
เชื่อว่าคนปกติส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อ แม็กซ์ บุสเซอร์ มาก่อนซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่สำหรับคนในวงการนาฬิกา เขาเป็นคนหัวก้าวล้ำคนหนึ่งจนเก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆ มากมายทั้งที่ตัวเขาเองก็ไม่ใช่วอทช์เมกเกอร์แต่อย่างใด ในวงการนาฬิกาที่ครองตลาดโดยแบรนด์เก่าแก่ที่เราแสนจะคุ้นเคย แบรนด์ MB&F ที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 ปีก่อนสามารถสร้างชื่อด้วยผลงานอันโดดเด่น หาใช่เพราะแผนมาร์เก็ตติ้งทุ่มเงินโปรโมตแต่อย่างใด (หรือจเรียกว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งแบบไร้มาร์เก็ตติ้งได้ไหม ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน)
ฉันได้สัมภาษณ์ผู้ชายคนนี้มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เขาออกผลงานชิ้นที่สองที่ชื่อ HM2 และส่วนใหญ่ ฉันก็มักจะเขียนถึงนาฬิกาของเขาเป็นหลักเพราะพื้นที่หน้ากระดาษในนิตยสารนั้นช่างจำกัดเสียเหลือเกิน แต่ในความเป็นจริง ตัวเขาเองก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะ ไม่อย่างนั้นเขาจะสร้างแบรนด์ที่แหวกแนวกกว่าใครนี้ขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ จริงไหม แถมเขายังคว้ารางวัล Prix Gaia ในด้าน entrepreneurship มาครองเมื่อสองปีก่อน (แม็กซ์ในวัย 50 ปีถือว่าอายุยังน้อยเมื่อเทียบกับผู้บริหารทั้งหลายที่กรำศึกในสมรภูมินาฬิกามานาน) เพราะฉะนั้น ฉันคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ฉันควรจะเขียนถึงตัวผู้ชายคนนี้เสียที
แม็กซ์คือใครกัน
“ผมไม่ใช่สตีฟ จ็อบส์” แม็กซ์ให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดตอนที่เดินทางมาเปิดตัวผลงานใหม่ Thuderstorm ที่กรุงเทพฯ เขาบอกว่าสิ่งที่เขาทำไม่อาจเทียบเขากับสตีฟ จ็อบผู้ปฏิวัติวงการไอทีได้ งั้นฉันขอยกให้เขาเป็นทอม ฮิดเดิลสตันแห่งวงการนาฬิกาก็แล้วกัน เพราะพูดจาน่าฟัง ช่างอธิบาย ฉลาด สุภาพ น้ำเสียงทุ้มเบาจนเพลงในร้าน Laduree แทบจะกลบเสียงของเขาไปแล้ว
แม็กซิมิเลียน บุสเซอร์ เป็นลูกครึ่งสวิส-อินเดีย คงเพราะเป็นลูกคนเดียวก็ทำให้เขาต้องเหงาและเล่นคนเดียวมาตั้งแต่เด็ก เขาเล่าถึงวัยเด็กว่าเป็นคนขี้อาย เข้าสังคมไม่เก่ง ออกจะซึมเศร้าและอัดอั้นตันใจในหลายๆเรื่อง แล้วเขาเติบโตกลายมาเป็นพ่อเชคสเปียร์ได้อย่างไรน่ะหรือ? เอาเป็นว่าการตกหลุมรักนาฬิกา และการมีครอบครัวทำให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนไป (ขอย้ำนะว่า ค่อยๆ) “ผมก็เคยเป็นเด็กหนุ่มที่ต้องการความมั่นคง เพราะผมเอง low self-esteem ไม่ค่อยรักตัวเอง ไม่มีโซเชียลสกิล ผมเลยต้องการความมั่นคง ถ้าไปถึงจุดหนึ่งที่ปรากรถนาได้ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่พอไปถึงจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน ฌอง โคล้ด บีเวอร์ เคยบอกว่า ถ้าขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วก็ต้องปีนต่อไป ผมนี่แบบ อะไรนะ ปีนต่อเหรอ”

