Thursday, March 30, 2023

Cindy Chao ผู้ได้ชื่อว่าสร้างสรรค์จิวเวลรี่ที่ถือว่าเป็น ตัวแทนแห่งศตวรรษที่ 21

ตอนที่ได้ยินว่าจะได้มีโอกาสพบกับซินดี้ เชา ตัวจริงที่ประเทศไต้หวัน บ้านเกิดของเธอ ฉันรู้สึกดีใจมากเพราะเธอเป็นหนึ่งในจิวเวลรี่ดีไซเนอร์ร่วมสมัยจากเอเชีย ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเธอคือเมื่อคราวที่เธอมีโปรเจ็กต์ออกแบบเข็มกลัดรูปผีเสื้อ Ballerina Butterfly ในปีค.ศ. 2014 ร่วมกับซาราห์ เจสสิกา ปาร์กเกอร์ และต่อมาคืองานแสดงผลงานเก่าแก่ Biennale des Antiquaires ซึ่งจัดขึ้นที่ปารีสในปีค.ศ. 2016 โดยเธอเป็นจิวเวลรี่ดีไซเนอร์จากเอเชียคนแรกและคนเดียวที่ได้เข้าร่วม และรวมถึงเรื่องที่ว่าผลงานออกแบบ Royal Butterfly (2009) ของเธอได้รับเชิญให้ไปจัดแสดงยัง Smithsonian Institution National Museum of Natural History เนื่องจากเป็นตัวแทนงานศิลปะแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ที่จะส่งอิทธิพลให้กับงานศิลปะในยุคอนาคต 

เธอเป็นใคร? มาจากไหน? ทำไมแบรนด์ที่เกิดใหม่อย่าง Cindy Chao The Art Jewel จึงสามารถยืนหยัดในโลกจิวเวลรี่ชั้นสูงที่เต็มไปด้วยแบรนด์ระดับตำนานอายุเป็นร้อยปีได้? เมื่อพินิจดูจิวเวลรี่ที่ดูราวกับงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจำลองเส้นสายของธรรมชาติอย่างสมจริงนี้ จะบอกว่าทุกชิ้นเป็นการบอกเล่าอัตชีวประวัติของเธอก็ได้ เพราะมันกลั่นกรองออกมาจากตัวตนของเธอ ทั้งชีวิตที่แวดล้อมด้วยศิลปะ และการเรียนรู้ที่จะมองเห็นโลกกว้างในหลากมิติ รวมทั้งการเติบโตมากับคุณตาที่เป็นสถาปนิก และพ่อที่เป็นประติมากร “ตอนเด็กๆ แม่บอกว่ามีสองอาชีพที่ไม่อยากให้ทำเลยก็คือสถาปนิก และประติมากร เพราะพ่อไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย อยากให้ฉันทำงานจิวเวลรี่มากกว่า แต่กลายเป็นว่าแม่ได้เจอฉันน้อยกว่าเจอพ่ออีก แต่ฉันคิดว่าการออกแบบจิวเวลรี่มันเหมือนสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรมขนาดเล็ก แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดและใช้วัสดุราคาแพงกว่า” เธอเล่าให้ฟังแบบติดตลก

เทคนิค Wax Sculpting แบบโบราณ

ซินดี้เริ่มสร้างสรรค์จิวเวลรี่ในปีค.ศ. 2000 และจากนั้นจึงตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ของตัวเองในปีค.ศ. 2004 โดยนำเสนอผลงานออกมาเป็นสองคอลเลกชั่นหลัก คือ The Black Label Masterpieces และ The White Label Collection ซึ่งมักได้รับเกียรตินำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชื่อดังหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งในงานแสดงจิวเวลรี่ระดับโลกอย่าง Masterpiece London และ TEFAF Maastricht “ฉันเองไม่อยากสร้างแบรนด์ให้ใหญ่ไปกว่านี้ แต่อยากให้แข็งแกร่งกว่านี้ ฉันไม่ได้อยากทำงานหนักเพราะต้องเลี้ยงคนมากมาย ฉันอยากจะมีแบรนด์หรือบริษัทที่แข็งแกร่ง และเป็นแพลตฟอร์มให้คนที่มีความสามารถมาแสดงออกมากกว่า” ซินดี้ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ในโชว์รูมที่ไต้หวัน ที่นี่เป็นโชว์รูมแห่งที่สองต่อจากฮ่องกง และจะเปิดประตูต้อนรับเมื่อคุณทำการนัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น

