Monday, March 27, 2023

บันทึกการเปลี่ยนผ่านของศิลปินลือนาม ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล กับนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเธอ

ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินเลื่องชื่อผู้ที่มีโปรไฟล์รายนามแบรนด์แฟชั่นระดับโลกและแบรนด์สินค้าชื่อดังต่างๆ จับมือทำงานกับเธอยาวเหยียดเป็นหางว่าว เส้นทางการทำงานของยูนเต็มไปด้วยสีสันและรายละเอียด เฉกเช่นลายเส้นละเมียดอันเป็นเอกลักษณ์ที่ซุกซ่อนนัยให้คนดูตีความและขบคิดตามอำเภอใจ ขณะเดียวกันตัวเธอก็คอยหมั่นถามความคิดและมองการเติบโตของตนเองเสมอ ยูนเปรียบเปรยผลงานว่าเป็นเหมือนการบันทึก และล่าสุดเธอได้เปิดเผยบันทึกที่เป็นก้าวสำคัญในชีวิต ผ่านนิทรรศการเดี่ยว The Endless Swimming Pool ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “ทุกครั้งที่ทำนิทรรศการหมายความว่าเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง”

ชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ

“ช่วงนี้วุ่นวายพอสมควร แต่เป็นการวุ่นวายที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ เพราะมีงานนิทรรศการ ร่วมกับงานอื่นๆ ด้วยที่จะเข้ามาในช่วงเดียวกัน เป็นความวุ่นวายในทางที่ดีและเตรียมใจไว้แล้วว่าพอรับมือได้ค่ะ”

เล่าความเป็นมาของนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดที่ชื่อว่า The Endless Swimming Pool

“นิทรรศการนี้เกิดจากความรู้สึกว่าตอนที่ลาออกจากงานใหม่ๆ ยูนมีความกล้ามากเลยที่จะทำอะไรโดยไม่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เหมือนกับที่โลกเรากรอบทุกคนให้ต้องทำตามสูตรไหนสักสูตรหรือสักทาง เพื่อให้เรารอดพ้นปลอดภัยใช้ชีวิตจนวินาทีสุดท้ายแล้วก็ไปอย่างสบายใจมากที่สุด เพราะฉะนั้นมันจะเกิดความกลัวระหว่างทาง เช่น เราจะรู้สึกว่าระบบเซ็ตให้เราเรียน พอจบก็ทำงาน เสร็จปุ๊บก็ไม่ได้มีอะไรมารองรับชีวิตตอนวัยกลางคนที่จะต้องรับมือกับสุขภาพของคนรอบตัว รวมทั้งสุขภาพของตัวเอง การใช้ชีวิตตามขนบสังคมที่กรอบว่าพออายุเท่านี้ เธอจะต้องทำอันนี้ ถึงแม้ว่าตอนนั้นยูนจะรู้สึกว่าเป็นอิสระแล้ว แต่พอทำงานบริษัทตัวเองไปได้ช่วงหนึ่ง ความกลัวสิ่งนั้นก็กลับมาอีก

“การที่ยูนตั้งชื่อนิทรรศการว่า The Endless Swimming Pool เพราะความกลัวนั้นยูนเปรียบเหมือนตอนสอบวิชาว่ายน้ำ คือในชีวิตนี้มีไม่กี่อย่างที่ยูนไม่ค่อยชอบ อย่างการโดนตัดผม และการสอบว่ายน้ำก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ยูนรู้สึกว่าเราเลือกไม่ได้ ทำไมวิชาว่ายน้ำทุกคนต้องว่ายท่าฟรีสไตล์ ทำไมว่ายท่ากบหรือท่ากรรเชียงไม่ได้ ทั้งที่จุดมุ่งหมายคือไปถึงฝั่งเหรอ แล้วใครเซ็ตว่าจุดมุ่งหมายคือถึงฝั่งล่ะ ถ้าฉันอยากเกาะขอบสระแล้วไปเรื่อยๆ มันได้หรือเปล่า ทำให้รู้สึกว่าอะไรกันนะที่มาสโคปหรือเป็นกรงขังเราไว้ นี่คือการเปรียบเทียบกับปัจจุบันนะคะ เหมือนกับว่าทำไมเราปล่อยให้ความเป็นไปของสังคมหรือ stereotype บางอย่างเข้ามากรอบเราโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ หรือโฆษณาชวนเชื่อบางอย่าง มันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเราขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะแต่ละคนใช้สูตรชีวิตไม่เหมือนกัน ทำไมเราถึงต้องเรียนโรงเรียนที่มีหลักสูตรเหมือนกัน แล้วจบมาทำงานที่อาจจะคล้ายๆ กันเพื่อรันสังคมให้ดำเนินไปได้ เรามีอะไรที่เป็นมิชชั่นของตัวเองหรือเปล่า แล้วทำไมแต่ละคนถึงไม่มีสิทธิที่จะได้เข้าถึงมิชชั่นต่างๆ ที่คุณเกิดมาแล้วทำได้ เหมือนเราต้องทำตามที่ใครก็ไม่รู้มากำหนดเอาไว้ แล้วทำไมถึงมีอิทธิพลกับเรา ทำไมอาจารย์สั่งให้ว่ายน้ำท่าไหนก็ได้ เรามีสิทธิไหมที่จะยกมือขึ้นแล้วบอกว่าฉันไม่ว่ายน้ำแล้ว อันนั้นคือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละอัน

