
นอกจากความรักจะเป็นจุดเริ่มต้นของเมซง แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ (Van Cleef & Arpels) แล้ว จะบอกว่าปีนี้เป็นปีพิเศษของความรักก็ได้กระมัง เพราะหลังจากส่งคอลเลกชั่นจิวเวลรี่ชั้นสูงในชื่อ Romeo & Juliett ออกมาเมื่อกลางปี 2019 ทาง แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ ยังขอนำเสนอคอลเลกชั่นนาฬิกาแห่งรักออกมาช่วงปลายปีที่ผ่านมา และแรงบันดาลใจพิเศษยังมาจากปารีส มหานครแห่งความรักสุดโรแมนติก โดยเฉพาะผลงานไฮไลต์ Pont des Amoureux หรือนาฬิกาสะพานคู่รัก
ผลงานไฮไลต์มีชื่อเต็มๆ ว่า Lady Arpels Pont des Amoureux หรือ นาฬิกาสะพานคู่รัก จัดเป็นนาฬิกาคอมพลิเคชั่นหรือกลไกซับซ้อนที่ให้ความสำคัญกับ story telling และความงดงามเหนืออื่นใด แตกต่างจากคอมพลิเคชั่นดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่น โดยเข็มนาฬิการูปคู่รักของนาฬิการุ่นนี้จะค่อยๆ เดินมาจุมพิตกันให้หายคิดถึงบนสะพาน ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งนั่นหมายความว่า ทั้งสองจะได้พบและจุมพิตกันทุกเที่ยงวันและเที่ยงคืน ดังจะเห็นได้จากวิดีโอแอนิเมชั่นข้างล่างนี้
หลังจากเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2010 ผลงาน Lady Arpels Pont des Amoureux รุ่นใหม่นี้แตกต่างด้วยฟังก์ชั่นที่ทำให้ผู้เป็นเจ้าของเลือกให้คู่รักเดินทางมาเจอกันได้ทุกเมื่อแบบออนดีมานด์ ด้วยระบบเข็มตีกลับหรือเรโทรเกรดหรือเข็มตีกลับของกลไกอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยเข็มรูปผู้หญิงทำหน้าที่แสดงชั่วโมง และเข็มรูปผู้ชายแสดงนาที และล่าสุด หน้าปัดซึ่งเป็นแบ็กกราวด์ยังตกแต่งด้วยเทคนิคการลงยาที่เรียกว่า grisaille โดยมีให้เลือกทั้งฉากในยามกลางวัน หรือฉากในยามกลางคืน เทคนิคนี้เป็นวิธีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 แต่ก็ช่วยเติมเต็มความงดงามให้กับนาฬิการ่วมสมัยที่มีฉากสะพานโรแมนติกในกรุงปารีสที่ทุกคนถวิลหาได้อย่างวิจิตรงดงาม
“มันเป็นเรื่องราวสากลและเข้าถึงทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากวัฒนธรรมไหนครับ การที่คู่รักได้มาเจอกันบนสะพานเป็นไอเดียที่แสนโรแมนติก ทั้งยังเป็นความจริงและเต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึก ซึ่งไม่ว่าใครก็เข้าใจได้”
นิโกลาส์ บอส ซีอีโอแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์
นอกจากรุ่นปกติแล้ว Lady Arpels Pont des Amoureux ยังนำเสนอผ่านสี่รุ่นพิเศษ บอกเล่าเรื่องราวของคู่รักท่ามกลางฉากหลังที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลทั้งสี่ นอกจากหน้าปัดลงยาซึ่งแปรเปลี่ยนไปแล้ว สายรัดข้อมือยังประดับประดาด้วยเพชรและไพลินสีสันต่างๆ ด้วยเทคนิคแบบสโนว์เซ็ตติ้ง และที่เรียกได้ว่าเป็นเซอร์ไพรส์ก็คือ ผลงาน Pont des Amoureux สำหรับผู้ชายที่สร้างขึ้นด้วยสปิริตเดียวกัน และปรับตัวเรือนให้มีขนาดใหญ่เหมาะกับผู้ชาย
เรายังได้มีโอกาสไปเยือนโรงงานผลิตนาฬิกาของ แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์อันละเอียดอ่อน อย่างการทำงานของช่างลงยาบนหน้าปัดซึ่งต้องค่อยๆ ลงสีทีละชั้นเพื่อนำเข้าเตาเผาความร้อนสูงทีละสี การแสตมป์สีลงยาเป็นตัวเลขบนหน้าปัด ไปจนถึงแนวคิดในการพัฒนากว่าจะมาเป็นผลงานใหม่ อย่าง Lady Arpels Pont des Amoureux รุ่นสี่ฤดูกาลนั้น นอกจากฉากในเมืองที่เปลี่ยนสีสันไป เสื้อผ้าของคู่รักก็เปลี่ยนไปด้วย รวมถึงท่าทางการวางตำแหน่งของมือ ทั้งการล้วงกระเป๋า จับกระโปรง หรือกางแขนออก รวมถึงมือของผู้ชายซึ่งข้างหนึ่งซ่อนกุหลาบไว้ข้างหลัง ทีมงานเล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกเราคิดว่าจะให้มืออีกข้างซ่อนอยู่ข้างหลังด้วย แต่มาคิดอีกที เราอยากให้เห็นมืออีกข้างหนึ่งด้วยเพื่อที่ชายหนุ่มจะได้ไม่ดูเขินเกินไป”
หรือแม้แต่การเคลื่อนตัวของเข็มคู่รัก ซึ่งถ้าในโหมดปกติ จะค่อยๆ ขยับมาจุมพิตกันทุกเที่ยงวันหรือเที่ยงคืนและคงอยู่ท่านั้น 3 นาที แต่ถ้าคุณกดปุ่มออนดีมานด์ ทั้งสองจะเคลื่อนเข้าหากันอย่างรวดเร็ว แล้วค่อยๆ ชะลอก่อนจุมพิตกัน ด้วยฟังก์ชั่นใหม่นี้เอง ทำให้ แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ ร่วมด้วย ฌอง-มาร์ก วีเดอร์เรกต์ แห่ง Agenhor ผู้พัฒนากลไก ต้องดีไซน์เพิ่มชิ้นส่วนเข้าไป ทำให้ผลงานใหม่นี้มีชิ้นส่วนมากถึง 339 ชิ้น ในขณะที่รุ่นเดิมมี 172 ชิ้น
มร. นิโกลาส์ บอส ซีอีโอของแบรนด์บอกว่า “เราเพียงแค่อยากบอกเล่าถึงนาฬิกาของเราด้วยวิธีที่เหมาะและเข้าถึงอัตลักษณ์กับแบรนด์ของเรา แต่แค่ไม่เคยจัดงานนาฬิกาใหญ่แบบนี้ (ปกติจะเป็นจิวเวลรี่) ครั้งนี้จึงไม่เป็นเพียงการฉลองออกคอลเลกชั่นใหม่ แต่ยังเป็นการตอกย้ำความเป็นมา และสื่อถึงแนวทางการสร้างสรรค์นาฬิกาของเราที่ไม่เหมือนใคร”