Writer: Chanon Jitpanya

ทะเลทราย หมวกปีกกว้าง การดวลปืน วิสกี้…หลายคนคงจำภาพเหล่านี้ได้จากภาพยนตร์คาวบอยมากมายจากทั้งค่ายเล็กและค่ายใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นแนวภาพยนตร์ที่ขายความเท่ โหด มัน และที่สำคัญคือความรักระหว่างชายหญิงที่มีผู้ชายเป็นฮีโร่เสมอ ถ้าพูดถึงภาพยนตร์แนวนี้หลายคนอาจจะนึกถึงเรื่อง The Good, The Bad and The Ugly (1966) Once Upon a Time in the West (1968) หรือ High Noon (1952) รวมถึงนักแสดงอย่าง Clint Eastwood และผู้กำกับอย่าง John Ford, John Wayne หรือ Sergio Leone ท่ามกลางภาพยนตร์ นักแสดง และผู้กำกับเหล่านี้ซึ่งล้วนเป็นตำนานของภาพยนตร์คาวบอย ยังมีภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานไม่แพ้กัน นั่นคือ Brokeback Mountain (2005) ของสุดยอดผู้กำกับอย่าง Ang Lee เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่แตกต่างไปจากภาพจำที่หลายคนมีต่อภาพยนตร์คาวบอย ดูเหมือนว่าเรื่องนี้มาเพื่อแหกกฎต่างๆ ที่เป็นความคาดหวังและที่ยอมรับจากสังคมไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิกตลอดกาลที่ต้องพูดถึงกันไปอีกนานอย่างแน่นอน
อะไรคือภาพยนตร์แนว Western

กล่าวง่ายๆ โดยรวมได้ว่า ภาพยนตร์แนว Western คือภาพยนตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวโลกฝั่งตะวันตกของประเทศอเมริกา โดยส่วนมากจะเป็นการโฟกัสไปที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘คาวบอย’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดขึ้นหลังช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกา พวกเขาทำหน้าที่ดูแลรักษาและนำพาฝูงสัตว์ไปยังตลาดหรือทางรถไฟเพื่อนำไปค้าขาย เพราะในช่วงนั้นอุตสาหกรรมปศุสัตว์รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปคาวบอยจะต้องต่อสู้กับคนหลายกลุ่มเพื่อปกป้องขบวนสัตว์ ทั้งจากชนพื้นเมืองอเมริกัน โจร หรือคาวบอยด้วยกันเองที่มาจากอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยหน้าที่และความสำคัญทำให้คาวบอยกลายเป็นฮีโร่ขวัญใจของชาวเมืองไปโดยปริยาย

ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นที่พึ่งของชาวเมืองและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดูมีความเป็นชายสูง เท่ๆ คูลๆ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เลี่ยงไม่ได้ที่จะหยิบยกพวกเขามาเป็นส่วนหลักของเรื่องราวมากมาย โดยภาพยนตร์แนว Western มักจะมีการนำเสนอเหล่าคาวบอยในรูปแบบ ‘หนุ่มมาดเข้ม พูดน้อย ต่อยหนัก เอาจริงกับคนร้ายแต่จะให้เกียรติและปกป้องผู้หญิงอยู่เสมอ’ ที่ค่อนข้างจะคล้ายกันไปซะทุกเรื่อง ส่วนการดำเนินเรื่องมักจะมีแค่ขาวกับดำ กล่าวคือมีผู้ร้ายกับพระเอกที่ชัดเจน ต้นเหตุของเรื่องไม่พ้นการก่ออาชญากรรมของเหล่าตัวร้ายที่ทำไปเพื่อเม็ดเงิน และพระเอกก็มักจะชนะด้วยการดวลปืนอยู่ร่ำไป
ทำไมภาพยนตร์แนว Western ถึงประสบความสำเร็จ
หากมองในด้านองค์ประกอบของตัวภาพยนตร์ Western ช่วงบูมใหม่ๆ จะเห็นแต่พระเอกหล่อ เท่ ขรึม โหด มีความเป็นแบดบอยแต่ก็เป็นสุภาพบุรุษในเวลาเดียวกัน เสียงผิวปากและเสียงเพลงจากฮาโมนิกาทำให้คนดูรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวและน่าฉงนของดินแดนตะวันตก ฉากต่อสู้สุดเร้าใจ ฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ต้องยอมรับว่าองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพยนตร์ Western เป็นแนวที่ให้ความสนุกแก่คนดูได้เป็นอย่างดี รวมถึงตัวบทที่ไม่ต้องมีอะไรแฝงมากนัก ทำความเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่าย มีคาวบอยหมวกขาวหมวกดำชัดเจน และเส้นเรื่องที่เน้นความสนุกเป็นหลัก ทำให้ภาพยนตร์แนวนี้ตกเป็นตัวเลือกของใครหลายๆ คนในยุคนั้นทั้งผู้ผลิตและผู้ชม
นอกจากองค์ประกอบในภาพยนตร์แล้ว คาแร็กเตอร์ความเป็นคาวบอยมีผลอย่างยิ่งกับความสำเร็จของภาพยนตร์แนวนี้ เนื่องจากสังคมมองว่าคาวบอยมีความเป็นชายสูง เป็นฮีโร่ของเมือง ยึดอุดมการณ์ความยุติธรรม และมีความเป็นสุภาพบุรุษ ทำให้คาวบอยกลายเป็นภาพลักษณ์ในอุดมคติของผู้ชายในสมัยนั้นซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมาย ส่งผลให้การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนตะวันตกของอเมริกากลายเป็นที่นิยมในวงการภาพยนตร์
การมีตัวตนของ LGBTQ ในภาพยนตร์ Western ที่หายไป


