ข่าวการจากไปของ Manfred Thierry Mugler เจ้าของแบรนด์ Thierry Mugler ที่เป็นหนึ่งในเมซงแห่งโอต์กูตูร์ของโลกที่นับวันก็จะมีจำนวนลดน้อยลงเพราะไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไปจนเกิดคำถามว่าโอต์กูตูร์ถึงคราวสูญสิ้นแล้วหรือไรในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ผ่านมา 2 ทศวรรษโอต์กูตูร์ก็เสมือนงานศิลปะบนอาภรณ์ที่ยังคงอยู่ และยังคงอยู่ตลอดไป
การจากไปของเทียรี มูแกล(จริงๆ คือชื่อแบรนด์ เพราะชื่อเต็มๆ ของเขาต้องมี มานเฟร็ด นำหน้า)ทำให้หลายๆ คนในแวดวงแฟชั่นต่างเสียดายเพราะเขาสร้างผลงานไว้มากมายโดยเฉพาะงานแนว constructivism หรือ Biomorphic ด้วยแพรพรรณ และเรายังหาแฟชั่นโชว์ของเขาชมได้ในยูทู้ป และทำให้หลายๆ คนที่อาจจะเติบโตหลังช่วงเอจตี้ส์แทบจะไม่รู้เลยว่า งานออกแบบของมานเฟร็ด เทียร์รี มูแกล นั้นไม่ได้เว่อวังโลกแตก หรือแฟนตาซีอย่างที่เห็นในโชว์โอต์กูตูร์เพียงอย่างเดียว และครั้งหนึ่งบ้านเราเคยมีบูติก Thierry Mugler ในกรุงเทพฯ ด้วย ถือเป็นแบรนด์เนมแรกๆ ที่มาเปิดในเมืองไทยโดยมีคุณเปิ้ล-กุลวดี ตั้งคารวกุล เป็นผู้ร่วมทุนชาวไทย โดยร้านตั้งอยู่ที่เพนนินซูลา พลาซ่า ถนนราชดำริ(ไม่ใช่โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ นะ)
แต่ก่อนหน้านั้นมีสุภาพสตรีมากความสามารถที่ทำงานอยู่ที่บริษัทพีอาร์เอเจนซีที่เก๋ไก่ของยุคนั้น สุพรทิพย์ ช่วงรังษี หรือคุณทิปปี้ เธอเป็นคนแรกๆ ที่สวมชุดของ Thierry Mugler ไปไหนต่อไหนเป็นต้องถูกทักตลอดว่าชุดสวยมาก จากห้องเสื้อไหน ใครเป็นดีไซเนอร์ เพราะสมัยนั้นบ้านเรายังไม่มีแบรนด์เนมใดๆ เข้ามาเปิด จะมีแต่หลุยส์ วิตตอง ที่มาเปิดที่เพนนินซูลา พลาซ่า แล้วยุคนั้นก็เน้นที่เครื่องหนังเป็นหลักไม่ใช่เสื้อผ้าแฟชั่น ที่(บรร)เจิดก็ผลงานห้องเสื้อไทยนี่แหละที่ให้สาวๆ ที่ชอบแต่งตัวได้มีโอกาสแต่งตัวเติมฝัน หรือถ้ามีโอกาสเดินทางหน่อยก็สิงคโปร์หรือฮ่องกงซึ่งไม่ใช่เดินทางกันได้ง่ายๆ อย่างยุคนี้ที่นึกอยากไปก็จองตั๋วเครื่องบินและที่พักทางออนไลน์แล้วพอถึงสนามบินก็เดินขึ้นเครื่อง(ก่อนยุคโควิด 19)
สมัยนั้นเขาบลั๊ฟกันว่าเก๋จริงแฟนต้องพาไปกินหมูแดงเป็ดย่างที่ฮ่องกง(ซึ่งยังเป็นของอังกฤษอยู่) ทำไมไม่เปรียบไปกินหูฉลามหรือเป๋าฮื้อที่แพงและราคาแรงกว่าก็ไม่ทราบ อาจจะเพราะคนคงชอบกินหมูแดงและเป็ดย่างมากกว่า คือพูดแล้วคนเข้าใจมีความริษยาอยากจะมีโอกาสเช่นนั้นบ้าง แล้วก็ต้องบินกลับวันนั้นเลย แต่ไม่ลืมแวะช้อปที่ร้านหลุยส์ วิตตองหรืออิเซ่ มิยาเกะ ชาเนลยังไม่ฮิตเพราะคาร์ล ลากาเฟลด์ เพิ่งเร่ิมเข้าไปชุบชีวิตให้ชาเนล(ถ้าย้อนเวลาไปได้ก็ขอไปกวาดกระเป๋าชาเนลคลาสสิกสายโซ่มาสักโหลหนึ่งเก็บไว้ปล่อยในยุคนี้)