“เป็นเรื่องบังเอิญที่ดีมากๆ คือช่วงโควิดยูนลงเรียนภาษาอังกฤษ แล้วชอบคุยกับครูเกี่ยวกับเรื่องปรัชญา ศาสนา ลัทธิความเชื่อสมัยโบราณและปัจจุบัน ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกว่าสิ่งพวกนี้ทิ้งเมสเสจบางอย่างซึ่งตกค้างในตัวเรา ทำให้คนรู้สึกกลัวและทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่กล้ายอมรับว่าสิ่งนี้เป็นตัวเราจริงๆ เพราะทุกคนพยายามบาลานซ์บางอย่างในตัวเอาไว้ คาร์ล ยุง จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ได้ทำการศึกษาและเรียกสิ่งนี้ว่า Collective Unconscious หรือจิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล ซึ่งยูนว่าน่าสนใจมาก เราอยากมีสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำอะไรสักอย่าง แต่ทำไมถึงจำกัดว่าต้องเป็นฟันเฟืองอันนี้ แล้วเป็นอันอื่นไม่ได้

“นิทรรศการนี้เหมือนเป็นบันทึกการเดินทางในจิตใจของตัวเอง โดยผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงสิ่งที่ต้องกลับไปค้นอีกครั้งว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จในชีวิต หรือวันหนึ่งถ้าไม่อยู่แล้วจะได้รู้สึกว่าฉันไม่มีอะไรติดค้างกับตรงนี้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างบรรลุหมดแล้ว เพราะว่าพออายุมากขึ้นเรื่อยๆ มันยังมีอะไรที่ไม่รู้อีกมากมายที่เราต้องจัดการ ถ้าเล่าลงลึกไปอีกนิดหนึ่งเพื่อขยายเรื่อง stereotype ที่บอกว่าความจริงมนุษย์ทุกคนพยายามบาลานซ์ความเป็นตัวเองอยู่แล้ว บาลานซ์ความเป็นหญิง-ชาย บาลานซ์ความเป็นธรรมชาติ พอได้ศึกษาก็รู้ว่า stereotype, storytelling หรือ mythology ต่างๆ บนโลกนี้ส่งผลกระทบต่อคนเรามากมาย เช่น คนเรามีแรงขับเคลื่อนทางเพศอยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งเราไม่สามารถยกวัฒนธรรมที่สมัยก่อนเรียกว่าเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์มาพูดแบบโจ่งแจ้งได้ มนุษย์ต้องกดสิ่งเหล่านั้นไว้เพื่อให้ตัวเองดูสูงขึ้น แล้วมันถูกต้องกับความเป็นมนุษย์ของเราจริงๆ หรือเปล่า”

นิทรรศการนี้มีทั้งภาพวาดและงานประติมากรรมด้วย

“ใช่ค่ะ สองปีทำงานออกมาได้ทั้งหมด 30 ชิ้น โดยส่วนหนึ่งในนั้นเป็นเซ็ต 11 ภาพ เล่าเรื่องที่ยูนทำความเข้าใจกับแผนภูมิของคาร์ล ยุง ซึ่งเขาศึกษาเรื่อง mythology กับการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งยูนเอามาปรับให้เป็นตัวเอง เพราะอันนั้นคือของเขา แต่เราต้องมาคิดว่าถ้าของเราหน้าตาจะเป็นแบบไหน มีอันหนึ่งที่น่าสนใจมาก เรียกว่า Active Imagination เป็นการคุยกับจิตไร้สำนึกของตัวเอง เคยมีคนมาสัมภาษณ์แล้วถามว่ายูนทำยังไงเวลามีปัญหาหรือต้องตัดสินใจ ยูนบอกไปว่าคุยกับตัวเอง เพราะการคุยกับตัวเองก็คือการจินตนาการตัวเราอีกคนขึ้นมาเป็นเพื่อนกันแล้วคุยกัน ซึ่งคาร์ลมีวิธีที่สลับซับซ้อนกว่านั้น เขาจะค่อยๆ สร้างภาพนั้นขึ้นมาแล้วก็มีหน้าตา มีชื่อ มีบุคลิก…”