จากค่านิยมในสังคมสู่ความนิยมในภาพยนตร์ ความแข็งแกร่งของระบบชายเป็นใหญ่ที่มีมาอย่างเนิ่นนานแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อแง่มุมต่างๆ ในชีวิตจริง ไม่เว้นแม้แต่วงการภาพยนตร์ จะว่าไปแล้วยุคทองของภาพยนตร์แนว Western นั้นอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งก่อนหน้าเป็นยุคที่เริ่มมีกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘New Woman’ หรือกลุ่มผู้หญิงที่มองเห็นคุณค่าของตนเองและไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้ค่านิยมระบบชายเป็นใหญ่ แม้กระทั่งงานวรรณกรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็นิยมเขียนสะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวนี้ อย่างเช่นงานเขียนสุดคลาสสิกเรื่อง Mrs.Warren’s Profession (1893) ของ George Bernard Shaw หรือ The Awakening (1899) ของ Kate Chopin ถัดมาในช่วงศตวรรษที่ 20 เราอาจจะพอรับรู้ได้ว่าภาพยนตร์แนว Western นั้นมาเพื่อเรียกกระแสความนิยมของปิตาธิปไตยให้กลับมา โดยภาพยนตร์ส่วนมากจะเน้นไปที่การนำเสนอความรักของชายหญิงที่นำเสนอภาพจำบทบาททางเพศ (Gender Roles) โดยผู้ชายจะเป็นพระเอกหรือมีตัวละครหลักเป็นคาวบอยคอยดูแลปกป้องผู้หญิง รวมไปถึงการมีหน้ามีตาหรือชื่อเสียงในสังคม ส่วนเพศหญิงจะถูกนำเสนอให้เป็นเพียงแค่ตัวประกอบหรือนางเอกที่ไม่ได้มีบทบาทมากนัก บางเรื่องก็ไม่ได้พูดถึงตัวละครหญิงเลย อย่างเช่นเรื่องราวของครอบครัวคาวบอยพ่อหม้ายและลูกชายทั้งสามในเรื่อง Bonanza (1959) จากความนิยมที่มีต่อกันมาเรื่อยๆ เช่นนี้ทำให้เป็นไปได้ยากที่ผู้คนจะได้เห็นความรักในรูปแบบอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการนำเสนอตัวละครที่เป็นเพศอื่นนอกจากชายหญิง ด้วยเหตุนี้กลุ่ม LGBTQ จึงไม่มีตัวตนในภาพยนตร์ Western ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์กระแสหลักของโลกขณะนั้น
การมาถึงของภาพยนตร์ Brokeback Mountain

อย่างไรก็ตาม Brokeback Mountain ได้แหกกฎค่านิยมทางสังคม ขนบของภาพยนตร์ Western และความต้องการของตลาดใหญ่ นำเสนอความรักของคู่เกย์ที่ตกหลุมรักกันภายใต้ความกดดันของสังคมที่มีบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) โดยสองตัวละคร Ennis (Heath Ledger) และ Jack (Jake Gyllenhaal) ได้พบเจอกันที่ Wyoming เนื่องจากทั้งคู่ต้องการหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพ ความสัมพันธ์ของชายหนุ่มทั้งสองค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างการร่วมงานในหุบเขา Brokeback ซึ่งห่างไกลจากผู้คน อย่างไรก็ตามความรักของทั้งคู่ต้องเป็นไปอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยความกลัวจากแรงกดดันทางสังคมและภาพความโหดร้ายเกี่ยวกับอคติทางเพศในสังคมจากความทรงจำวัยเด็กของ Ennis ทำให้ความปรารถนาของทั้งคู่ต้องถูกกีดกัน
การก้าวข้ามกรอบของภาพยนตร์ Western
Brokeback Mountain ท้าทายสังคมตั้งแต่การเลือกนำเสนอเนื้อหารักร่วมเพศในบทของคาวบอยที่มีภาพจำยึดติดกับความเป็น ‘ชายแท้’ ทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง พร้อมกับการก้าวข้ามความรักของชายหญิงซึ่งเป็นที่นิยมในภาพยนตร์แทบจะทุกประเภท เป็นการนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นสิ่งที่กลุ่ม LGBTQ ต้องประสบพบเจอจริงๆ ในสมัยนั้น โดยตัวละคร Ennis แสดงให้เห็นถึงความสับสนทางเพศของตนในช่วงต้นเรื่อง ถึงแม้ในช่วงกลางถึงท้ายเรื่องอาจพอสังเกตได้ว่าเขาค้นพบตัวเองแล้ว แต่ Ennis ก็ต้องจำใจเก็บซ่อนความต้องการและความสุขให้พ้นจากสายตาคนอื่นเพราะกลัวว่าจะเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น ในทางกลับกันภาพยนตร์ยังสร้างตัวละครอย่าง Jack ขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างจากความคิดของอีกฝั่งที่เป็นคนกล้าเปิดเผย กล้ายอมรับ และกล้าแสดงออกในสิ่งที่เป็นตัวเอง ไม่สนใจว่าสังคมจะมองหรือปฏิบัติด้วยอย่างไร

