Thursday, April 25, 2024

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ให้อิสระกับความคิดตัวเอง

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับหนังไทยในเวทีระดับโลกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน รางวัลมากมายที่เขาได้รับจากเทศกาลต่างๆ ชี้วัดถึงการยอมรับโดยดุษฎีในฝีมือการทำหนัง การได้พูดคุยกับเขาครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาแห่งความยินดีที่หนัง Memoria ได้รับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2021 ขณะรับรางวัลเจ้ยได้เผยความรู้สึกประทับใจผ่านถ้อยคำเพียงไม่กี่ประโยค รวมถึงวลีสั้นๆ ทว่าลือลั่นสั่นสะเทือนพอประมาณ “Long Live Cinema!” หลังจากผู้ชมต่างปรบมือชื่นชมหนังเรื่องนี้ในวันฉายรอบปฐมทัศน์

จากเด็กขี้อายแต่แอบดื้อสู่การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล เส้นทางบนแผ่นฟิล์มของเขาทั้งแน่วแน่และตรงดิ่งแบบไม่เขว “เราเติบโตเพราะพ่อแม่ให้อิสระด้วย ทำให้เราเลือกทางได้เอง เขาเป็นหมอ แต่บอกว่าอย่าเป็นหมอเลยเพราะอาชีพนี้ลำบาก ลำบากในที่นี้หมายถึงเขามีเวลาให้ครอบครัวน้อย เวลาส่วนตัวก็น้อยมาก ผมเชื่อว่าคนเราแต่ละคนเกิดมามันมี core อยู่แล้ว ถ้าครอบครัวเปิดโอกาสให้เราเห็นว่าแกนของเราเป็นยังไง เราก็จะหาได้เองว่าเราชอบอะไร” เจ้ยในวัย 51 ยังคงเลือกที่จะทำหนังในแบบฉบับของเขาโดยไม่คาดหวังว่าคนดูจะเข้าใจไหม หรือว่าติชมหนังของเขาอย่างไร นั่นเพราะเขาศรัทธาและไม่เคยด้อยค่า ‘อิสระ’ ทางความคิดของใคร โดยเฉพาะกับตัวเอง

เสียงตอบรับจากภายนอกที่มีต่อ Memoria กึกก้องมากทีเดียว แล้วเสียงข้างในตัวคุณเองล่ะ

“ส่วนตัวคือภูมิใจ มันเหมือนเราเดินผ่านหลักแล้วก็เดินต่อไป เหมือนเป็นไม้เท้าเวลาขึ้นเขาที่ดันให้เราขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง ยังไงก็เป็นหนังในรูปแบบที่เราเคยทำมา ไม่ได้ทำเพื่อใครเราค่อนข้างจะเป็นคนเปิดกว้าง คุณจะเลือกดูหรือไม่ก็แล้วแต่คุณเลย จากประสบการณ์ที่ทำหนังมาเรื่องแรกเรื่องที่สองจะดีใจมากกับเสียงตอบรับโดยเฉพาะเสียงที่เป็นบวกแต่พอมาเรื่องหลังๆ จะค่อนข้างเฉยๆ แล้ว

“จะบอกว่าหนังเรื่องนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็พูดยาก เพราะว่านี่คือเสน่ห์ของการทำหนังเหมือนกัน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันตรงกับสิ่งที่เราอยากจะถ่ายทอดไหมจนกว่าอาจจะปีหรือสองปี แล้วเราลืมรายละเอียดและกลับมาดูอีกที อ๋อมันเป็นอย่างนี้ ผมรู้สึกว่าหนังมันเหมือนมีชีวิตมันก็โตไปของมัน แล้วเราก็กลับมาเจอเขาใหม่ เพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องก็มีชีวิตของตัวเองแล้วจุดที่ผมจะมองว่าเรื่องนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ น่าจะเป็นเรื่องของมุมมองส่วนตัวว่าได้พูดความรู้สึกในช่วงนั้นๆ ของชีวิต หรือสะท้อนสิ่งที่เราอยากจะถ่ายทอดไหม”

กดดันไหมถ้าจะทำเรื่องต่อไป

“ไม่กดดันครับ เพราะเรื่องของเสียงภายนอกไม่ค่อยมีผลกับชีวิตเราเท่าไหร่ (ยิ้ม) หลายปีแล้วที่มันมีมาตลอดเรื่องของภาพยนตร์ โดยเฉพาะถ้าไปคานส์มันจะเหมือนแข่งม้าเลย เหมือนเราเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวเราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ถ้าได้ปาล์มทองคำแล้วมีแรงกดดันเรื่องต่อไปไหม จะบอกว่าไม่มีก็ไม่ได้ คือมันไม่ได้อยู่ในความคิดเราตอนที่เริ่มเขียนบทหรือทำงานเรื่องใหม่ เราก็เป็นตัวของตัวเองที่สุด”

