ้า! ลองก็ได้ ตอนนั้นไว้ผมยาวแล้ว ก็แค่เริ่มแต่งหน้า ใส่ส้นสูง ใส่รองเท้าผู้หญิง ครั้งหน้าก็ไม่รู้ อาจจะอยากเปลี่ยนอีกก็ได้นะ

Photographer: Pathomporn Phueakphud

Other Articles