ในการแสดงงานทุกครั้งเมสเสจที่อยากบอกคนดูคืออะไร

“ยูนคิดถึงประสบการณ์บางอย่างที่เขาจะได้รับออกไปมากกว่า เพราะทุกคนไม่เหมือนกัน ยูนไม่ซีเรียสเลยว่าคุณเข้ามาแล้วจะโอ้โห! appreciate อาร์ต ยูนไม่ต้องการให้งานศิลปะเป็นสิ่งที่คนจับต้องไม่ได้ ศิลปะควรเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของทุกคนได้ ทุกคนควรมีสิทธิในการมีสุนทรียภาพไปกับสิ่งรอบตัว ยูนเองก็พยายามเหมือนกัน เราควรมีเวลาที่จะนั่งเฉยๆ แล้วมองดูสิ่งที่ชอบ เพราะมันเป็นการสร้างประสบการณ์บางอย่าง ทุกครั้งที่ทำนิทรรศการก็เพื่อให้คนได้รับบางอย่างกลับออกไป ส่วนเขาจะรู้สึกกับมันอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของเขาแล้ว เราไม่ได้กรอบเขาว่าจะต้องตื่นขึ้นมาแล้วกลายเป็นคนใหม่ หรือต้องมีมิชชั่นในชีวิต ไม่ใช่เลย”

ปกติเวลานั่งวาดภาพบรรยากาศการทำงานเป็นแบบไหน

“ความจริงชอบนั่งอยู่ในที่ที่มีเสียงคนคุยกัน แต่ไม่ต้องเข้ามายุ่งกับเรา เพราะเวลาทำงานจะใช้สมาธิมาก ไม่สามารถทำไปด้วยแล้วมีคนนั่งคุยไปด้วยได้ สมัยก่อนจะชอบนั่งร้านกาแฟ เดี๋ยวนี้เวลาทำงานที่บ้านก็จะเปิดยูทูบฟังเสียงคนคุยไปด้วย ทุกครั้งที่ทำงานความรู้สึกเหมือนยูนกำลังจด บางคนอาจจดเป็นตัวหนังสือ แต่ยูนจดเป็นรูปภาพ งานของยูนเหมือนเป็นการบันทึก อย่างภาพต่างๆ ในห้องนี้เป็นการบันทึกความรู้สึกในช่วงนั้นๆ แต่พอเป็นนิทรรศการมันคือบันทึกเรื่องราวที่มีความสำคัญกับชีวิตมากๆ และทุกครั้งที่ทำนิทรรศการหมายความว่าเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง”

ชีวิตของศิลปินเหนื่อยไหมคะ 

“ถ้าตอบว่าไม่เหนื่อย น้องๆ ในทีมต้องบอกว่าพี่ยูนโกหกค่ะ (หัวเราะ) มันก็มีโมเมนต์ที่เหนื่อยบ้าง แน่นอนว่าการทำงานย่อมมีปัญหาต่างๆ มาให้แก้ไขเสมอ แน่นอนว่าเราเหนื่อย แต่เราแก้ได้ด้วยการกินช็อกโกแลตลงไป หรือซื้อของเล่น ในชีวิตยูนมีสิ่งที่ชอบไม่กี่อย่างค่ะ กินขนม เล่นของเล่น แล้วก็มีทีมที่ช่วยยูนได้เสมอ”

ความสุขในวันนี้ของยูนคืออะไร

“ยูนรู้สึกว่าตัวเองมีอิสระ ในการทำนิทรรศการนี้สิ่งที่ยูนต้องการคืออิสระ ทุกวันนี้ที่อยากทำงานทุกวันเพราะมันอิสระ ได้ใช้ความคิด ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ แน่นอนว่าลูกค้าก็ให้โอกาสได้ลองทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิมที่ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าโอเค เวลาทำงานกับคนส่วนมาก บางคนอาจมองว่าคอลแลบกับอาร์ทิสต์คงเป็นแค่ลายพิมพ์ สำหรับยูนรู้สึกว่ามันต้องได้อย่างอื่นเติมเข้าไปด้วย เพราะบางอย่างแค่ลายพิมพ์ยังไม่พอที่จะช่วยประกอบร่างแล้วส่งเมสเสจออกไป อาจเป็นการสื่อสารใหม่ๆ ที่แบรนด์ไม่เคยใช้มาก่อน ยูนพูดเสมอว่าถ้าทำแล้วเท่าเดิมจะลงทุนทำไม ทำแล้วถึงแม้จะเป็นฟีดแบ็กที่อาจจะงงๆ อย่างน้อยคุณก็ได้ฟีดแบ็กไง 