คุณรู้สึกอย่างไรกับคำวิจารณ์และคำชม

“แน่นอนการได้รับคำชมเป็นแรงบันดาลใจ และบางครั้งเราได้เรียนรู้จากมันด้วยซ้ำ โดยเฉพาะจากนักวิจารณ์ที่เขาวิเคราะห์หนังเรา เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าหนังสามารถพูดแบบนี้ในมุมนั้นก็ได้ ความสวยงามของภาพยนตร์คือมันเปิดกว้างให้คนตีความ ไม่ได้ขีดเส้นใต้ว่าคุณต้องรู้สึกอย่างนี้ ถ้าวิจารณ์ด้านลบเราจะไม่ค่อยสนใจ เพราะว่าไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ในความรู้สึกผมนะ อาจจะช่วยให้มองในแง่มุมที่ว่าเราไม่สามารถเอาใจทุกคนได้”

แต่ชื่อคุณกลายเป็นไอดอลของผู้คนมากมายอย่างเลี่ยงไม่ได้ไปแล้วนะ

“เข้าใจครับ จะพูดยังไงดีล่ะ จริงๆ มันไม่ได้อยู่ในแผน ถ้าบอกตัวเองในอดีตจะตกใจและรู้สึกไม่สบายใจ เพราะว่าเรารักความเป็นส่วนตัวมาก แต่ในเส้นทางปัจจุบันเราต้องอยู่กับมัน ช่วงแรกๆ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผมปฏิเสธสื่อเยอะมาก เราไม่อยากเป็นคนดังเพราะว่ามันมาพร้อมกับการขาดความเป็นส่วนตัว และความคาดหวังของคนว่าเราต้องมีมาตรฐานการใช้ชีวิต มาตรฐานทางศีลธรรมคุณธรรม ซึ่งเรารู้ตัวว่าไม่ใช่คนที่ดีเด่อะไร เราอยากเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้อยากเป็นคนดี โดยเฉพาะอยู่ในประเทศที่มีการย้ำเสมอเรื่องความดีงาม เนี่ยจะค่อนข้างอึดอัดในความรู้สึกผมนะ”

แล้วมาตรฐานในแบบของเราเองล่ะคะ

“เราพยายามจะซื่อสัตย์กับตัวเอง แค่นี้ก็ยากแล้วนะ (ยิ้ม) และเพื่อเมกชัวร์ว่าคนรอบข้างเราไม่มีปัญหา หมายความว่าถ้าเราลำบากก็ช่วยกัน ผมพยายามวิเคราะห์ตัวเองว่าเราเกิดมาในประเทศนี้ เรียกได้ว่าถูกเทรนมาเพื่อไม่ให้ซื่อสัตย์กับตัวเองในบางครั้ง เริ่มจากการท่องจำบทเรียน หรือการที่เราต้องเชื่ออะไรบางอย่าง เราพูดอย่างที่อยากพูดไม่ได้ เพราะเราจะรู้สึกผิดว่ามันไม่ตรงกับที่ถูกสอนมา อะไรแบบนี้ มันมีหลายมิติมาก”

คุณอยู่กับอาชีพนี้มานานกว่ายี่สิบปีแล้ว มันสอนอะไรคุณบ้าง

“โห ขอบคุณประสบการณ์ทุกอย่าง แม้แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นบางทีเราก็ต้องขอบคุณ เพราะว่ามันจะพาเราไปอีกที่หนึ่ง คือเราตั้งเป้าไว้อย่างนี้แล้วมันไม่ได้โดยเฉพาะการทำหนังทุนต่ำ การทำหนังส่วนตัวเนี่ยเราคุมไม่ได้เลย ไม่สามารถที่จะคาดหวังหลายๆ อย่างได้ เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับและขอบคุณมันด้วยซ้ำ

