Tuesday, May 30, 2023

Rolex สนับสนุนโครงการ Mission Blue เพื่อความสมบูรณ์และอนาคตของมหาสมุทร

สำหรับคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา หมู่เกาะกาลาปากอสยังคงเป็นดินแดนปริศนา แต่สำหรับ ซิลเวีย เอิร์ล  (Sylvia Earle) นักสมุทรศาสตร์ผู้ออกสำรวจบริเวณนี้มาเป็นเวลานาน เธอบอกว่า หากปกป้องหมู่เกาะกาลาปากอสไม่ได้ แล้วคุณจะสามารถปกป้องส่วนใดในโลกใบนี้ได้อย่างไร”   

ครั้งแรกที่เอิร์ลเดินทางมาเยือนหมู่เกาะแห่งนี้เมื่อปี 1966 เธอบอกว่าที่นี่เป็น “สถานที่ที่มีฉลามและปลาชนิดต่างๆ มากที่สุด” เท่าที่เธอเคยไปเยือน ระบบนิเวศของที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์และไม่เหมือนที่ใด ด้วยเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์นานาชนิดที่ไม่สามารถพบได้จากที่อื่นใดบนโลกใบนี้ แต่สิ่งที่ทำให้หมู่เกาะแห่งนี้มีความพิเศษก็สามารถทำให้สถานที่ดังกล่าวเปราะบางได้เช่นกัน เพราะยิ่งมีคนค้นพบเกาะแห่งนี้มากขึ้นเท่าใด สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นก็สามารถรุกรานเข้ามาได้ และทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ตกอยู่ในอันตรายได้มากขึ้นเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ซิลเวีย เอิร์ล ได้ก่อตั้ง Mission Blue ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อการอนุรักษ์มหาสมุทร เธอบอกว่า “ฉันหวังว่าคุณจะใช้ทุกวิถีทางที่มี ไม่ว่าจะภาพยนตร์ เว็บ การออกสำรวจ เรือดำน้ำใหม่ แคมเปญ เพื่อหาแรงสนับสนุนจากสาธารณชนในการสร้างเครือข่ายพื้นที่ทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์ หรือ Hope Spot ให้มากเพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์มหาสมุทร หัวใจสีน้ำเงินของโลกเรา” 

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Rolex แบรนด์นาฬิการะดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติภารกิจของนักสำรวจ รวมไปถึงการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและคิดค้นวิธีแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมมานานนับศตวรรษ ซึ่งนับวันก็ยิ่งจริงจังและแข็งขันมากขึ้น ดังเช่นการตั้งรางวัล Rolex Awards for Enterprise การก่อตั้งโครงการ Perpetual Planet ไปจนถึงการสนับสนุนองค์กรและโครงการริเริ่มที่ส่งเสริมนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ ผ่านทุนการศึกษาต่างๆ 

นับตั้งแต่ปี 2010 หมู่เกาะกาลาปากอสได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ Hope Spot แห่งแรกๆ ของโครงการ Mission Blue เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามหาสุทรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์นั้นสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพอันอุดมได้อย่างไร จากการสำรวจโดยทีมของเอิร์ลยังทำให้เห็นว่าเราต้องเร่งมือช่วยกันปกปักพื้นที่ทางทะเลแห่งนี้มากขึ้นเพียงใด แม้ว่าประเทศเอกวาดอร์จะตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอสขึ้นเมื่อปี 1998 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของเกาะถึง 133,000 ตารางกิโลเมตรแล้วก็ตาม แต่จำเป็นต้องมีการดำเนินการที่มากกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และชาวประมง จะได้ใช้หมู่เกาะกาลาปากอสแห่งนี้อย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกหลายปี 

