Tuesday, November 12, 2024

กะจะเที่ยวอย่างปังแต่พังเพราะโควิด

ปีที่ผ่านมาช่วงครึ่งปีหลังสัญญานว่าเราจะได้ผ่อนคลายจากชีวิตวิถีใหม่เร่ิมมีมากขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายวันที่ลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้หลายๆ คนวางแผนจะไปเที่ยวต่างประเทศ ยิ่งรัฐบาลมีโครงการ Fit to Fly สำหรับคนไทยที่จะเดินทางออกไปต่างประเทศและกลับมาโดยไม่ต้องเข้าวิธีการเช่นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวเมืองไทย จึงมีคนเดินทางไปเที่ยวต่างแดนในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ค่อนข้างมาก วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส และคนในครอบครัวทีมใหญ่ก็วางแผนไปเยี่ยมหลาน 2 คนที่ไปเรียนต่อที่อังกฤษ แม้ขั้นตอนการขอวีซ่าจะยุ่งยากจนวีรวัฒน์เกือบจะถอดใจ แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้บินไปลอนดอนพร้อมกันแบบคณะใหญ่ด้วยความครึกครื้นว่าจะได้ไป Winter Wonderland ในลอนดอนหลังจากที่ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศยาวนานมาก โดยไม่คาดคิดว่าแผนการท่องเที่ยวที่คาดหวังไว้นั้นจะกลายมาเป็นการกักตัวอยู่ในอพาร์ตเม้นต์ที่เช่าไว้แทน อ่านเรื่องราวที่จะช่วยให้คุณแก้ปัญหาได้หากต้องไปพบกับสถาณการณ์เดียวกันนี้โดยปั้ม-วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส อดีตบรรณาธิการนิตยสารที่มีชื่อเสียงเรื่องคมปากกา ปัจจุบันเขาทำธุรกิจส่วนตัวและเป็นนักเขียนอิสระ

ทำอย่างไรเมื่อติดโควิดในต่างแดน? ถอดบทเรียนจากเรื่องจริงเมื่อติดเชื้อโควิดทั้งครอบครัวในอังกฤษ 

เรื่องโดย วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส

ถ้าติดเชิ้อโควิดในต่างประเทศเราจะทำอย่างไร? ความคิดนี้แว่บขึ้นมาในหัวเป็นพักๆ ขณะที่ผมวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวปีใหม่ที่อังกฤษ เพราะช่วงนั้นยอดผู้ติดเชื้อในสหราชอาณจักรกำลงพุ่งสูงทำลายสถิติอยู่ทุกวัน ใจหนึ่งก็คือจะเลื่อนการเดินทาง แต่อีกใจก็ขอไปเสี่ยงและคิดว่าเราคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น สุดท้ายเราเลือกอย่างหลัง ซึ่งทำให้ร้ว่าความวุ่นวายที่เผื่อใจไว้ยังได้ครึ่งหนึ่งของสถานการณ์จริงที่ต้องเจอเมื่อทั้งครอบครัวกลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิดในอังกฤษ

ครอบครัวเราทั้ง 12 คนเดินทางถึงลอนดอนในวันที่ 23 ธ.ค.ในจำนวนนี้มีคนที่น่ากังวลก็คือหลานชายคนโตที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็มแต่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้น รวมทั้งหลานชายคนกลาง และหลานชายคนเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอะไรเลย ส่วนคนอื่นๆได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเดินทาง 1 สัปดาห์ แผนการเดินทางก็คือเที่ยวเป็นวงกลมจากลอนดอนขึ้นไปสกอตแลนด์ วนลงมาที่เบอร์มิงแฮมเพื่อเยี่ยมหลานสาวสองคนที่เรียนที่นั่น แล้วกลับเข้าลอนดอนในช่วงท้ายของทริปรวมทั้งสิ้น 17 วัน วันแรกที่ไปถึงบรรยากาศลอนดอนเป็นไปอย่างปกติ ผู้คนไม่ค่อยสวมแมสก์และ ดู “ชิลล์” กับสถิติยอดผู้ติดเชื้อแตะหลักแสนในแต่ละวัน อาจจะเพราะมั่นใจในวัคซีนและเมื่อดูจากตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตก็มีเปอร์เซ็นต่ำมากเมื่อเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อ พวกเราพยายามหลีกเลี่ยงแหล่งพลุกพล่านอย่างดีที่สุด จนกระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. คงเพราะความประมาทเราเข้าไปเล่นสวนสนุก Winter Wonderland ที่ผู้คนค่อนข้างแออัด และในอีก 3  วันต่อมา ( 29 ธ.ค.) สิ่งที่เรากลัวมาตลอดก็เกิดขี้นจนได้ 