“การทำหนังเหมือนการสร้างโลกเสมือน ผมว่ามันคือเสน่ห์ของอาชีพนี้ เราต้องดูรายละเอียดของโลกนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่อยู่ในโลก สิ่งของ เสื้อผ้า ภาษาที่ใช้ มันคือการมองทุกดีเทลความเป็นอยู่ของโลกนี้เลยเพื่อที่จะสะท้อน การทำหนังแต่ละเรื่องมีรายละเอียดต่างกัน เพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องเราจะได้เรียนรู้ความทรงจำของเรา อย่างเรื่อง Memoria ต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลยว่าเขาพูดกันยังไง เขามีความคิดแต่ละด้านยังไง ซึ่งมันวิเศษมากที่มีโอกาสได้ทำหนังเรื่องนี้”

ในบรรดาหนังทั้งหมดของคุณเรื่องไหนที่ภูมิใจมากที่สุด

“แสงศตวรรษ เพราะเป็นเรื่องที่ทีมงานแฮปปี้มากในกองถ่าย เป็นเรื่องที่เราจะพูดว่าดีก็ไม่ได้นะ แต่เป็นสิ่งที่เราอยากจะจำหรือว่าจินตนาการ แล้วก็เป็นการยำระหว่างความทรงจำของพ่อแม่เรากับตัวเราในหนังเรื่องนั้น ผมมองว่ามันเป็นหนังที่สวยงามในความทรงจำ”

พอย้อนดูหนังเก่าๆ คุณเห็นอะไรในตัวเอง และอยากแก้ไขหรือเปล่า

“ไม่ต้องแก้ไข เพราะว่าคนละคนแล้วครับ ผมมองว่าแต่ก่อนเรามีความอดทนมากกว่าปัจจุบัน รู้สึกว่าหนังจะมีความเชื่องช้ามากกว่า อาจเป็นเพราะเรายึดติดกับปรัชญาอะไรบางอย่างของภาพยนตร์ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันเราค่อนข้างจะทิ้งปรัชญาทั้งหลายแล้วทำสิ่งที่อยากทำ มันเลยไม่แข็งเหมือนสมัยก่อน ที่ว่าแข็งก็เพราะมันเข้มด้วยปรัชญาของภาพยนตร์ ที่เข้มสุดน่าจะเรื่อง ‘สุดเสน่หา’ เป็นหนังที่มีกฎของตัวเองเยอะ คือจะมีความเซนมากๆ ที่ตั้งกฎขึ้นมาครอบตัวเอง ถ้าเป็นคนก็เหมือนกำลังเดินจงกรมนิ่งๆ ไม่ค่อยสบายเท่าไหร่ คือตั้งใจให้นิ่ง (หัวเราะ) มันเป็นการร้อนวิชามากกว่า อาจจะสนุกกับการได้ทดลอง”

คุณอยากเห็นหนังไทยเติบโตแบบไหน

“ผมมองว่าหนังเหมือนคนนะ ในแง่ของสิ่งที่เราสร้างมันก็สะท้อนถึงสังคมในระดับหนึ่ง สิ่งที่อยากเห็นคือการเปิดกว้างและความหลากหลายของภาพยนตร์ คือมันจะสะท้อนภาพสังคมที่เราอยู่ว่าเรามองเสรีภาพยังไง แต่ผมว่าช่วง 10-20 ปีนี้มันเปลี่ยนเร็วเหมือนกัน ถ้าเป็นยุคก่อนมันจะถูกปิดมาก หนังต้องทำหน้าที่อะไร ภาครัฐจะบังคับแล้วว่าหนังจะต้องแสดงถึงความดีงาม คุณจะบอกว่าตำรวจเป็นผู้ร้ายในหนังไม่ได้ สุดท้ายต้องพลิกกลับว่าตำรวจช่วยเหลือประชาชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือหนังที่สะท้อนความจริง เพราะมันคือหลักฐานในอนาคตที่จะบอกว่าเรื่องนี้เราพูดได้ในภาพยนตร์ เรื่องนี้เราพูดไม่ได้ มันก็จะตามสังคมไป เพราะมันคือกระจก”

แสดงว่าถ้าวันหนึ่งทุกอย่างสวยงามไปหมด หนังจะออกมาแบบดูแล้วยิ้มใช่ไหม

“ไม่ๆ คือเรามองว่ากระจกต้องใสขึ้น และไม่ว่าคนจะอยู่ในโลกที่หนึ่งหรือโลกที่สาม ยังไงก็มีความทุกข์ หรือ suffer ในชีวิตอยู่ดี เพราะมันคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ทุกข์จากความรัก จากการเงิน หรืออะไรก็ตาม หนังต้องสะท้อนถึง ถ้าจะพูดว่าหนังต้องยิ้มอย่างเดียว ผมรู้สึกว่าเนี่ยเป็นหนังในยุคปัจจุบัน ถูกบังคับให้ยิ้ม ถูกบังคับว่าตำรวจต้องดี นักการเมืองต้องดี หรือนักการเมืองต้องเลวแต่ถูกยิงหรือเข้าคุกในตอนหลัง ซึ่งชีวิตจริงไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เพราะฉะนั้นหนังต้องบอกมุมมองความจริง สะท้อนความเป็นมนุษย์ว่ามีโลภ โกรธ หลง และเรามีเสรีภาพที่จะพูดประเด็นนี้ได้

