เรื่อง: อัญวรรณ ทองบุญรอด

โลกยุคปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะในทางภูมิอากาศหรือแม้แต่วิกฤติโรคระบาด จนทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เกิดเป็นคีย์เวิร์ด ‘ความยั่งยืน’ ที่ถูกนำไปปรับใช้กับทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น
อันที่จริงแล้ว ความหมายของคำว่า ‘แฟชั่น’ กับ ‘วิถียั่งยืน’ นั้นออกจะดูขัดแย้งกันหน่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะแฟชั่นบ่งบอกถึงกระแสหรือวัฏจักรที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น ตามคอลเลกชั่นที่อ้างอิงกับฤดูกาลหรือเทรนด์ ณ ขณะนั้น เชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจ การตลาด ที่ล้วนกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เพราะกลัวจะเอาต์ กลัวจะเชย และนำไปสู่ผลกำไรให้กับธุรกิจฟาสต์แฟชั่นทั้งที่เป็นการเพิ่มขยะให้กับโลก แต่ว่าความยั่งยืน คือการคงอยู่ต่อไปของสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันได้ ในขณะที่ก็ไม่ทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังลดน้อยลง
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าคิดว่ามนุษย์เราจะทำให้ แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Fashion) นั้นไปด้วยกันได้อย่างไร

ในการเสวนาออนไลน์ European Research and Innovation Days ASEAN 2022 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Twin Transition of Green and Digital in ASEAN and EU” หรือ การเปลี่ยนผ่านอย่างควบคู่ไปสู่โลกสีเขียวและโลกดิจิทัลในอาเซียนและสหภาพยุโรป โดย EURAXESS ASEAN ภายใต้การสนับสนุนหลักจากสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการหยิบยกหัวข้อ The Future of Sustainable and Digital Fashion(อนาคตของแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนและดิจิทัลแฟชั่น) ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการเสวนาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 โดยเชิญเหล่าบุคคลในแวดวงแฟชั่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกแฟชั่นปัจจุบัน และทิศทางของการปรับตัวและพัฒนาไปอย่างเหมาะสม ได้แก่ อันยา ลิม (Anya Lim) ชาวฟิลิปปินส์เจ้าของฉายา Princess Ant ผู้ร่วมก่อตั้งและ Managing Director แห่ง ANTHILL Fabric Gallery, สวิดา อลิสญาบานา (Svida Alisjahbana) ซีอีโอแห่ง GCM Group (Global Creative Media) และซูซานนาห์ แจฟเฟอร์ (Susannah Jaffer) ผู้ที่เคยคร่ำหวอดในวงการนิตยสารแฟชั่นในบทบาทบรรณาธิการแฟชั่น ความงาม และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์มาก่อนที่จะก่อตั้งแบรนด์ ZERRIN ขึ้นในปี 2017 ดำเนินรายการโดย คามิลล์ อาร์. เอสกูเดโร (Camille R. Escudero) ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น Lily of the Valley




“ความยั่งยืนนั้นมีหลายปัจจัย หลายองค์ประกอบ ธุรกิจเพียงธุรกิจเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งหมดได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย สำหรับ Anthill เราเชื่อมโยงความยั่งยืนกับแฟชั่นทั้งในแง่ของวัฒนธรรม การสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และการหมุนเวียนในกระบวนการผลิต” อันยา ลิม ศึกษาจบด้านความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจาก University of Queensland ออสเตรเลีย การทำธุรกิจแฟชั่นให้ยั่งยืนสำหรับเธอนั้น เธอให้ความสำคัญเรื่องเทคนิคงานฝีมือดั้งเดิม เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม การสนับสนุนอาชีพให้คนท้องถิ่น และการทำเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่สวิดา ชาวอินโดนีเซีย มองว่า “แฟชั่นเพื่อความยั่งยืนเป็นเหมือนการเดินทาง ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็สามารถทำได้ด้วยวิธีเฉพาะของตนเองที่ไม่เหมือนใคร อย่างในฝั่งของดีไซเนอร์อาจจะเป็นการรักษาภูมิปัญญาเก่าแก่บางอย่างและนำมาสืบทอด ผู้ผลิตอาจจะเลือกใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น วัตถุดิบออร์แกนิกในการทอเนื้อผ้าหรือทำสี ส่วนผู้บริโภคเองอาจจะเก็บเสื้อผ้าที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นแม่หรือของตัวเองที่เก็บไว้นานแล้ว นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse-Recycle-Upcycle) ได้”
“Sustainability in fashion is a sexy word” สวิดากล่าวต่อ เธอคิดว่าหลายแบรนด์พยายามจะเอาคำว่า ‘ความยั่งยืน’ มาชูหรือไฮไลท์ แต่คำถามคือพวกเขาทำอย่างจริงใจ หรือด้วยความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนโลกหรือเปล่า มันเป็นที่มาของ Greenwash หรือการฟอกเขียว ซึ่งเป็นรูปแบบการตลาดที่เจ้าของผลิตภัณฑ์อ้างว่ามีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทเลย
“Greenwash มันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ คือการที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อหรือใช้สินค้าแฟชั่นของแบรนด์ไหน เราควรจะดูทั้งสิ่งที่แบรนด์พูดและที่แบรนด์ไม่ได้พูด แฟชั่นยั่งยืน 100% เลยมันเป็นไปได้ยากมากค่ะ มันไม่มีหรอก perfect fabric หรือเส้นใยที่สมบูรณ์แบบในทุกด้าน หรือแม้แต่ zero plastic, zero waste ไปจนถึงการโดยสารเครื่องบิน ทั้งการขนส่งสินค้า หรือการที่เหล่าเซเลบ นางแบบ มาร่วมแฟชั่นวีคแต่ละครั้ง มันก็เป็นการสร้าง carbon footprint แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดแบรนด์แค่ต้องทำให้เห็นว่าได้มีการปรับตัวเข้ากับวิถียั่งยืนอย่างไร รับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้อย่างไรบ้าง เช่น การลดปริมาณของสิ่งที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมให้ต่ำที่สุด ออกแบบให้เหลือเศษผ้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย การจ้างแรงงานที่เป็นธรรม เป็นต้น และผู้บริโภคก็เลือกสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการสนับสนุนแบรนด์ที่ยั่งยืนมากขึ้น”