ทำไมคุณชอบนาฬิกา คำถามง่ายๆ แต่เล่าได้ยาวเชียวล่ะ “ผมหลงทาง และมันมาเจอผม ผมเคยอยากเป็นนักออกแบบรถยนต์ แต่ไม่มีเงินจะเรียนอะไรแบบนั้น ก็เลยเรียนวิศวรกรรม แล้วก็รู้สึกซึมเศร้า แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันเรียกว่า depression แค่รู้สึกเครียด เกลียดสิ่งที่เรียน ไม่ชอบตัวเอง ไม่รู้จะทำอะไร แต่มาเจอนาฬิกาโดยบังเอิญ’
“เมื่อสามสิบปีก่อน วงการนาฬิกาไม่น่าตื่นเต้นเลย ตอนที่ยังเรียนวิศวะอยู่ ผมส่งจดหมายไปหาแบรนด์ต่างๆ ว่าทำไมคนถึงยังอยากซื้อเทคโนโลยีที่สุดแสนจะล้าสมัยแบบนี้กันอยู่ เพราะ มีซีอีโอแบรนด์หนึ่งเขียนตอบมาแล้วให้ผมไปเจอเพื่ออธิบายให้ฟัง เขาบอกว่า ‘เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้มีความหมาย วันหนึ่งมันอาจจะหายไปก็ได้ แต่สิ่งที่เราทำมันสวยงาม’ มันเป็นครั้งแรกในชีวิตของนักศึกษาวิศวกรรมที่คิดแต่เรื่องจะทำยังไงให้ราคาถูกและได้ประสิทธิภาพ มาได้ยินคนพูดถึงเรื่องความงาม และอีกเรื่องที่โดนใจผมก็คือเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในนาฬิกา ถ้าเราไม่สานต่อ ความรู้ที่สั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่นจะสูญหายไป เพราะมันไม่มีเขียนไว้นตำรา แต่ถ่ายทอดกันในครอบครัว”
ก้าวเข้าสู่โลกนาฬิกา
หลังเรียนจบ แม็กซ์ บุสเซอร์ผู้เติบโตมากับแนวคิดโซโรแอสเตอร์ที่เชื่อในหลัก คิดดี พูดดี ทำดี ได้เข้าสู่โลกนาฬิกาเมื่อเจอกับซีอีโอแบรนด์ ที่ลานสกี Jaeger-LeCoultre โดยทำงานที่แรกในตำแหน่งโปรดักต์ แมเนเจอร์ “มีสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ตอนทำงานใหม่ๆ ที่ JLC ซึ่งทำให้ผมมีโอกาสทำงานกับอัจฉริยะอย่าง กุนเธอร์ บลุมไลน์ (ผู้คืนชีพให้แบรนด์ A. Lane & Sohne และขายให้ค่ายริชมอนด์ เขาจากไปเมื่อไม่นานมานี้) หน้าที่ผมตอนนั้นคือพรีเซนต์และดีเฟนด์โปรดักต์ที่จะออก วันหนึ่ง ผมไม่เห็นด้วยกับเขา ปกติก็จะไม่มีใครกล้าเท่าไหร่ ก็ดูเขารำคาญผมนะ แต่ผ่านไปหลายชั่วโมง เขาก็บอกมผมว่า ‘มร. บุสเซอร์ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยหรอกนะ’ ผมจำขึ้นใจ ถ้าคุณจะสร้างสิ่งที่ครีเอทีฟ อย่าเที่ยวไปถามใครว่าคิดอะไร จงทำในสิ่งที่คุณเชื่อ แต่ผมก็พยายามคงความเป็นเผด็จการที่ตื่นรู้แล้ว คือผมคิด ถามคนอื่น แต่ผมไม่เคยให้ใครมาตัดสินแทนผม มีแต่วิธีนี้นี่แหละ เพราะถ้าคุณฟังและตามทุกคน มันก็จะกลายเป็นการประนีประนอมซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของการสร้างอะไรใหม่ๆ”
หลังจากนั้น เขาก็ไปต่อยังแบรนด์ Harry Winston โดยรับตำแหน่งซีอีโอ ตอนนั้น สถานะของแฮร์รี่ วินสตันก็กำลังง่อนแง่น แต่แม็กซ์ได้เข้าไปทำให้แบรนด์กลับมายืนหยัดได้ใหม่ ทั้ยังทำให้แบรนด์จิวเวลรี่อเมริกันรายนี้มีชื่อในโลกนาฬิกา โดยเฉพาะจากโปรเจ็กต์สุดล้ำอย่าง Opus คอลเลกชั่นนาฬิกาหน้าตาแหวกขนบ โดยผลงานแต่ละรุ่นเป็นเกิดจากการร่วมงานกับวอทช์เมกเกอร์ชื่อดัง มันคล้ายๆ กับการปูทางไปสู่การก่อตั้งแบรนด์ของเขาเองในชื่อ MB&F ในเวลาต่อมา