“ถ้าภาพยนตร์ต้องบันเทิงเท่านั้น อันนี้เราขอแย้งว่าไม่จำเป็น การนิยามคำว่าบันเทิง ทำไมบางคนอ่านนิยายแล้วเศร้าเหลือเกิน คือเป็นมาสเตอร์พีซของนิยาย แต่ทำไมเราถึงชอบ เราบันเทิงจากความขมขื่น เราเข้าใจก้นบึ้งของความเป็นมนุษย์ บางทีเราได้ความบันเทิงจากสิ่งที่ไม่ต้องหัวเราะก็ได้ ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์เป็นแบบนั้น”

ถ้าเปรียบชีวิตตัวเองเป็นหนัง คุณคิดว่าน่าจะอยู่ในประเภทไหน

“อาจจะเป็นหนังมินิมัล คือถ้ามองมุมนึงก็น่าเบื๊อน่าเบื่อ หากมองอีกมุมก็น่าสนใจในความเรียบง่ายของมัน แต่พออยู่กับตัวเองก็ไม่ง่ายเหมือนกันนะ เพราะเป็นคนคิดเยอะ คิดโน่นคิดนี่หลายเรื่อง เรื่องงาน เรื่องสังคม”

คุณสนใจแทบจะทุกความเป็นไปในโลกซึ่งอาจทำให้เครียดได้ รู้สึกว่าเราแบกเยอะไปไหม

“เป็นไปได้ แต่บางทีเราจะไปต่อต้านความสนใจหรือความชอบแบก มันก็อึดอัดเหมือนกัน ช่วงหลังๆ เลยโอเค เหมือนเข้าใจว่าธรรมชาติเราเป็นแบบนี้ (คือแบกไว้ยังดีกว่า?) เพราะเราชอบแบก (หัวเราะ)”

ถ้าไม่ใช่ศิลปะ ไม่ใช่หนัง คุณเจ้ยยังสนใจอะไรอีกบ้าง

“อยากวาดรูป เขียนหนังสือ ถ้าพูดก็คืออยากเดินทางแล้วบันทึกไปเรื่อย เพราะว่าตอนที่ทำ Memoria เราได้เริ่มเขียนบันทึกแล้วก็สเก็ตช์ภาพ”

ยามว่างล่ะคะ ชอบทำอะไร

“เลี้ยงหมาครับ แล้วก็อ่านหนังสือ ผมจะอ่านหลายๆ เรื่องพร้อมกัน เป็นพวก non-fiction บวกกับ fiction ถ้า non-fiction ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการแพทย์ โดยเฉพาะการทำงานของสมอง โชคดีที่อยู่เชียงใหม่นอกเมือง ผมจะชอบไปน้ำตกที่อยู่ใกล้บ้านแถวแม่สา ไปนั่งปิกนิก กินไก่ย่าง มันเป็นเหตุผลที่เราออกจากกรุงเทพฯ ด้วยแหละ พออยู่กับธรรมชาติแล้วมันสงบ”

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ

“การไม่ถูกบังคับมั้ง ซึ่งก็คือการมีเสรีภาพนั่นแหละ”

คุณไม่สนใจจะเป็น เอ่อ… พวก ส.ส. บ้างเหรอ

“โห มายก๊อด อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนขี้อาย การเป็นคนมีชื่อเสียงอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราต้องการเลย จริงๆ ก็มีคนติดต่อมา แต่เรารู้สึกว่านั่นเป็นการพยายามที่จะทำ ซึ่งขัดกับความเป็นธรรมชาติของเรา เพราะว่าเราชอบทำอะไรที่ไม่ต้องพยายาม นี่เป็นปรัชญาเหมือนกัน ทำไปตามที่คอมมอนเซนส์จะพาเราไป ตราบใดที่คอมมอนเซนส์เราบอกว่า อ๋อ ฉันต้องเป็น ส.ส. แล้ว อันนี้ก็คือเดินเข้าไปหาเลยแล้วบอกว่าฉันอยากเป็น”

Other Articles