Friday, March 29, 2024

ใครๆ ก็พากันพูดถึง NFT ว่าแต่มันมีบทบาทในชีวิตเราอย่างไรล่ะ

แร็ปเปอร์ Eminem เพิ่งซื้อศิลปะดิจิตัลของ Bored Ape Yatch Club ไปในราคา 123.45 ETH หรือเกือบ 15 ล้านบาท แล้วนำมาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ในทวิตเตอร์ของตัวเอง GeeGazza ซึ่งเป็นสมาชิกของ BAYC ผู้ขายผลงานชิ้นนี้แสดงความขอบคุณเอมิเน็มที่ซื้อ NFT นี้ไป “ผมเหมือนอยู่ในโลกของความฝัน นี่มันบ้าไปแล้ว ขอให้ผมได้เป็นคนเขียนเนื้อเพลงให้กับซิงเกิลต่อไปของคุณเถอะ” 

เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน “นี่มันบ้าไปแล้ว” งานศิลปะในรูปแบบดิจิตัลที่ไม่รู้จะจับต้องในชีวิตจริงอย่างไรกับมูลค่ามากมายมหาศาล แต่นั่นก็ทำให้คนหันมาสนใจคอนเซ็ปต์ของ NFT หรือ Non-Fungible Tokens กันมาขึ้น 

อะไรคือ NFT

NFT ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันวนเวียนอยู่ในชีวิตเรานับตั้งแต่มี Ethereum หรือสกุลเงินดิจิตัลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากบิตคอยน์ NFT เป็นเหรียญดิจิตัลที่สามารถผูกติดกับอะไรก็ตามในรูปแบบดิจิตัล ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ เพลง ไอเท็มในวิดีโอเกม หรือแม้ได้ไฟล์ GIF

ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นดาต้าเบสแบบไม่มีศูนย์กลางในการทำหน้าที่เก็บข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ ทำให้ NFT สามารถแทร็กได้ว่าใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิตัลอะไรบ้าง และทำหน้าที่เป็น ‘สมุดบัญชีสาธารณะ’ ตรวจสอบการถือครอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภาพถ่าย งานศิลปะ วิดีโอคลิป หรือการ์ดกีฬาสำหรับสะสม เทคโนโลยีบล็อกเชนกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการระบุว่าใครเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้น 

ยกตัวอย่างเช่น คุณได้สร้างสรรค์ภาพวาดดิจิตัลขึ้นมา ก็สามารถนำไปแปลงเป็นโทเคน (Token) เข้าสู่ NFT ได้ โดยจะถูกเรียกว่า ‘Crypto Arts’ (งานศิลปะเข้ารหัส) กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิตัลที่มีมูลค่าและสามารถซื้อขายได้ NFT ทำให้ทราบประวัติการครอบครอง เมื่อมีคนมาซื้อภาพนั้นจากคุณ ระบบบล็อกเชนจะบันทึกการครอบครองครั้งใหม่และทำหน้าที่เป็นเหมือนใบรับรองดิจิตัล ระบุ ‘ความเป็นต้นฉบับ’ ของผลงานว่ามีเพียงชิ้นเดียว เพราะระบบบล็อกเชนไม่สามารถเปลี่ยนข้อมูลได้ และไม่สามารถแฮ็กได้ (ถ้านับจนถึงเดี๋ยวนี้) 

การเป็นเจ้าของผลงานออริจินัล 

อันที่จริง NFT ไม่อาจป้องกันไม่ให้ใครก๊อบปี้อาร์ตเวิร์กได้ เพราะอะไรก็ตามที่อยู่ในรูปดิจิตัลสามารถก๊อบปี้ได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามผลงานที่เกิดจากการก๊อบปี้เหล่านี้จะไม่นับว่าเป็นผลงานออริจินัล นั่นล่ะความมหัศจรรย์ของ NFT เพราะในขณะที่วงการศิลปะเสียเงินหลายล้านดอลลาร์ต่อปีในการตรวจสอบงานศิลป์ว่าเป็นของจริงหรือมีที่มาที่ไปอย่างไร NFT ได้ช่วยยืนยันว่าผลงานหนึ่งๆ เป็นของจริงผ่านข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบบล็อกเชน ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข และต่อให้คนก๊อบปี้ไฟล์ภาพนั้นต่อๆ กันอย่างไม่รู้จบ แต่ก็ไม่ได้สิทธิ์ในการครอบครองหรือขายต่อ เพราะระบบของบล็อกเชนได้บันทึกแล้วว่าใครเป็นเจ้าของหรือถือกรรมสิทธ์ในผลงานนั้นๆ 