ระหว่างสัมภาษณ์ ซินดี้ให้ทีมงานนำผลงานไฮจิวเวลรี่จาก The Black Label Masterpieces ออกจากตู้โชว์กระจกมาให้ชมหลายชิ้นเพราะอยากให้สัมผัสของจริง เรารับรู้ได้ถึงน้ำหนักที่เบาเป็นพิเศษเพราะตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียม อีกทั้งดีไซน์ชิ้นงานแบบสามมิติ โครงสร้างและเส้นสายต่างๆ ที่จำลองธรรมชาติได้อย่างสมจริง โดยเธอเลือกใช้เทคนิคการแกะสลักแวกซ์จากยุคศตวรรษที่ 18 หรือที่เรียกว่า La cire perdue เพื่อเป็นการขึ้นรูปก่อนจะตกแต่งด้วยอัญมณีล้ำค่าหายากซึ่งมีขนาดแตกต่างกันไป และเมื่อพลิกไปที่ด้านหลัง คุณก็จะมองเห็นโครงสร้างตัวเรือนแบบรวงผึ้งและอัญมณีด้วย ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็งดงามราวกับประติมากรรมขนาดเล็กที่ใส่ติดตัวไปไหนมาไหนได้ 

เธอยกตัวอย่างให้ฟังถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของงานแต่ละชิ้น เช่นตอนออกแบบเข็มกลัด Ribbon Brooch “ช่างที่ฝรั่งเศสโทรมาหาฉันว่าต้องการอะไร แก้มาเป็นสิบครั้งแล้วก็ยังไม่ผ่าน ฉันเลยบอกไปว่าอยากได้ริบบิ้นที่เพิ่งผูกเป็นโบและค้างไว้ก่อนที่โบจะตกลงมา คุณต้องจับเอาช่วงเวลานั้นไว้ให้ได้ แล้วทุกเส้นสายจะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว และมันอยู่ที่วิธีการประดับเพชรด้วย… ทุกวันนี้ เวลาได้มองเข็มกลัด Ribbon Brooch ฉันไม่รู้สึกเสียใจเลยเพราะมันคือเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของมันแล้ว”

-คุณเป็นจิวเวลรี่ดีไซเนอร์ในโลกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มันมีความหมายต่อคุณอย่างไร

“ตอนแรกมันก็ยากนะ เพราะมันเป็นโลกธุรกิจที่ค่อนข้างผูกขาด มีบริษัทที่ควบคุมปริมาณของเพชรดิบ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่แมนมากๆ แล้วก็ควบคุมโดยตะวันตกมากๆ ด้วย แต่ในฐานะผู้หญิง มันก็ทำให้ฉันแกร่งขึ้น และระหว่างนั้นฉันก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขารวมถึงความคิดความอ่าน ฉันใช้เวลา 15 ปีในการพิสูจน์ว่าฉันเป็นใคร คิดอะไร และฉันจะทำสำเร็จไหม ในวันนี้สุภาพบุรุษเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนและทำธุรกิจด้วยกัน” 

-ตอนที่ตั้งแบรนด์ในปีค.ศ. 2004 คุณนึกวาดภาพมันไว้อย่างไร

“ตอนแรกฉันไม่คิดจะทำแบรนด์เลย แต่ในฐานะครีเอเตอร์ เราจำเป็นต้องมีแบรนด์ไว้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างสรรค์ของเรา ไม่ใช่เพราะฉันฝันเฟื่องอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเองเลย ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ฉันต้องมั่นใจว่าคนจะจดจำ Cindy Chao ได้ในฐานะแบรนด์ มันไม่ต้องเป็นแบรนด์ใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมี authenticity  และบ่งบอกว่าเราเป็นใคร แล้วฉันก็คิดตั้งแต่แรกเลยว่าเราจะไม่เน้นคอมเมอร์เชียลมาก ตอนแรกก็ลำบากนะ ช่วงสิบห้าปีแรกที่ทำ ฉันต้องคิดว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร ฉันจึงครีเอตเพื่อความอยู่รอด แต่สิบห้าปีหลังจากนี้ ฉันจะสร้างสรรค์เพื่อสร้างสรรค์ ความคิดและพลังขับเคลื่อนมันเปลี่ยนไปแล้ว ฉันใช้เวลาวางรากฐานมาสักพักแล้ว ต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ต้องคอยดูค่ะ” 