หลานชายคนโตเริ่มมีอาการไข้แล้วร้องขอตรวจชุดตรวจหาเชื้อแบบทันที (คนไทยเรียกว่า Antigen Test Kit หรือ  ATK  ส่วนที่อังกฤษใช้คำว่า Lateral Flow Test Kit  หรือ LFT) ในขณะที่เราแวะค้างคืนที่นิวคาสเซิลก่อนมุ่งหน้าสู่สกอตแลนด์ ผลออกมาว่าเขาติดเชื้อ เราตรวจซ้ำจนมั่นใจ จากนั้นมหากาพย์การดิ้นรนหาทางกลับบ้านก็เริ่มต้นขึ้น 

ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อโควิดในต่างแดน

การรับรู้ของคนไทยคือโควิดเป็นโรคที่ทำให้คนตาย และช่วงนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าโควิดโอไมครอนร้ายแรงแค่ไหน การที่มีลูกหลานติดเชื้อมันบีบคั้นหัวใจพวกเรามาก สิ่งแรกที่คิดคือหาทางกลับบ้านให้เร็วที่สุด แต่ดูแล้วก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้าสู่ระบบการคัดกรองโรคของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) หน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน แต่ก่อนอื่นเราต้องหาที่อยู่เป็นหลักแหล่งเพื่อใช้กักตัว 10 วันตามข้อกำหนดของอังกฤษเสียก่อน ดังนั้นเราจึงยกเลิกแผนการเดินทางที่เหลือทั้งหมดและมุ่งหน้าสู่เบอร์มิงแฮมที่หลานสาวเรียนอยู่ 

ที่เบอร์มิงแฮม เราเช่าอพาร์ทเม้นต์ 2 ห้องนอนจำนวน 3 หลัง แยกครอบครัวของผู้ป่วยออกไป ส่วนสมาชิกคนอื่นๆอยู่รวมกันอีก 2 หลัง โดยสวมหน้ากากอนามัยแม้จะอยู่ในห้องก็ตาม เราเผื่อใจไว้ว่าหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกหนึ่งห้องจะต้องกลายเป็นห้องกักตัวผู้ป่วยด้วย ส่วนหลานสาวที่นั่นก็ลงทะเบียนของ NHS  เพื่อเข้ารับการตรวจ PCR Test แบบ On Site ได้ฟรีที่  Birmingham University ซึ่งผู้สัมผัสใกล้ชิดก็ตรวจได้ด้วย ในที่นี้คือคุณพ่อคุณแม่และน้องชายของผู้ติดเชื้อ ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆก็กลายเป็นผู้เสี่ยงไปด้วย โชคดีที่รัฐบาลอังกฤษให้ความสำคัญกับการคัดกรองโรคจึงมีชุดตรวจแบบ LFT แจกฟรีสำหรับทั่วไปโดยลงทะเบียนผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของ NHS สามารถไปรับได้ที่ร้านขายยาที่ร่วมโครงการหรือให้ส่งมาทางไปรษณีย์ก็ได้ ซึ่งสมาชิกที่เหลือต้องใช้ตรวจเชื้อทุกวันหลังจากนี้

กันตายไม่กันติดคือเรื่องจริง 

ในวันที่ 31 ม.คผลตรวจของหลานคนโตของผมออกมาว่าติดเชื้อแน่นอน แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือหานชายคนกลางก็ติดไปด้วย เรื่องนี้น่ากังวลมากเพราะอายุของเขาก้ำกึ่งระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ได้รับวัคซีน และมีน้ำหนักเกิน อาการของเขาหนักกว่าพี่ชายมากคือไข้ขึ้นสูง ตาลาย และหัวใจเต้นแรง พวกเราตัดสินใจเรียกรถพยาบาลมารับตัวไป หวังว่าจะได้แอดมิดรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หมอก็แค่ให้ยา แนะนำให้รักษาตามอาการแล้วปล่อยกลับบ้านเพราะที่อังกฤษถ้าอาการไม่หนักจริงๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เตียงแน่นอน จนกระทั่งวันที่ 3 ม.คหนึ่งในพี่สาวของผมมีผลออกมาเป็นบวกจากชุดตรวจ LFT  ถึงตอนนี้สถานการณ์ไม่น่าไว้ใจอีกต่อไป เราลงทะเบียนขอชุดตรวจจากรัฐบาลผ่านทางไปรษณีย์ (PCR Home Kite) จาก NHS และส่งกลับไปในวันนั้นเลย จุดนี้ถือเป็นข้อดีของอังกฤษที่ไม่กลัวยอดตัวเลขพุ่งสูงแต่อยากแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ป่วยให้ได้ก่อน อย่างไรก็ดีผลตรวจส่งกลับมาล่าช้ามากเพราะเป็นช่วงที่ผู้ติดเชิ้อในอังกฤษยังสูงมากและอยู่ในช่วงเพิ่งเปิดทำงานหลังจากหยุดยาว