เอาละเพ้อเจ้อปูทางให้คนที่ไม่ทันให้ได้รู้จักกลิ่นอายของยุคเอจตี้ส์ต่อไนนท์ตี้ส์ เรามาเข้าเรื่องกันเพราะความที่หลายๆ คนที่เป็นเจ็นเอ็กซ์ เจ็นซี มาเปรยๆ ว่าดีไซน์ของเทียร์รี มูแกลสวยนะแต่ใครจะใส่เดินถนนได้ ก็เลยต้องสายด่วนโทรหาคุณทิปปี้เลยทันที(จริงๆ ใช้ไลน์ สมัยนี้ใครเขาโทรหากันเนาะ) ซึ่งคุณทิปปี้ก็เต็มใจเล่าถึงความหลงใหลในงานสร้างสรรค์ของมานเฟร็ด เทียร์รี มูแกล แถมระหว่างไลน์คุยกันคุณทิปปี้ก็เปิดตู้ถ่ายรูปเสื้อเทียร์รี่ มูแกลที่เก็บไว้มาให้ดูประกอบการเล่าเรื่อง จึงได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมีทั้ง Thierry Mugler และ Mugler ที่เหมือนเป็นแบรนด์ที่ใส่ง่ายสนุกๆ แต่ของคุณทิปปี้ก็จะมี Thierry Mugler มากกว่า
“จริงๆ เป็นคนชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น แล้วมีโอกาสไปปารีส เดินผ่านร้าน Thierry Mugler ก็เอ๊ะ เก๋ดีไม่เคยเห็นเสื้อผ้าแบบนี้มาก่อน แล้วชื่อร้านอ่านว่าอะไรก็ยังออกเสียงไม่ถูกนะคะ พอดีตอนที่ไปเห็นนั้นร้านปิดแล้ว อีกวันก็ไปเลยเพราะภาพนั้นติดอยู่ในหัว คือจริงๆ ไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าเพราะชื่อเสียงของแบรนด์หรือตามอย่างใคร จะเป็นคนที่ถ้าชอบก็ชอบเลย ไม่ได้คิดว่าใส่แล้วใครจะรู้จักแบรนด์นี้ไหม ก็ได้เข้าไปเลือกไปลองแล้วก็ซื้อมาชุดหนึ่ง พอตอนจ่ายเงินก็อึ้งไปนิด ราคาเท่ารถยนต์คันเล็กๆ เลย ก็ตัวชาเล็กน้อย ตอนนั้นเราก็ยังเป็นเด็กๆ นะ แต่เรื่องช้อปปิ้งแต่งตัวนี่สู้ตาย กลับมาถึงโรงแรมก็เอามาชื่นชมแล้วความตกใจเรื่องราคาก็ค่อยๆ หายไป ยิ่งได้ชมยิ่งชอบ พอพรุ่งนี้เช้าก็กลับไปที่ร้านอีก ไปซื้อมาอีกชุด(หัวเราะ)”
แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อคุณเปิ้ลต้องการจะนำเอา Thierry Mugler มาเปิดในเมืองไทย ไม่ต้องสงสัยว่าคุณทิปปี้จะถูกเรียกเข้าไปคุยเพื่อให้ทำงานพีอาร์ให้กับแบรนด์นี้ด้วยเหตุผลที่ว่าเห็นเธอใส่ชุดของเทียร์รี มูแกล ที่ไม่คิดว่าจะมีใครในเมืองไทยรู้จักแบรนด์นี้
“ตอนทำพีอาร์ให้เทียร์รี มูแกล ต้องบอกว่าสนุกมากๆ จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย ยากคือเป็นแบรนด์ที่คนไทยยังไม่รู้จัก มีความยูนีคมาก ส่วนที่ว่าง่ายคือชุดของเขาสวยอยู่แล้ว สะดุดตา ทั้งตัวเทียร์รีเองหรือคุณเปิ้ลก็สนับสนุนเราเต็มที่ในการทำพีอาร์ ให้โอกาสได้ทำสิ่งที่วงการพีอาร์บ้านเรายังไม่ค่อยมีใครทำ คือพานิตยสารแฟชั่นเดินทางไปถ่ายแฟชั่นที่ปารีส ถือเป็นเรื่องใหญ่มากในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ การติดต่อกันไม่ได้ง่ายอย่างยุคนี้
“แต่ก็ทำได้สำเร็จอย่างงดงาม โดยพานิตยสารไป 2 เล่มคือนิตยสารดิฉัน มีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯเป็นนางแบบเซ็ต Thierry Mugler จริงๆ คือเราเห็นทูลกระหม่อมฯ ใส่ชุดเทียร์รี มูแกล ก่อนนั้นแล้ว แล้วท่านก็ทรงได้งามมาก ต้องบอกว่าทูลกระหม่อมฯ เป็นผู้นำแฟชั่นของยุคนั้นจริงๆ ก็เลยขอคุณหญิงทิพยวดี ปราโมช ณ อยุธยา บรรณาธิการนิตยสารดิฉันติดต่อทูลกระหม่อมฯ มาเป็นนางแบบของเซ็ตนั้น ส่วนอีกเซ็ตที่ไปถ่ายที่เมืองใหม่ของปารีส La Défense สำหรับนิตยสาร IMAGE เป็นชุดของ MUGLER ที่เป็นอีกแบรนด์ที่เสื้อผ้าจะใส่ง่ายกว่าสนุกๆ ช่างภาพคือพี่ใหญ่-อมาตย์ นิมิตภาคย์ นางแบบคือแอ๊นท์ ธรัญญา สัตตบุศย์ เธอเปรี้ยวมากเหมาะกับชุดของมูแกล ก็สร้างความฮือฮาได้มากทั้งสองเล่มเมื่อวางแผง ถือเป็นอีกผลงานที่ภูมิใจมาก” จำได้ว่ายุคนั้นคนเก๋จริงต้องใส่ชุดมูแกล เป็น Power suite ของผู้หญิงยุคนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนจะได้เป็นเจ้าของ ก็อย่างที่คุณทิปปี้บอกว่าจ่ายค่าชุดก็ตัวชาเล็กน้อย
