โครงชุดโอตกูตูร์ของเมอซิเออร์ ดิออร์ซึ่งงดงามราวกับการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม ถูกถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้กับไฟน์จิวเวลรี่คอลเลกชั่นล่าสุดในชื่อ Archi Dior ผลงานการออกแบบของวิกตัวร์ เดอ คาสเทลลาน ซึ่งประณีต งดงาม และสร้างสรรค์ราวกับงานศิลปะก็ไม่ปาน
กำไล ÉMeraude ตัวเรือนไวท์โกลด์ประดับเพชร มรกต สปิเนล แซฟไฟร์ชมพู
และม่วง โกเมนซาวอไรต์ และดีมานทอยด์จาก Dior Joaillerie
ชุดกระโปรง Bar คอลเลกชั่นโอตกูตูร์ประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน 1947 ในชื่อ Corolle
ภาพ: Willy Maywald. Association Willy Maywald/ADAGP, Paris 2014
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของดิออร์ ห้องเสื้อชั้นสูงแห่งปารีสเริ่มขึ้นเมื่อทางแบรนด์เปิดตัวแผนกจิวเวลรี่ขึ้นในปี 1998 และผู้ที่มาพลิกหน้าประวัติศาสตร์คือวิคตัวร์ เดอ กาสเตลลาน (Victoire de Castellane) ผู้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แผนกจิวเวลรี่ของดิออร์ เพราะเธอผู้นี้เองที่ได้นำวิธีการเล่าเรื่องด้วยจิวเวลรี่ที่สื่อสารกับผู้หญิงโดยตรงมาใช้กับการออกแบบจิวเวลรี่ของดิออร์
โดยคอลเลกชั่น Archi Dior ที่เข้าร่วมในงาน Paris Biennale ครั้งที่ 27 เป็นคอลเลกชั่นที่เราอดหลงรักไม่ได้ วิคตัวร์ ผู้ได้แรงบันดาลใจจากความงดงามของธรรมชาติและจิตวิญญาณของมร. คริสเตียน ดิออร์ ได้ออกแบบจิวเวลรี่ ผ่านรูปทรงพลิ้วไหวของผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากชุดโอตกูตูร์ของแบรนด์ ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบของโลหะ การจับเดรปอันงดงามและรอยทับซ้อนประหนึ่งงานสถาปัตยกรรมในสีสันสดใสเป็นการผสมผสานที่ไม่เหมือนใคร
สร้างให้จิวเวลรี่แต่ละชิ้นในคอลเลกชั่นนี้ จึงเป็นชุดกระโปรงในฝันที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสร้อยข้อมือ ตุ้มหู สร้อยคอและแหวน นี่คือวัตถุแห่งความปรารถนา และสมบัติแห่งความเป็นผู้หญิงในบริบทสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับไอเดียแสนสร้างสรรค์และงานฝีมือที่ไม่ธรรมดา
อาทิเช่น สร้อยข้อมือเพชร ‘Ailée’ จิวเวลรี่ที่ได้แรงบันดาลใจจากชุดกระโปรงโอตกูตูร์ ‘Cyclone’ ในคอลเลกชั่นประจำฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 1948 นี้ให้อารมณ์ความเคลื่อนไหวที่เกิดจากการจับพลีตและรอยย่นของเลเยอร์ที่ดูไม่ต่างอะไรกับผ้าที่พลิ้วไหวมาพร้อมกับปีกสมชื่อ ปีกเหล่านั้นถูกเสกสรรค์ให้กลายเป็นผ้าจับจีบซ้อนกันเป็นชั้นๆ พร้อมเท็กซ์เจอร์ของรายละเอียดและมิติที่ไม่สม่ำเสมอที่ทำให้ชิ้นงานดูมีวอลุ่มได้อย่างเย้ายวน
ทุกอย่างนี้ล้วนนำมาซึ่งจิวเวลรี่ที่ดูเหมือนสถาปัตยกรรมที่สรรค์สร้าง คอลเลกชั่น ‘Archi Dior’ สะท้อนถึงท่วงท่าอันบอบบางของบัลเลริน่า ณ จุดบรรจบระหว่างปารีสและความหลงใหล และระหว่างหัตถศิลป์และศิลปะ ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องราวเบื้องต้น ซึ่งลอฟฟีเซียลภูมิใจนำเสนอ ให้คุณได้ในนิตยสาร ลอฟฟีเซียล ไทยแลนด์ เดือนพฤศจิกาฯ พร้อมหลากเรื่องราวของโลกจิวเวอรี่ที่คุณไม่ควรพลาดค่ะ
Julie Camdessus แปลและเรียบเรียงโดย ชิดสุภางค์ ฉายวิโรจน์