กำหนการเดิมที่จะกลับเมืองไทยของพวกเราคือวันที่ 8 ม.ค 2022 ตามข้อบังคับของประเทศไทยจะต้องมีผลตรวจ RT-PCR  ก่อนขึ้นเครื่องบินภายใน 72 ชั่วโมง ผมจึงจอง RT-PCR แบบ Fit to Fly ในวันที่ 6 ม.ค. 2022 ให้กับสมาชิกที่จะเดินทางกลับ ทว่าในวันนี้ผมเริ่มรู้สึกว่าร่างกายไม่ปกติแล้วจึงตรวจ LFT ก่อนซึ่งผลออกมาเป็นบวก และบอกให้ทุกคนตรวจอีกครั้ง ผลปรากฏว่าสมาชิกเกือบทั้งหมดติดเชื้อโควิด19 จึงต้องลงทะเบียนตรวจ PCR Test แบบ On Site  อีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันผล ตอนนี้เหลือสมาชิกครอบครัวเพียง 3 คนที่ไม่ติดเชื้อคือแม่ของหลานชายที่ป่วยกลุ่มแรก หนึ่งในพี่สาวของผม  และสามีของน้องสาวพ่อของหลานชายคนเล็ก

จากที่คิดว่าเซฟอย่างดีที่สุดแล้ว เมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ประโยคที่ว่ากันตายไม่กันติดคือเรื่องจริง เพราะพวกเราได้รับวัคซีน Astrazeneca มาแล้ว 2 เข็ม บวกกับเข็มกระตุ้นคือ Moderna อีก 1 เข็ม ในช่วงที่ติดเชื้อก็น่าเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันสูงที่สุดก็ยังติด นั่นอาจจะเพราะว่าเราใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเป็นระยะเวลานานเกินไป

สำหรับผู้ติดเชื้อจะได้รับอีเมล์จาก NHS ที่บอกรหัสของผู้ป่วยและมีลิ้งค์ลงทะเบียน NHS Test & Trace ซึ่งจะถามประวัติส่วนตัว ประวัติการเดินทางและผู้ใกล้ชิด และจะกำหนดวันสิ้นสุดการกักตัว 10 วัน หากในวันที่ 6-7 ผลการตวจ LFT  ออกมาเป็นบวกติดกัน 2 วันก็สามารถออกจากบ้านได้ การลงทะเบียนนี้มีส่วนนี้สำคัญมากเพราะต้องใช้ในการขอใบรับรองแพทย์ในภายหลัง ในช่วงเวลากักตัวจะได้รับอีเมล์และข้อความหรือบางครั้งก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรหาเพื่อให้ความช่วยเหลือและซักประวัติหากกรอกข้อมูลไม่ครบ

เมื่อผมกลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอน 

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าอาการของโควิดโอไมครอนเป็นอย่างไร ผมได้ลองทำเช็คลิสต์อาการของตัวเองกับอาการตามสถิติของผู้ป่วยออกมาได้ดังนี้ 

ไอ- วันแรกๆ จะรู้สึกเหมือนมีก้อนเสมหะในคอ ปกติเป็นผมเป็นคนสูบบุหรี่อยู่แล้ว อาการแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดามากๆ แต่วันที่รู้ว่าติดเชื้อสัญชาตญานบอกเลยว่าไม่ปกติเพราะมีไข้ต่ำๆ รวมมาด้วย

มีไข้-  ผมมีไข้ต่ำๆ ส่วนหลานที่ไม่ได้วัคซีน มีไข้สูงมาก กินยารักษาตามอาการก็หาย

เจ็บคอ- เกิดขึ้นหลังจากอาการข้างต้น เหมือนนอนอ้าปากทั้งคืนแล้วคอแห้ง โดยรวมคือเจ็บแบบทนได้

ปวดกล้ามเนื้อ- มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว และปวดหลังส่วนล่าง 