เราถามว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องทำหน้าที่นำพาแบรนด์ต่างๆ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต เขาบอกว่า “ผมคงไม่สามารถก่อตั้ง MB&F ได้ถ้าผมไม่เคยทำงานกับ JLC และ HW ในช่วงวิกฤตมันลำบากมากจริงๆ แต่อะไรที่ฆ่าคุณไม่ได้มีแต่จะทำให้คุณแกร่งขึ้นนะ และมันทำให้ผมมีความกล้าที่จะเปิดบริษัทของตัวเอง ถ้าไม่ผ่านจุดนั้นมา ผมอาจกลัวก็ได้ สำหรับ MB&F เราลำบากกันนาน 4 ปี ตอนนี้ผมนิ่งมาก ผมรู้ว่ามันจะมีเรื่องแย่เกิดขึ้น แต่ผมจะรับมือกับมันเหมือนกับที่รับมือกับปัญหาอื่นๆ ในชีวิต” ในชีวิตจริง อาจมีสิ่งที่เราอยากทำมากมาย แต่เขาบอกว่าเราต้องรู้จักเลือก “ทำในสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกภูมิใจในภายหลัง” คือคติของเขา “ความภูมิใจมักมาพร้อมกับความกล้าเสี่ยง ทำอะไรง่ายไม่ทำให้ภูมิใจ แต่ทำอะไรที่เรียกได้ว่าปฏิวัตินี่สิ… จริงๆ ทุกคนก็มีความภูมิใจต่างกัน ผมแค่อยากมองย้อนกลับไปแล้วบอกตัวเองได้ว่า นายทำดีแล้ว”
MB&F ค้นพบกับผองเพื่อน
“MB&F คือครีเอทีฟแล็บ ตัวผมมีไอเดีย แต่มันก็จะเป็นแค่ไอเดียถ้าผมไม่ได้พบเจอกับคนเก่งๆ ในชีวิตนี้ ก็เลยเป็นที่มาของแบรนด์ซึ่งย่อมาจาก Max Busser & Friends โดยเพื่อนๆ ของผมจะเป็นคนแปรเปลี่ยนไอเดียหลุดโลกให้ออกมาเป็นผลงานครับ” แม็กซ์อธิบายถึงที่มาของแบรนด์ที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2006 และปัจจุบันมีตลาดใหญ่อยู่ที่อเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และเจนีวา ทั้งยังมี “เราเป็นบริษัทที่ใช้เงินทุนตัวเอง ไม่มีผู้ถือหุ้น ใช้เงินเก็บที่ผมมีตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน ผมก็ต้องมั่นใจว่าบริษัทจะอยู่ได้ เมื่อเปิดตัวโปรดักต์ก็ต้องขายได้ และก็ไม่ต้องการขยายบริษัทไปกว่านี้ เรามีรายได้เท่าเดิมมาตลอด”
ก่อนหน้าที่เราจะได้ยินคำว่าธุรกิจสตาร์ทอัพกันหนาหูในทุกวันนี้ MB&F เป็นแบรนด์นาฬิกาสตาร์ทอัพแรกๆ (แต่คนในวงการเรียกแบรนด์ทำนองนี้ว่าแบรนด์อิสระ) ที่เข้ามา ‘disrupt’ วงการนาฬิกาด้วยแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะด้วยดีไซน์ที่เหมือนสถาปัตยกรรมเคลื่อนไหว แนวคิดในการคอลลาบอเรชั่นและเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวคิดในการออกแบบ และปรัชญาของแบรนด์ที่ทลายทุกกฏเกณฑ์ที่เคยมีมา นอกจากผลงานของแบรนด์ตัวเองแล้ว ยังมีโปรเจ็กต์คอลลาบอเรชั่นสร้างสรรค์จักรกลที่ไม่ใช่นาฬิกาข้อมือ เช่น การร่วมงานกับโรงงานนาฬิกาคล็อก L’Epee 1839 หรือโรงงานกล่องดนตรีอย่าง Reuge รวมไปถึงการเปิด M.A.D. Gallery ในเมืองต่างๆ เพื่อวางจำหน่ายงานศิลปะและดีไซน์ของศิลปินต่างๆที่เขาชื่อนชอบ