“ชุดของเทียร์รี มูแกล อาจจะเป็นเหมือนสิ่งที่รับรองชีวิตที่ประสบความสำเร็จแล้ว ใช่ ยุคนั้นฮิตมากที่จะต้องมีชุดของเทียร์รี มูแกล เหมือนผู้หญิงที่มีแล้วทุกๆ อย่างก็ต้องมีชุดของเทียร์รี มูแกลด้วย ชุดของเทียร์รี มูแกล เขาจะพิถีพิถันตั้งแต่วัสดุเลย ไม่ใช่ผ้าที่จะหาในตลาดได้ ส่วนกระดุมของตกแต่งโลหะต่างๆ คือทำขึ้นมาโดยเฉพาะเหมือนงานจิวเวลรีสำหรับดีไซน์นั้นๆ ชุดไหนชุดนั้นไม่ซ้ำกัน คือตอนที่ไปถ่ายแฟชั่นที่ปารีสก็ได้มีโอกาสไปโรงงานตัดเย็บของเขาที่เมืองน็องซ์ ด้วย จำได้ว่าต้องตื่นเช้ามากเพื่อให้ทันขึ้นรถไฟ แต่ไปเห็นโรงงานเขาแล้วประทับใจมาก เหมือนยานอวกาศ เราได้ไปเห็นการตัดผ้าด้วยเลเซอร์ที่ล้ำยุคมาก แต่อีกฝั่งก็มีเหล่าคุณป้านั่งสอยตะเข็บด้วยมือ(กฎหนึ่งของชุดโอต์กูตูร์คือต้องสอยด้วยมือ) เป็นความแตกต่างที่แสดงให้ห็นถึงวิสัยทัศน์ของเขาที่นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาใช้ในงานผลิต แต่ขณะเดียวกันก็ดำรงไว้ซึ่งงานฝีมืองานคราฟท์ที่ต้องอาศัยสายศิลป์ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นถึงรุ่น”
แล้วมีเหตุการณ์ใดที่สวมชุดของ Thierry Mugler แล้วมีเรื่องประทับใจหรือเป็นความทรงจำบ้าง(คุณทิปปี้ตอบแบบไม่ต้องคิดนาน)
“มีค่ะ กับชุดสีส้มนี่แหละ ตอนนั้นยังไม่มีบูติกของแบรนด์นี้ในเมืองไทย ก็ใส่ชุดสีส้มนี่แหละไปคุยงานกับลูกค้า ท่านก็เป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ก็คุยๆ งานไปจนจบ ท่านก็ทักว่าชุดที่ใส่นี่สวยจัง จะเป็นอะไรมั้ยถ้าจะขอมาเป็นต้นแบบตัดเป็นชุดพนักงานของบริษัท เราก็อึ้งไปแต่ไม่ว่าอะไร จากนั้นพอท่านนัดไปเซ็นสัญญาก็ตอบไปว่าไม่ว่างแล้ว ช่วงที่ท่านจะให้เราทำงานนั้นเราติดรับงานอื่นไว้แล้ว คือไม่ไปเจอท่านอีกเลย ยอมค่ะ ยอมทิ้งเงินที่ควรจะได้ ไม่อยากให้ชุดโดนเอาไปก้อป คือถ้าไปเจอก็คงยากจะปฏิเสธนะคะ(หัวเราะเบาๆ)”
คุณทิปปี้มีความทรงจำดีๆ มากมายเกี่ยวกับ Thierry Mugler รวมทั้งตัวของมานเฟร็ด เทียร์รี มูแกล ที่เธอต้องทำงานด้วยในช่วงที่ทำพีอาร์ให้แบรนด์นี้ในเมืองไทย และได้มีโอกาสไปชมแฟชั่นโชว์ของ Thierry Mugler หลายครั้ง ซึ่งคุณทิปปี้บอกว่าเป็นที่สุดแล้วทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการทำโชว์และงานออกแบบแฟชั่นที่เป็นที่สุดคนหนึ่ง และยากที่จะหานักออกแบบคนใดจะทำได้เหมือน
(ขอขอบพระคุณคุณทิปปี้ที่ให้เราได้สัมภาษณ์ในช่วงที่ทุกคนยังต้องรักษาระยะห่างจากโควิด 19 และถ่ายภาพชุด Thierry Mugler ของเธอมาให้เราได้ชมและนำมาประกอบเรื่อง)