มีน้ำมูก- จะมีช่วงวันท้ายๆ ก่อนหาย

ปวดศีรษะ- ผมไม่เป็นแต่สำหรับบางคนอาจจะเป็นก็ได้

หายใจลำบาก- เกิดขึ้นบ้างจากอาการคัดจมูก ไม่มีอาการแน่นหน้าอก

ได้กลิ่นลดลง- ไม่มีเลยรวมทั้งการรับรสก็เป็นปกติ

ส่วนอาการที่เพิ่มเข้ามาคือถ่ายท้องบ่อยในช่วงใกล้หาย ความจริงแล้วอาการของคล้ายไข้หวัดมากๆ ใช้เวลา 3 วันอาการก็เริ่มดีขึ้น เพียงแต่เชื้อตายจะยังคงอยู่ในร่างกาย จนกลายเป็นสาเหตุของความวุ่นวายที่จะตามมาในภายหลัง 

จงแยกจากเพื่อพบกันใหม่ 

การกักตัวที่อังกฤษห่างไกลจากนิยามที่ว่า ดูเน็ตฟลิ๊กซ์และนั่งซิลล์ไปมาก เพราะมีเรื่องให้คิดและตัดสินใจทุกวัน เพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกๆ 3 วัน กำหนดการกลับของแต่ละคนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เราต้องประสานงานกับทั้งสถานกงสุลไทยในลอนดอน โรงแรมเพื่อกักตัวที่เมืองไทย การทำเรื่องของใบรับรองแพทย์และเลื่อนตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ ไหนจะเรื่องการจัดสรรห้องพักให้กับสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ ทุกอย่างวุ่นวายและวนเวียนอยู่แบบนี้มาถึงจุดนี้เราอธิฐานให้ติดเชื้อพร้อมๆกันไปเลยดีกว่าเพราะเริ่มเข้าใจว่าการติดเชื้อโควิดโอไมครอนไม่ได้เลวร้าย แต่ความวุ่นวายเบื้องหลังมีมากกว่า 

เราตัดสินใจส่งคนที่ไม่ติดเชื้อกลับไทยตามกำหนดการเดิม แต่แม่ของเด็กๆที่ติดเชื้อกลุ่มแรกยืนยันว่าอยู่ดูแลและกลับพร้อมลูกๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง และเหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมื่อผลการตรวจ Fit to Fly  ออกมาว่าพี่สาวที่ผลการตรวจเคยเป็นลบกลับมาเป็นบวกไปเสียอย่างนั้น ทั้งที่เดินทางถึงสนามบินแล้วเราต้องตีรถกลับมากักตัวที่เบอร์มิงแฮมต่อ สรุปว่ามีคนกลับตามกำหนการเดิมได้แค่คนเดียว

ดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่ต้องแยกจากครอบครัว แต่ถ้าไม่แยกจากกันปัญหาจะยิ่งเรื้อรังและยาวนานกว่า เช่นกรณีนี้ที่พวกเราก็ไม่อยากให้เกิดคือกำหนดการกลับไทยของหลานชายที่ติดเชื้อกับแม่ของพวกเขาคือวันที่ 14 ม.ค. แต่ผลการตรวจ Fit to Fly ของแม่เด็กเกิดออกมาเป็นบวก ทำให้กำหนดกลับต้องถูกยืดออกไปอีก 10 วัน

ความแตกต่างเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด 19 ของไทยและอังกฤษ

เราตัดสินใจเก็บเรื่องนี้เป็นความลับไม่บอกครอบครัวที่เมืองไทยเพราะกลัวว่าจะเครียด เพราะการรับรู้เกี่ยวกับโควิด19 ของที่อังกฤษและไทยแตกต่างกัน ที่อังกฤษมองว่านี่เป็นเพียงโรคภัยไข้เจ็บที่รักษาหายได้ แต่ที่เมืองไทยโดยเฉพาะในความคิดของผู้ใหญ่โรคนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายและกลาย ‘ตราบาป’ สังคมรังเกียจ

ผมและครอบครัวตัดสินใจบอกแม่เมื่ออาการของทุกคนดีขึ้นแล้ว ซึ่งแม่ก็ยังไม่เชื่อใจคิดว่าเราทำตัวร่าเริงเพื่อทำให้ท่านสบายใจมากกว่า จากน้้นก็ขึ้นข้อความในโซเชียลมีเดียเพื่อแจ้งข่าวให้กับเพื่อนร่วมงานให้รู้โดยทั่วกัน เท่านั้นแหละ โทรศัพท์สายตรงจากเมืองไทยก็ดังขึ้น แม่ดูร้อนใจมากกับโพสต์นั้นเพราะกลัวว่าสังคมจะรังเกียจ ก็ต้องอธิบายกันยกใหญ่และแจ้งกลับไปว่ากำหนดกลับของพวกเราครั้งใหม่คือวันที่ 17 ม.ค. 2022 ขอให้ท่านสบายใจได้ แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกจนได้