ในขณะที่คนเจนเก่ายังคงยึดติดกับสิ่งที่จับต้องได้ รวมถึงงานศิลปะ ภาพถ่าย หนังสือ หรือของสะสมอื่นๆ เจนมิลเลนเนียลและเจนซีนั้นให้ความสนใจกับงานศิลป์ดิจิตัล ลองจินตนาการถึงคนเจนหนึ่งที่เติบโตมาโดยคุ้นเคยกับการดูหนังหรือฟังเพลงที่เราไม่ได้ต้องครอบครอง ปล่อยบ้านให้คนที่รู้จักเช่า และนั่งรถที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิตัลก็มาจากแนวคิดเดียวกัน 

NFT ทำงานอย่างไร 

คุณต้องส่งภาพดิจิตัลให้กับผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิตัล (Dealer) ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นของจริง โดยการตรวจสอบประวัติข้อมูลในบล็อกเชน และให้คนสามารถประมูลได้ เมื่อภาพดิจิตัลเป็นของคุณและสามารถพิสูจน์ที่มาได้ในบล็อกเชน แต่ละครั้งที่ขายได้ คุณในฐานะผู้สร้างงานก็จะได้ส่วนแบ่งจากการขาย 

เนื่องจาก NFT ทำงานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงสามารถผูกเข้ากับสมาร์ตคอนแทร็กต์ ทำให้ผู้สร้างงานยังคงได้รับส่วนหนึ่งจากการซื้อขาย NFT ย่อยๆ ในทุกครั้ง โดยปราศจากตัวกลางทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจ่ายค่าสิทธิ ลองจินตนาการดูว่าทายาทของโมเนต์สามารถได้ค่าสิทธิต่อเนื่องทุกครั้งที่ภาพของเขาถูกขาย! 

และด้วยมูลค่าของสกุลเงินคริปโตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ความต้องการและความสนใจ NFT จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แคลร์ เอลิส บูเชร์ นักร้อง นักแต่งเพลง และศิลปินทัศนศิลป์ชาวแคนาดา หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ Grimes ได้ขายดิจิตัลอาร์ตเวิร์กไปได้ในมูลค่า 6.6 ล้านดอลลาร์ และในช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว วิดีโอคลิปของเลอบรอน เจมส์ นักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอชื่อดังก็ได้ราคาประมูลไปสูงถึง 200,000 ดอลลาร์

กระแส NFT พุ่งสู่จุดสูงสุดเมื่อสถาบันประมูลคริสตีส์ประมูลงานเวอร์ชวลอาร์ตเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วไปในราคา 69.3 ล้านดอลลาร์ ผลงานดิจิตัลคอลลาจนี้มีชื่อว่า Everydays: The First 5000 Days เป็นผลงานที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับสามโดยศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่

ราคาของชิ้นงาน NFT เหล่านี้ที่ผันผวนเป็นเพราะราคาของสกุลเงินคริปโตที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่ NFT เหล่านี้ค้าขายกันในรูปของเงินอีเธอร์ (Ether) ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น 570 เปอร์เซ็นต์เมื่อสองปีที่แล้ว Everydays: The First 5000 Days ได้รับการชำระเป็นเงินอีเธอร์ ซึ่งซื้อขายกันอยู่ที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อ 1 อีเธอร์ ในช่วงที่มีการประมูล แต่ตอนนี้มูลค่าเพิ่มเป็น 4,000 ดอลลาร์ต่อ 1 อีเธอร์แล้ว และเนื่องจากนักลงทุน NFT จำนวนมากเป็นนักลงทุนรายแรกๆ ของอีเธอร์ สถิติ NFT เมื่อไม่นานนี้จึงไม่อาจเทียบในรูปของเงินดอลลาร์ได้ เนื่องจากอีเธอร์ได้มาในราคาที่ค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ดี มันทำให้เกิดคำถามว่าทำไมนักสะสมถึงยอมจ่ายเงินให้กับสิ่งที่ถูกก๊อบปี้ได้ง่ายๆ คำตอบคือ การได้เป็นเจ้าของหรือครอบครองกรรมสิทธิ์