-คุณพ่อกับคุณตาของคุณเป็นแรงบันดาลใจของคุณ

“ต้องบอกว่าทุกอย่างในชีวิตมันค่อยๆ หล่อหลอมจนมาเป็นฉันมากกว่า ก็เหมือนกับเวลาที่คนถามว่าเราใช้ตะเกียบได้อย่างไร คือมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วน่ะ แล้วการที่ผลงานของฉันออกมาเป็นแบบนั้นก็เพราะมันกลั่นมาจากข้างในตัวฉัน ถ้าถามว่าแรงบันดาลใจของฉันมาจากไหน ก็ตอบยากนะ มันมาเองตอนที่เราจับดินสอขึ้นมา อย่างเมื่อเช้า ฉันมีประชุมดีไซน์กับทีม เวลาเห็น stone บางทีมันก็นึกออกว่าจะทำอะไร แต่บางทีมันก็มีภาพในหัวแล้วค่อยหาสโตนมาแมตช์ สำหรับฉัน การสร้างสรรค์มันออกมาจากใจ จริงๆ การทำงานบริหารยากกว่าอีก”

-คุณรู้สึกอย่างไรเวลามองสโตน

“ฉันเชื่อว่ามันมีสปิริตนะเพราะธรรมชาติสร้างมันขึ้นมา มันล้วนมีชีวิตและจิตวิญญาณของมัน หน้าที่ของฉันคือ bring out the best of them”

-คุณให้น้ำหนักกับมูลค่าและความคิดดสร้างสรรค์อย่างไร 

“เวลาทำคอลเลกชั่น The Black Label Masterpieces ฉันไม่ค่อยได้คิดถึงราคาเท่าไหร่ ก็สนุกให้สุดตามใจ แต่เวลาทำคอลเลกชั่น The White Label Collection ทีมงานจะบอกว่ามีงบเท่านี้นะ ฉันก็แบบว่า โอ้ว ไม่เคยรู้เลยว่าเพชรมันแพงขนาดนี้… แต่ถ้าคุณเป็นครีเอเตอร์ที่ดี จะมัวคิดถึงแต่ราคาไม่ได้ ต้องมุ่งไปที่ความงามมากกว่า เพราะฉะนั้นเวลาทำ White Label ฉันจะกดดันนิดหน่อย มันเป็นคอลเลกชั่นที่เหมือนประตูด่านแรกให้คนเข้าถึงแบรนด์ Cindy Chao” 

-ทำไมคุณถึงชอบออกแบบเข็มกลัดในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ไม่ค่อยทำ

“มันเป็นความฝันของฉัน เข็มกลัดมีพื้นที่ให้สร้างสรรค์ มันเป็นชิ้นงานศิลปะ และประติมากรรม ฉันถึงเอ็นจอยกับการออกแบบเข็มกลัดมาก แล้วเราก็ใช้วัสดุอย่างไทเทเนียมมาทำตัวเรือน ทำให้น้ำหนักเบาแม้จะชิ้นใหญ่ ฉันให้ความสำคัญมากว่ามันต้องสวมใส่ได้ และตอนนี้ฉันว่าไลฟ์สไตล์มันเปลี่ยนไป ฉันคิดว่ามันเป็นเทรนด์เกี่ยวกับเข็มกลัดด้วย มีคนมาบอกว่าไม่คิดมาก่อนว่าเข็มกลัดจะเป็นชิ้นงานที่ใส่ได้จริง ทั้งยังพกติดตัวไปได้ด้วย และนำไปประดับชุดต่างๆ ได้หลากหลาย ฉันเป็นคนยุคใหม่ที่มีหัวคิด รู้ว่าจะใส่อย่างไร”

-คุณเริ่มทำคอลเลกชั่น Annual Butterly เมื่อปี 2000 ตั้งแต่ยังไม่ได้สร้างแบรนด์ด้วยซ้ำ และนำออกมาโชว์ในปี 2008 ช่วยเล่าให้ฟังถึงที่มาหน่อยได้ไหมว่าคิดอะไรอยู่ตอนนั้น