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

ผลการตรวจ PCR Home Kit  เพิ่งมาถึงในวันที่ 9 ม.ค ว่าพวกเราติดเชื้อโควิดตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. แต่เราลงทะเบียนยืนยันตามผลวันที่ 6 ม.ค  ไปแล้ว เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมและสมาชิกบางส่วนไม่สมารถกลับไทยได้ตามกำหนด 

เราได้รับข้อมูลว่าเชื้อตายของโควิด19 จะยังวนเวียนในร่างกายเป็นเดือนๆ จึงยอมเสียเงินทำใบรับรองแพทย์กับคลีนิคเอกชนเพื่อยืนยันระยะเวลาการกักตัว ซึ่งจะยึดจากวันตรวจ PCR Test  ที่ลงทะเบียนเป็นหลัก เราอาจไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ก็ได้ถ้าผลตรวจ  Fit to Fly  ออกมาเป็นลบ แต่ถ้าเป็นบวกใบรับรองแพทย์จะมีความสำคัญมากๆ 

วันที่ 17 ม.ค. 2022 สมาชิก 9 คนมีกำหนดกลับเมืองไทย แต่ผมและสมาชิกอีก 3 คน โชคร้ายที่ผลการตรวจยังเป็นบวกอยู่แม้จะกักตัวครบ 10 วันแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีเรา เดินหน้าต่อไปพูดคุยกับสายการบินและยืนยันว่าระยะการกักตัวของเราครบแล้ว แต่ข้อกำหนดของประเทศไทย คือ 14 วันดังนั้นสายการบินยืนยันไม่ให้ขึ้นเครื่อง ผมพยายามยื่นผลตรวจ PCR Home Kit ว่าติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ก็ไม่เป็นผล ทางสายการบินแจ้งให้กลับมาใหม่ในวันที่ 20 ม.ค. 2022 จากทริปที่วางแผน ไว้ 17 วัน ตอนนี้ยาวนานร่วม 1 เดือนแล้ว ซึ่งเราส่งสมาชิกครอบครัวกลับบ้านได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น 

มหากาพย์หาทางกลับบ้านเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ

ผมและสมาชิกครอบครัวที่เหลือเดินทางกลับมาที่เบอร์มิงแฮมและวางแผนไปตรวจ Fit to Fly  ในวันที่ 18 ม.ค. 2022 ค่ำวันนั้นผลตรวจของทุกคนออกมาแบบมีทั้งลบและบวก ซึ่งเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะวันกำหนดกักตัวครบแล้ว ยกเว้นก็แต่พ่อแม่ของหลานที่ติดเชื้อกลุ่มแรกที่ต้องอยู่ต่อรอวันครบกำหนด แต่กลายเป็นว่าผลตรวจของผมออกมาว่า  Unclear หมายถึงผลกำกวมว่าติดหรือไม่ติดซึ่งอาจเกิดจากค่าต่างๆไม่สมดุล จนต้องย้อนกลับไปตรวจใหม่ด้วยเวลาที่ฉิวเฉียด และผลออกมาเป็นลบในที่สุด 

ผมเดินทางกลับถึงเมืองไทยในวันที่ 21 ม.ค. 2022 เข้าระบบ  Thailand Pass  และหมือนโชคชะตาเล่นตลก ผลการตรวจที่เมืองไทยของผมกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โชคดีที่เราตัดสินใจทำใบรับรองแพทย์ช่วยยืนยันว่าครบกำหนดการกักตัวแล้วจริงๆ ซึ่งแพทย์ก็วิเคราะห์ว่าเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในตัวเป็นเชื้อตายไม่สามารถแพร่ระบาดได้อีก และครบระยะเลากักตัวแล้ว ขณะที่มีกรณีของเพื่อนผมที่ติดเชื้อในฝรั่งเศส แล้วไม่ได้ทำใบรับรองแพทย์กลับมา จะต้องมากักตัวแบบนับหนึ่งใหม่ที่เมืองไทย ส่วนสมาชิกของครอบครัวอีก 2 คนก็ติดค้างอยู่ที่อังกฤษจนได้กลับเมืองไทยในวันที่ 24 ม.ค. และหลังจากนั้นก็ต้องได้รับการตรวจ PCR  อีกครั้ง ซึ่งสมาชิกบางคนก็กลับมีผลออกมาเป็นบวกจากเชื้อตายที่วนเนียนอยู่ในร่างกาย นี่คือความวุ่นวายที่สอนพวกเราว่า ออกนอกประเทศครั้ต่อไปคงต้องรอให้โรคระบาดหมดไปเสียก่อน 

Other Articles