แพลตฟอร์มดิจิทัลถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เข้ามา disrupt วงการแฟชั่นทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็ช่วยส่งเสริมวิถียั่งยืนในโลกแฟชั่นได้เช่นกัน ถ้าโดยทั่วไป เราก็จะรู้จักการช็อปปิ้งเสื้อผ้าออนไลน์ หรือการทำการตลาดแฟชั่นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหนบนโลก แต่นอกจากนี้ Digital Fashion ก็ยังมีการตัดเย็บด้วยโปรแกรมและใช้วัสดุเป็นพิกเซล แทนการใช้เส้นด้ายหรือเทคโนโลยีสิ่งทอ หรือแม้แต่ Metaverse Fashion ที่ให้ลูกค้าลองเสื้อได้ผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) การอัพโหลดรูปภาพของตัวเองไปยังเว็บไซต์และให้ดีไซเนอร์ช่วยออกแบบเสื้อผ้ากลับมาให้สำหรับใช้โพสต์ในโซเชียลมีเดีย
บางคอลเลกชั่นอาจไม่จำเป็นต้องมีนางแบบมาเดินบนแคตวอล์กจริงๆ แล้ว เห็นได้จากการจัดแฟชั่นวีคในรูปแบบเมตาเวิร์สของแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส ร่วมกับ UNXD เมื่อเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ทั้งรันเวย์เขาใช้นางแบบ นายแบบที่เป็นอวาตาร์ทั้งหมด ส่วนโปรดักต์ที่นำมาโชว์ก็จะจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัล หรืออาจจะควบคู่กันไปทั้งแบบขายจริงในช็อปด้วย ซึ่งความน่าสนใจคือมูลค่าของโปรดักต์เดียวกันที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลหรือ NFT นั้นมีมูลค่าสูงกว่าโปรดักต์ในรูปแบบที่ขายในช็อปถึงหลายเท่าเลยทีเดียว แถมซื้อขายกันด้วยเหรียฐดิจิทัลอย่าง Ethereum ทำให้หลายแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่เกิดไอเดียสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะด้วย ไม่ใช่แค่แฟชั่นโปรดักต์อย่างเดียว เช่น อเลสซานโดร มิเคเล่ (Alessandro Michele) ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์กุชชี่ สร้างหนังรันเวย์โชว์ร่วมกับผู้กำกับ ฟลอเรีย ซิกิสมอนดิ (Floria Sigismondi) ชื่อเรื่อง ‘Aria’ และก็ถูกประมูลขายไปได้ในราคาสูงถึง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าตัวตนในโลกออนไลน์ก็สำคัญ และสำหรับคนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ แล้ว มันยิ่งดูเหมือนจะสำคัญกว่าตัวตนบนโลกความเป็นจริงด้วยซ้ำ ดิจิทัลแฟชั่นจึงเป็นเทรนด์ที่น่าตื่นเต้นที่กำลังมาในอนาคต แน่นอนว่าทางหนึ่งมันก็จะลดการบริโภคสินค้าที่จับต้องได้ลง ลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน แต่ในอีกทางมันก็คือการเคลื่อนย้ายเอาความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไปไว้บนโลกเสมือนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยีและพลังงาน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าเราจะสร้างสมดุลอย่างไรเพื่อให้คำว่าแฟชั่นกับความยั่งยืนมันไปด้วยกันได้จริงๆ

European Research and Innovation Days ASEAN 2022 งานเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “Twin Transition of Green and Digital in ASEAN and EU” หรือ การเปลี่ยนผ่านอย่างควบคู่ไปสู่โลกสีเขียวและโลกดิจิทัลในอาเซียนและสหภาพยุโรป จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 11 พฤศจิกายน 2022 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: http://eeas.europa.eu/asean