คุณเป็นเจ้าของงานอาร์ต หรืองานอาร์ตเป็นเจ้าของคุณ

แน่นอนว่าใครก็สามารถดาวน์โหลดดิจิตัลก๊อบปี้ของงานดิจิตัลได้ แต่การเป็นเจ้าของนั้นเอ็กซ์คลูซีฟและต้องมีเงิน เนื่องจากบล็อกเชนทำหน้าที่เป็นดั่งใบรับประกันว่า นี่คือผลงานในครอบครองของคุณ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนเท่าไรก็คือสิ่งที่ผู้ลงทุน NFT จะได้ แม้ว่าจะมีการพูดเรื่องลิขสิทธิของงานอาร์ตดิจิตัลที่ผูกอยู่กับ NFT นั้นๆ แต่นั่นก็ยังไม่แน่นอน

นักกฎหมายบางสำนักบอกว่า NFT เป็นเพียงตัวพิสูจน์ว่าผลงานนั้นเป็นของจริงและคุณได้ครอบครองกรรมสิทธ์ของชิ้นงานนั้น แต่ที่จริงแล้วตัวศิลปินก็ยังคงถือลิขสิทธิ์ผลงานและสิทธิในการนำผลงานมาผลิตใหม่ได้ ศิลปินหรือผู้สร้างงานซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้ตั้งใจจะส่งต่อสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นให้กับผู้ซื้อ NFT ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการซื้อขายผลงานศิลปะที่จับต้องได้เลย (ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจแยกแยะเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ กับ ‘กรรมสิทธิ์’ ออกจากกันเสียก่อน) 

คาดว่าประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อ NFT เติบโตมากขึ้น และถึงแม้ว่าลิขสิทธิ์ของผลงานดิจิตัลจะไม่อาจเปลี่ยนมือ แต่ NFT ก็ยังมีคุณค่าในตัวของมัน นั่นเพราะเมื่อการทำก๊อบปี้เป็นเรื่องง่าย ความต้องการสิ่งที่ ‘ออริจินัล’ จึงยิ่งมีมากขึ้น ลองดูในประเทศจีน อุปสงค์ในของเลียนแบบของดีไซเนอร์ลดลงอย่างมาก เนื่องจากคนจีนมีฐานะมากขึ้น และอยากครอบครองผลงานออริจินัลที่สร้างสรรค์โดยแบรนด์ระดับโลก

หนึ่งในประโยชน์ของการซื้องานศิลปะก็คือการที่คุณได้ช่วยสนับสนุนศิลปินที่คุณชื่นชอบ ซึ่ง NFT ก็เป็นเช่นนั้น การซื้อ NFT มาพร้อมสิทธิ์พื้นฐานบางอย่าง เช่น สามารถโพสต์ภาพนั้นลงออนไลน์ได้ หรือใช้เป็นภาพโปรไฟล์ของตัวเอง คนจะได้รู้ว่าคุณเป็นเจ้าของงานนั้น หรือจะบอกว่ามันเป็นสิทธิในการอวดอ้างก็ได้ การได้เป็นเจ้าของผลงานออริจินัลนั้นมอบความรู้สึกพึงพอใจที่ไม่สามารถวัดได้ ซึ่งนักสะสมต่างยินดีจ่าย แน่นอนว่ายังมีคนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อของปลอมอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่าคนอยากจะเป็นเจ้าของผลงานต้นฉบับมากขึ้นไปอีก มันเหมือนกับการที่ใครสักคนเป็นเจ้าของภาพโมเนต์ แต่การไม่มีใครรู้เลยว่าคุณได้เป็นเจ้าของ มันก็คงจะไม่น่ายินดีเท่าไร 

เรียบเรียงจาก Here in the New Age, Lies the Magic of NFTs โดย Patrick Tan และ L’Dictionary: NFT โดย Minh Nhat 






Other Articles