คนที่ได้แวะเวียนไปที่ดิ เอ็มโพเรียมในช่วงนี้อาจได้เคยเดินผ่านโอเอซิสแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น G แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสและภาพพรรณไม้รวมถึงสัตว์นานาชนิดแห่งนี้ก็สามารถดึงดูดสายตาของคนที่เดินผ่านไปมาได้อย่างดี มันไม่ยากเลยที่จะตกอยู่ในมนตร์สะกดของคามุย ลิม
จุดกำเนิดของคามุย ลิม
“จริงๆแล้วชื่อคามุย เป็นชื่อเล่นครับ ลิมเป็นนามสกุล ชื่นเล่นนี้คุณป้าตั้งให้ มาจากภาษาญี่ปุ่นโบราณที่แปลว่าพระเจ้า เพราะตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูปพระ” เมื่อความรักในงานวาดเขียนเป็นทุนเดิมมาผสมผสานกับแรงบันดาลใจจากคุณอาที่ชอบเขียนภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี คามุยจึงมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่างให้ได้
เรียนรู้ต่อยอด
เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างแล้ว คามุยก็มีนิทรรศการจัดแสดงผลงานอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร เขาก็ตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ Kamuilim Fine Arts & Decors เมื่อ 4 ปีที่แล้ว “คอนเซ็ปต์จะเกี่ยวกับธรรมชาติครับ ผมมองว่าศิลปะอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องสะท้อนสังคมด้วย ผมอยากให้คนตระหนักรู้และสำนึกในความงามของธรรมชาติ เบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพราะทุกวันนี้ประชากรก็ล้นโลกอยู่แล้ว ผมเองก็เป็นคนรักสัตว์มาก เสียดายได้สัตว์หลายๆพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไปหมด ในงานผมบางครั้งจึงมีสัตว์แปลกๆ ที่คนไม่เคยเห็นเข้ามาแทรกด้วย เหมือนสะท้อนสิ่งที่เรารักออกมาผ่านผลงาน” คามุยบอก “นอกจากนี้ดีไซน์แบบธรรมชาติยังประยุกต์กับการแต่งบ้านได้ง่าย อยู่บ้านไหนก็อยู่ได้ แค่มุมเล็กๆ ก็ทำให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติได้แล้ว เหมือนเป็นการดึงธรรมชาติมาอยู่ใกล้ตัวเราครับ” คามุยเสริมว่างานของเขานั้นส่วนใหญ่เป็นลิมิเต็ด เอดิชั่น “บางทีก็ทำขึ้นมาชิ้นเดียว บางชุด 5 ชิ้นหรือ 10 ชิ้น เพราะอยากให้ผู้ที่ได้เป็นเจ้าของรู้สึกพิเศษ”
ทำในสิ่งที่ตนเองรัก
แต่แม้ปัจจุบัน ผลงานออกแบบของคามุย ลิมจะมีชื่อเสียงระดับนานาชาติและเป็นที่สนใจของแบรนด์ใหญ่ๆมากมาย แต่เขาก็ยังไม่ทิ้งงานจิตรกรรมซึ่งเป็นส่ิงที่เขารัก “งานวาดเขียนของผมจะใช้เทคนิคสีฝุ่น ใช้มาตั้งแต่ตอนเรียนเพาะช่างแล้วครับ เป็นเทคนิคที่นำสีจากธรรมชาติอย่างเทอร์ควอยซ์หรือหลืบดินมาผสมกับกาวกระถินอินเดียที่เป็นก้อนๆ แล้วเอามาละลายกับน้ำ เป็นเทคนิคทำสีแบบโบราณครับ แม้แต่พื้นเขียนก็ต้องใช้กาวที่ทำจากเม็ดมะขามที่เอามาคั่ว เห็นผมทันสมัย แต่ของโบราณก็ไม่ได้ทิ้ง เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่มีสอนที่เพาะช่างเท่านั้น แต่ก็เป็นเทคนิคที่ช่วยให้เตรียมความพร้อม เตรียมสมาธิสำหรับเรา และเตรียมพื้นสำหรับเขียนลายลงไปด้วย เพราะอย่างนี้ถึงเรียกว่าจิตรกรรม ซึ่งในภาษาบาลี-สันสกฤตมาจากคำว่าจิตใจและการกระทำ ผมว่าเป็นคำที่วิเศษมากครับ”
คนสร้างภาพ
ผมชอบบอกกับคนอื่นว่าเราเป็นคนสร้างภาพ ไม่ใช่สร้างภาพเอาหน้านะ แต่สร้างภาพจริงๆ เป็นภาพที่มีคุณค่า จิตรกรคือนักสร้างภาพครับ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งถ้ามีคนเห็นคุณค่าและสนับสนุน มันก็จะไปต่อได้ ถึงแม้วันหนึ่งเราจะไม่อยู่แล้ว งานก็ยังอยู่ต่อไป อาจารย์ที่สอนผมเคยบอกแค่ว่าจะวาดอะไรก็ได้ ขอแค่ทำอย่างไรก็ได้ให้งานเราไปอยู่ในมิวเซียมได้ในอนาคต ให้คนเห็นคุณค่า และในฐานะคนไทยเราก็อยากเชิดชูรากเหง้าของตัวเรา และสิ่งที่เราทำได้ ก็คือสร้างงานศิลปะให้คนได้ชื่นชมครับ ศิลปะคือสิ่งที่ช่วยยกระดับจิตใจ และสำหรับผม คุณค่าของศิลปะอยู่ตรงนี้”