“จริงๆ มันเป็นช่วงที่ยากที่สุดในชีวิตแล้ว เพราะฉันยังไม่เป็นที่รู้จักและยังพยายามจะนำเสนอคอนเซ็ปต์ The Art Jewel ในวงการทั้งที่คนในยุคนั้นให้ค่ากับน้ำหนักของสโตนมากกว่าความคิดสร้างสรรค์และทักษะฝีมือ ฉันเริ่มออกแบบ Annual Butterfly โดยคิดว่าถ้ามันจะเป็นชิ้นงานสุดท้าย ฉันจะทำในแบบของฉันโดยไม่แคร์ใคร ผู้ช่วยฉันบอกว่าใครจะซื้อเข็มกลัดแบบนี้ มันไม่ใช่ตุ้มหู ไม่ใช่แหวน ฉันเลยบอกว่าถ้ามันจะเป็นชิ้นสุดท้าย ฉันอยากจะเอ็นจอยกับมันที่สุด… มันเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงของชีวิตฉันและงานสร้างสรรค์ฉันด้วย เพราะฉะนั้นในทุกๆ ปี ฉันถึงทุ่มพลังอย่างเต็มที่ มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของคอลเลกชั่นใหม่และเป็นหัวใจของทั้งคอลเลกชั่น” 

-เราทราบมาว่าลูกค้า 30 เปอร์เซ็นต์ของคุณเป็นผู้ชาย น่าแปลกใจมากเลย

“ฉันเองก็แปลกใจ จริงๆ พวกเขามากับภรรยา ตอนแรกๆ ภรรยาเป็นคนอยากได้ แต่พอเริ่มซื้อแพงขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องถามความเห็นสามีด้วย เมื่อสามีได้มาเห็น ก็เริ่มมองว่ามันเป็นการลงทุน และกลายมาเป็นนักสะสม ฉันเองเคยถามพวกเขาว่าซื้อไปทำอะไร ให้ภรรยาหรือลูกสาวเหรอ แต่พวกเขากลับเก็บไว้ในเซฟ ถือว่ามันเป็นงานศิลปะ วันดีคืนดีก็เอาออกมาชื่นชม บางครั้งฉันก็ได้รับโทรศัพท์ตอนตีสองจากลูกค้าผู้ชายที่โทรมาถามว่าเซ็นเตอร์สโตนของกำไลที่เขาซื้อไปมีขนาดเท่าไหร่ พอดีเขากำลังจิบไวน์และเอาออกมาดูแล้วเกิดสงสัยขึ้นมา แต่เพราะมันตีสองแล้ว ฉันเลยบอกว่าตอนเช้าฉันจะหาให้ เขาก็แค่อยากชื่นชมมันระหว่างดื่มไวน์” 

-คาดหวังอะไรจากคนที่ใส่ผลงานของคุณ 

“ฉันว่าขายได้ไม่สำคัญว่าขายให้กับใคร เพราะเราไม่ได้ผลิตมากมาย และเมื่อเราทำขึ้นมาจากใจ เราก็อยากให้นักสะสมชื่นชมมัน ไม่ใช่เพราะว่าเขามีเงินจะซื้อได้ แต่เป็นคนที่มีตาและมีหัวใจเหมือนกัน” 

-เวลาผ่านมา 15 ปีแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรกับเส้นทางนี้ 

“ฉันพอใจกับทุกสิ่ง ตอนนี้ฉันอายุ 45 ลูกชายอายุ 21 และฉันก็รักงานที่ทำอยู่ ฉันได้สร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ฉันได้ทำอะไรต่างๆ มากมาย และก็ตั้งตารออีกสิบห้าปีข้างหน้า ตอนที่อายุน้อยกว่านี้ คุณพยายามอย่างหนัก แต่ประสบการณ์ยังน้อย ส่วนทักษะ มันต้องอาศัยเวลาเรียนรู้ บางครั้งเวลามองทีมงานรุ่นใหม่ๆ แล้วเห็นพวกเขาเร่งรีบอยากจะประสบความสำเร็จ ฉันจะบอกพวกเขาว่าฉันเข้าใจความรู้สึกของคุณ แต่บางครั้งก็ต้องปล่อยให้ชีวิตนำพา คุณต้องผ่านประสบการณ์ก่อน และในฐานะครีเอเตอร์ คุณต้องได้เห็นมาก ได้ซึมซับมาก กว่าจะสามารถกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวได้” 

Other Articles