ผลงานของ MB&F นั้นช่วยเปลี่ยนมุมมองที่คนมีต่อนาฬิกาที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเครื่องบอกเวลา หากแต่เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่า โดยมีทั้งคอลเลกชั่นดีไซน์ล้ำอนาคตอย่าง Horological Machine (HM) คอลเลกชั่นล้ำๆ ภายใต้รูปโฉมคลาสสิกเหมือนคนในยุคอดีตจินตนาการถึงอนาคตอย่าง Legacy Machine (LM) อย่างตอนที่เราเจอเขาครั้งล่าสุด เขาเดินทางมาแนะนำผลงานที่มีชื่อว่า Legacy Machine Thunderdome ซึ่งเป็นการโคจรมาพบกันของสองวอทช์เมกเกอร์ผู้ยิ่งใหญ่ คือ Kari Votilainen วอทช์เมกเกเกอร์สายคลาสสิกชื่อดังที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและร่วมงานกับแม็กซ์มา 7 ปีแล้ว และ Eric Coudray ซึ่งเขารู้จักมาตั้งแต่สมัยที่ทำงานที่ JLC “จะบอกว่าอีริกเป็นวอทช์เมกเกอร์ไม่กี่คนในรอบหนึ่งร้อยปีนี้ที่ประดิษฐ์คอมพลิเคชั่นขึ้นมาใหม่ก็ได้ เขาได้ประดิษฐ์ เอสเคปเมนต์ Gyrotourbillon หรือทูร์บิญงที่มีหลายแกนให้กับ JLC และออกมาเป็นาฬิกาในปี 2005 เป็นครั้งแรกที่เราหัวใจของนาฬิกาหมุนได้ ซึ่งแต่เดิมจะวางตัวแนวราบ ตอนที่ผมเห็นครั้งแรก คิดว่าบ้าไปแล้ว เป็นเอสเคปเมนต์ที่บ้าคลั่งที่สุด”
ภายในนาฬิกาทรงโดมนี้ส่งให้เอสเคปเมนต์ขนาดใหญ่แต่ผลิตจากไทเทเนียมน้ำหนักเบาหมุนอยู่อย่างงดงาม นี่คือหัวใจของนาฬิกา “ปกติบาลานซ์วีลจะแบน นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นโดมบาลานซ์วีล และเชื่อมเข้ากับ cylindical hairspring ซึ่งปกติจะแบน แต่นี่เป็นทรง cylinder กรงทั้งสามหมุน หนึ่ง 20 วินาที อีกอัน 12 นาที อีกอัน 8 วินาที พลังงานถูกส่งมายังหน้าปัดที่เอียง 45 องศาผ่าน conical gear ซึ่งก็บ้าคลั่งมาก ไม่ค่อยมีใครทำ และถ้าเห็นดีไซน์ของคาริ มันเป็นอีกเลเวลหนึ่งเลย คุณไม่ค่อยได้เห็นงานที่เนี้ยบขนาดนี้ในผลงานยุคใหม่ มันทำให้นึกถึงนาฬิกาพกสมัย 1840s การขัดแต่งก็ประณีต เป็นงานแฮนด์เมด” เมื่อถามเหตุผลในการสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา “ไม่มีครับ แค่อยากมี kinetic sculpture บนข้อมือที่ทำให้อ้าปากค้าง” มีเรื่องหนึ่งที่ฉันสงสัยแต่ไม่เคยถาม เคยมีคนเตือนฉันว่าอย่าได้ทำงานกับเพื่อนเด็ดขาดหากไม่อยากเสียเพื่อน แต่การที่เขาทำงานกับเพื่อมาเป็นเวลา 14 ปีแล้วเป็นอย่างไร แล้วยิ่งถ้าเขาต้องแสดงความเป็นบอสของเพื่อนตัวเองขึ้นมา เขาทำได้อย่างไร “เพื่อนในที่นี้ ไม่ใช่เพื่อนที่เกิดจากการแฮงก์เอาต์ด้วยครับ แต่เป็นเพื่อนที่เชื่อในคุณค่าเดียวกัน คุณจะได้ไม่ต้องป็นบอสของเพื่อนคุณ ผมเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ ซึ่งก็อาจทำให้เสียเพื่อนได้ แต่การที่เรามีความเชื่อในแบบเดียวกัน ทำให้เราเข้าใจกันได้”
แม็กซ์ในวันนี้
“ผมชื่อในกรรม 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่เชื่อในพระเจ้า แม่ผมเป็น zoroastrian เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ก่อนหน้าที่จะมีศาสนายิว ความเชื่อคือง่ายมาก คือ good thoughts, good words, good deeds ถ้าคุณดูหนังเกี่ยวกับเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ คุณจะได้ยินประโยคนี้ ถ้าทำแค่นั้น สิ่งดีๆก็จะเกิดแก่ชีวิต ซึ่งมันก็ไม่ง่ายนะ แต่ถ้าคุณปฏิบัติต่อคุณแบบที่คุณอยากถูกปฏิบัติ ก็จะเห็นว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น แต่หลายอย่างเราก็ลงมือให้มันเกิดขึ้นนะ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ”