“ยูนรู้ตัวว่าความสุขของเราคือการทำงาน แต่บางจังหวะก็อยากมีความสุขกับอย่างอื่นเหมือนกัน อยากออกไปเดต อยากออกไปเจอคนใหม่ๆ อยากพาครอบครัวไปเที่ยว ยังคิดเลยว่าปีที่ผ่านมาไม่ได้ออกไปเที่ยวกับที่บ้านเท่าไหร่ ถึงแม้เขาจะไม่ได้เรียกร้องอะไร ถ้าคิดย้อนไปก็เหมือนตอนยูนเป็นเด็ก พ่อแม่ขายของทุกวัน เราอยากออกไปเที่ยว แต่ว่าเราต้องทำความเข้าใจพ่อกับแม่ด้วย ปัจจุบันนี้ยูนมองว่าเขาเหมือนเราตอนเด็ก เราไม่มีเวลาพาไปเที่ยวเลย แค่ไปห้างครึ่งวันก็อยากกลับมาทำงานแล้ว ทำให้คิดถึงตอนที่แม่พาเราไปห้างครึ่งวัน แล้วอยากกลับมาเฝ้าร้านขายของ…ทำไมชีวิตของเราต้องแบบนี้ด้วยนะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ยูนพยายามทำเต็มที่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อตัวเขา และส่วนหนึ่งก็เพื่อตัวเอง”

ภูมิใจตัวเองในแง่มุมไหนมากที่สุด

“ตรงที่สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ว่าจะทำงานหรือทำอะไรก็ตาม ยูนร้อยเปอร์เซ็นต์กับสิ่งที่ทำเสมอ โดยที่ไม่ต้องทิ้งคำถามกับตัวเองว่าฉันทำสิ่งนี้เพราะอยากเอาตัวรอด ฉันทำสิ่งนี้เพราะอยากไปในที่ที่มันดีขึ้นโดยกำลังเอาเปรียบคนอื่นอยู่ อันนั้นคือความภูมิใจของยูน แล้ววันไหนที่มองกลับมา ยูนไม่มีข้อตกค้างในใจว่าทำสิ่งพวกนี้เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ”

ในฐานะที่เป็นศิลปินอยากให้คนจดจำเราแบบไหน

“แบบที่อ่านบันทึกยูนไปเรื่อยๆ และเห็นการเจริญเติบโตแล้วกัน ในนิทรรศการจะมีภาพหนึ่งที่ยูนวาดเป็นตัวเอง และแทนการเติบโตในลักษณะของคาร์ล ยุง เขาพูดถึงอีโก้แต่ไม่ได้พูดว่าเป็นความเชิดอย่างเดียว แต่พูดถึงสิ่งที่เราเรียนรู้ สิ่งที่อยู่รอบตัวและสโคปให้เราเติบโตขึ้น แล้วเราก็ใช้สิ่งนี้เป็นเกราะป้องกันตัว ยูนเห็นตัวเองเป็นต้นกุหลาบ อยากให้ทุกคนจดจำว่ายูนเป็นต้นกุหลาบแล้วกันค่ะ”

เหมือนเป็นหญิงสาวที่ล้อมไปด้วยสีสันดอกไม้ ทั้งกับงานและชีวิตจริง

“ยูนชอบกุหลาบกับทานตะวันเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้แทนกุหลาบเป็นความรัก แต่ยูนแทนดอกทานตะวันเป็นความรัก ทุกครั้งที่เห็นทานตะวันจะคิดถึงเพลง Ain’t No Mountain High Enough ต้องเป็นเวอร์ชั่นของไดอานา รอสนะคะ เขาร้องว่า If you need me, call me. No matter where you are. No matter how far…แดดส่องมาปุ๊บ ฉันหันหน้าไปเลย (หัวเราะ) คือทุกครั้งที่ฟังจะรู้สึกว่าความรักของยูนเป็นดอกทานตะวัน ส่วนดอกกุหลาบเป็นยูน ถึงแม้กุหลาบจะมีหนาม แต่เราไม่ได้เอาไปฟาดใส่ใคร แค่เรามีไว้ป้องกันตัวเอง ถ้าคุณจะถือ ช่วยถือดิฉันอย่างระมัดระวังได้ไหมคะ”

นิทรรศการ The Endless Swimming Pool เปิดให้เข้าชมฟรีจนถึงวันที่ 19 มีนาคม 2566 ณ RCB Photographers’ Gallery 2 ชั้น 2 ริเวอร์ซิตี้แบงค็อก

Photographer: Thanut Treamchanchuchai

Writer: Angkana Wongwisetpaiboon

Other Articles