เป็นเวลา 25 ปีหลังการก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส เอิร์ลซึ่งเป็น Rolex Testimonee มาตั้งแต่ปี 1982 ได้ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบัน ดำเนินการสำรวจทั่วพื้นที่ Hope Spot แห่งนี้เป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อประเมินระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อย่างครอบคลุม และด้วยการใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย อาทิ ดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อม (eDNA) และระบบวิดีโอใต้น้ำ ทีมสำรวจได้ค้นพบข้อมูลประชากรสำคัญของสัตว์ที่ไม่ค่อยมีผู้ศึกษาวิจัยมากนัก เช่น ม้าน้ำและกุ้งก้ามกรามเฉพาะถิ่น “ลำดับดีเอ็นเอที่เราพบส่วนใหญ่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลสาธารณะใดๆ นั่นหมายความว่ามีหลายสิ่งจากกาลาปากอสที่ยังไม่ได้รับการจัดลำดับ หรือมีสิ่งใหม่ที่วิทยาศาสตร์เรายังไม่รู้” ไดอานา พาซมิโน (Diana Pazmino) จากศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปากอส กล่าว 

เช่นเดียวกับเมื่อปีที่ผ่านมา เอิร์ล และซาโลเม บักลาส (Salome Buglass) จากมูลนิธิ Charles Darwin ได้ค้นพบสาหร่ายเคลป์สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำ และในระหว่างลงเรือดำน้ำ DeepSee เพื่อขยายขอบเขตการสำรวจความลึกของมหาสมุทร พวกเขายังได้พบกับภาพของป่าเคลป์เขียวชอุ่มภายใต้ผืนน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อการสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ดังกล่าว “บางทีเราอาจพบชิ้นส่วนของปริศนาที่อธิบายว่า ทำไมความหลากหลายทางชีวภาพและชีวมวลจึงอุดมสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ในหมู่เกาะกาลาปากอส” บักลาสกล่าว 

ทีมสำรวจของเอิร์ลได้ศึกษาวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานข้ามมหาสมุทรของสัตว์ทะเลนานาชนิดด้วยวิธีการตรวจจับตำแหน่งที่บันทึกการอพยพของฉลามจากสถานที่ที่ไกลออกไปถึงอ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งคอสตาริกา อีกทั้งยังได้สำรวจแหล่งที่อยู่ของเต่า ทำแผนที่พื้นที่หาอาหารของฝูงนกเพนกวิน รวมถึงวัดระดับของไมโครพลาสติก ซึ่งการทำงานภาคสนามดังกล่าวจะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถ “คิดให้เหมือนมหาสมุทร” อย่างที่เอิร์ลเคยกล่าวไว้ พร้อมตระหนักถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศอย่างไม่มีขอบเขตสำหรับสัตว์ทะเล

เมื่อปี 2021 ประเทศเอกวาดอร์ ปานามา โคลอมเบีย และคอสตาริกา ได้ประกาศการริเริ่มโครงการแนวระเบียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Marine Corridor) โดยการเข้าร่วมและเพิ่มความคุ้มครองน่านน้ำ เพื่อสร้าง ‘ทางว่ายน้ำ’ ที่ห้ามจับปลาในเส้นทางอพยพหลักของฉลาม เต่า กระเบน และวาฬ และถึงแม้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญ แต่ภารกิจของเอิร์ลและทีมสำรวจก็แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขยายและเพิ่มเส้นทางว่ายน้ำให้มีมากขึ้น

มานูเอล เยเปซ (Manuel Yepez) และอเล็กซ์ เฮิร์น (Alex Hearn) ผู้ร่วมผลักดันพื้นที่ Hope Spot หมู่เกาะกาลาปากอสของโครงการ Mission Blue เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในการปกป้องส่วนสำคัญของมหาสมุทร โดยเฮิร์นจากศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปากอส เป็นผู้ตรวจสอบหลักในการสำรวจภายใต้การนำของเอิร์ล และเป็นผู้เรียกประชุมทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่เข้าร่วมในโครงการ เฮิร์นเชื่อว่า “ถ้าเราประสบความสำเร็จที่กาลาปากอส เราก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ทุกแห่งบนโลกใบนี้”

Other Articles