แม็กซ์ในวันที่เริ่มก่อตั้งแบรนด์กับแม็กซ์ในวันนี้ต่างกัน เขาบอกว่าจากที่เมื่อก่อนเคยทุ่มเทให้บริษัทร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของกิจการรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นและทำงานตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบรัก แต่งงานมีครอบครัว ตอนนี้เขาต้องแบ่งครึ่งหนึ่งไปให้ครอบครัวที่ดูไบ หลังจากลูกสาวคนที่สองเพิ่งคลอด “ผมไม่อยากขยายธุรกิจ ฟังดูอาจจะแปลก แต่เพราะผมอยากจะมีความสุข ตอนที่เริ่มทำแบรนด์ของตัวเองเมื่อ 14 ปีก่อน ผมเป็น angry man โกรธตัวเอง โกรธโลก ผมไม่เคยมีความสุขเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มาก่อน วิธีครีเอทีฟผมตอนนี้ต่างไปจากเมื่อก่อน รวมถึงการทำงานกับคนอื่นด้วย ตอนนี้ผมค่อนข้างสบายๆ ไม่ push ทุกคนเท่าเมื่อก่อน จุดเปลี่ยนก็คือการที่ผมเป็นพ่อคนและมันถึงจุดที่ว่าบริษัทเป็นที่รู้จัก เราทำงานสร้างสรรค์และทำด้วยความซื่อสัตย์กับตัวเอง แล้วไม่สนใจเทรนด์หรือตลาด ผมจะเริ่มชอบตัวเองมากขึ้น รักตัวเอง ชื่นชมและเคารพในสิ่งที่ตัวเองทำ รักตัวเองเพื่อที่จะรักคนอื่นได้ เอ็นจอยกับการ giving than taking”

เรารู้สึกว่าเขามีสองด้านอยู่ในตัว อย่างเรื่องการทำงานสร้างสรรค์ นอกจากความ innovative ที่เห็นได้ชัด อีกด้านคือความรักในอดีตและมรดกตกทอด มันมีอะไรที่มีน้ำหนักมากกว่าไหม “ผมคิดว่าต้นไม้ที่ดีจะเติบโตได้ก็เพราะมีรากที่ดี การจะพัฒนาโดยไม่สนใจรากเหง้า ผมว่ามันไม่น่าสนใจ การสร้างสรรค์นาฬิกาได้ช่วยชีวติผมไว้ ผมเป็นหนี้โลกนาฬิกานะ แต่ผมชอบนาฬิกาที่สร้างในช่วงศตวรรษที่ 19 มากกว่า ไม่ค่อยชอบศตวรรษที่แล้วเท่าไหร่ และสิ่งที่ผมทำก็เป็นการทริบิวต์ให้กับมาสเตอร์วอทเมกเกอร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพราะพวกเขาทำให้ผมตกหลุมรักนาฬิกา ผมนำขนบเก่าแก่ของนาฬิกามารื้อสร้างใหม่ให้เป็นงานศิลป์แบบสามมิติแต่ก็ยังรักษาหัวใจสำคัญเอาไว้ เพราะถ้าไม่มีวอทชเมกเกอร์ในอดีต ผมก็ไม่มีทางมานั่งอยู่ตรงนี้ได้ เป็นวิธีทำงานของผม ผมไม่ใช่สตีฟ จ็อบส์ที่ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีคนทำาก่อน”
ทุกวันนี้ เมื่อหมดโปรเจ็กต์หนึ่ง เขาก็จะเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว “คือเวลาที่อะไรเสร็จแล้วผมก็จะหมดความสนใจ เพราะผมกำลังทำสิ่งใหม่ที่ยังไม่ออกมาอยู่ เหมือนเวลาลูกคลอดออกมา แล้วผมไม่ได้เป็นคนเลี้ยง ผมชอบเวลาตั้งครรภ์มากกว่า (หัวเราะ) คือจริงๆ ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าแบรนด์จะเป็นอย่างไร ผมเคยคิดมาก่อนไหมว่าจะมีแกลเลอรี่ ไม่คิด เคยคิดว่าจะทำนาฬิกาตัวเรือนกลมไหม ไม่เคยเลย ถ้าถามผมเมื่อ 14 ปีก่อน ผมรู้แค่ว่าผมไม่รู้ แต่แบบนี้แหละที่ดี มันเลยทำให้อนาคตยิ่งหอมหวาน”