ถึงแม้ Brokeback Mountain จะจบด้วยโศกนาฏกรรมของหนึ่งในสองตัวละครหลัก แต่การนำเสนอของเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของวงการภาพยนตร์ LGBTQ ในสมัยนั้น ซึ่งนำเสนอทั้งความจริงที่ต้องประสบพบเจอและฉากรักที่อบอุ่นของชายทั้งสอง ไม่ได้นำเสนอในแง่มุมของมุกตลกหรือการโจมตีแต่อย่างใด
ภาพยนตร์ LGBTQ และแรงกระเพื่อมสู่สังคม
Brokeback Mountain เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่กล้านำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBTQ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแนว Western ที่อยู่ใต้อิทธิพลของเพศทวิลักษณ์ สิ่งนี้ถือเป็นการผลักดันภาพยนตร์แนวนี้ให้เข้าสู่กระแสหลักมากขึ้น เพราะก่อนหน้าผู้คนอาจมองว่าเรื่องของคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่นำเสนอได้ไม่มาก รวมถึงไม่กล้าที่จะนำเสนอเพราะหวั่นเกรงต่อค่านิยมและแรงกดดันจากสังคม ถ้าหากพูดกันตามตรงคงต้องบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงช่วยส่งเสริมสังคม LGBTQ เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น พวกเขาไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่ต่างไปจากเพศชายและเพศหญิง เพราะเพศไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด
และด้วยความสำเร็จของ Brokeback Mountain ที่กวาดรางวัลออสการ์ไปถึงสามสาขา ถือเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับผู้คนในวงการภาพยนตร์ให้กล้าที่จะผลิตหนังที่สะท้อนเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มากขึ้น การผลักดันให้ภาพยนตร์เข้าไปอยู่ในกระแสหลักไม่เพียงแต่ช่วยในวงการภาพยนตร์ แต่ยังสามารถทำให้เกิดการยอมรับของสังคมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้การที่ภาพยนตร์มีตัวละครมีความหลากหลายทางเพศและถ่ายทอดออกมาอย่างเหมาะสม ถือเป็นการบอกเป็นนัยว่ายังมีคนกลุ่มนี้อยู่อีกมาก พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยวลำพัง ทำให้คนกล้าที่จะออกมาแสดงออกหรือเปิดเผยตัวตนมากขึ้น ที่สำคัญการนำเสนอในรูปแบบของความเป็นจริงจะช่วยกำจัดภาพจำแบบเหมารวม (stereotypes) ที่มีต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมักถูกจดจำในแง่ของความตลก ความหมกมุ่นทางเพศ หรือมักถูกนำเสนอเป็นตัวละครมิติเดียว

ภาพยนตร์ LGBTQ ที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยนักแสดงหน้าตาดี ฉากแฟนเซอร์วิส หรือภาพจำแบบเหมารวมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อนำมาเป็นจุดขายแต่อย่างใด ซึ่ง Brokeback Moutain ทำให้ผู้คนได้เห็นว่าความสุดยอดในการนำเสนอนั้นคือความจริงที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ทั้งความสุข ความสับสน ความทุกข์ ความกลัว ทุกอารมณ์ถูกถ่ายทอดออกมาราวกับว่าเรากำลังดูชีวิตของคู่เกย์ที่มีตัวตนจริงๆ ทั้งรู้สึกยิ้มตามไปกับความรักของ Ennis กับ Jack และร้องไห้ไปกับสิ่งที่ทั้งคู่ต้องพบเจอในสังคมสมัยนั้น เป็นภาพยนตร์คลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ทั้งสองชั่วโมงนั้นเต็มไปด้วยความประทับใจ
Brokeback Mountain อาจเป็นแม่แบบในการพัฒนาภาพยนตร์ LGBTQ ในยุคนี้ที่ไม่จำเป็นต้องมีแต่เมโลดราม่าเท่านั้น แต่สามารถเป็นได้ทั้งรอมคอม คอเมดี้ หรือประเภทอื่นๆ ได้อีกมากมาย