Writer: Tarinee Paoriskutta
ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรุงปารีสคับคั่งไปด้วยนิทรรศการศิลปะใหม่ๆ มากมาย รวมไปถึงงานแฟร์สำคัญระดับโลกอย่าง Paris+ par Art Basel ที่ดึงดูดให้เหล่าคนทำงานในแวดวงศิลปะรวมถึงศิลปินเดินทางมาชมงานศิลปะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของมหานครที่สวยงามแห่งนี้
สำหรับเราคนไทยจะต้องภูมิใจว่าผลงานของศิลปินไทยมากฝีมือ นามว่า ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ ได้ไปเข้าตาศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติปอมปิดู (Centre Pompidou) ที่กรุงปารีส ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป และได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 และต่อยอดไปถึงการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินจากแถบนี้อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดคือ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินไทยเชื้อสายจีน ถือเป็นศิลปินจากแถบเอเชียอาคเนย์คนที่ 3 ที่มีโอกาสได้จัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ปอมปิดูกับงาน Tang Chang (1934-1990): Non-Forms ซึ่งเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2023 จนถึง 8 เมษายน 2024 ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวาดเส้นและภาพเขียนรวม 35 ชิ้น รวมถึงเอกสาร รูปภาพและบันทึกต่างๆ ที่ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับศิลปินผู้ล่วงลับคนนี้มากขึ้น ผลงานหลายชิ้นยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน นอกจากนี้ยังมีนักสะสมต่างชาติเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญในผลงานของจ่าง จึงอุปถัมภ์ผลงานและมอบให้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาอย่างถาวร พร้อมกับจัดแสดงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมที่ชั้น 4 อันเต็มไปด้วยงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย
ที่ห้องนิทรรศการต้อนรับด้วยภาพเหมือนตนเองขนาดใหญ่ของจ่างที่สำแดงอารมณ์ผ่านรอยแปรงและสีที่ป้ายปาดด้วยนิ้วและมืออย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงศิลปินนามจ่าง แซ่ตั้ง หลายคนอาจไม่คุ้นหูเพราะเขาไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นศิลปินแห่งชาติหรือเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะที่มีชื่อเสียง เขาเป็นเพียงคนไทยเชื้อสายจีนผู้เกิดมาในครอบครัวที่แสนจะธรรมดา เข้าเรียนโรงเรียนในระดับชั้นมูลในเวลานั้นและเกิดสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่ได้ศึกษาต่อ จ่างมีอาชีพรับจ้างและพักอาศัยอยู่กับครอบครัวในย่านฝั่งธนบุรี ด้วยใจรักศิลปะทำให้เขาใช้เวลาช่วงกลางคืนหรือเว้นว่างจากการทำงานมาเขียนรูปแบบไม่มีข้อจำกัดเรื่องผิดถูกตามหลักวิชาการ แต่มีรูปแบบของตัวเองอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาแตกต่างจนเรียกได้ว่าเป็นศิลปินชายขอบหรือ outsider ที่แปลกแยกจากคำว่าศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ณ เวลานั้น
จ่างเริ่มทำงานศิลปะในช่วงทศวรรษ 1950 ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของวงการศิลปะในประเทศไทย (มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อตั้งในปี 1943 และมีการจัดแสดงศิลปกรรมของนักเรียนเป็นครั้งแรก) เขาได้เริ่มทดลองเขียนรูปด้วยหมึกจีนและใช้นิ้วป้ายปาด เรียกได้ว่าเป็นงานที่เขาทำตามใจในขณะที่รับงานจ้างเขียนรูปพอร์เทรตด้วยดินสอถ่าน ซึ่งทำให้เขามีรายได้ ฝีมือการวาดภาพพอร์เทรตของเขายอดเยี่ยมเป็นอย่างยิ่งถึงแม้จะไม่ได้เรียนมาในโรงเรียนศิลปะก็ตาม
ในเวลาต่อมาจ่างยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะทำงานศิลปะ ผลงานเขาพัฒนาไปเป็นงานแนวนามธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่า Gestural Abstract Painting หรือ Action Painting อันเกิดจากการใช้อวัยวะของร่างกายแบบฉับพลันและแสดงอารมณ์ออกมาด้วยการป้ายปาดและสาดสี และในช่วงปลายทศวรรษ 1950 จนถึง 1960 นั่นเองที่ผลงานของเขาได้กลายเป็นภาพจำเมื่อกล่าวถึงศิลปินนามจ่าง แซ่ตั้ง ผู้ใช้สีสำหรับทาเรือมาเขียนรูปขนาดใหญ่ ด้วยเพราะความขัดสนจึงไม่มีเงินมากพอในการซื้อสี งานของเขาในแนวทางนี้สอดคล้องกับผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเวลานั้น ทว่าเขาไม่ได้ลอกเลียนแบบ หากแต่มีเอกลักษณ์ของตนเองอันเกิดจากการทำสมาธิจนสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผลงานส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ในช่วงเวลานั้นได้รับการคัดสรรให้มาจัดแสดงในนิทรรศการนี้
นอกจากผลงานเชิงนามธรรมของจ่างที่เราคุ้นเคยและได้ไปจัดแสดงในต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง นิทรรศการที่ปอมปิดูในครั้งนี้นับว่าแตกต่างและน่าสนใจกว่าที่เคย ด้วยการนำเสนอผลงานที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน เช่น ผลงานบางชิ้นที่สร้างสรรค์ในรูปแบบบทกวีรูปธรรม (Concrete Poetry) จากช่วงปลายทศวรรษ 1970 เป็นเวลาที่จ่างละจากการเขียนรูปในเชิงนามธรรม หันมามุ่งเน้นในเชิงวรรณศิลป์อันเกิดจากความชื่นชอบการท่องบทกวี รวมถึงการนำรากเหง้าและความรู้ทางด้านภาษาจีนมาผสมผสานกับการทำงานศิลปะได้อย่างโดดเด่น ผลงานในช่วงเวลานี้จึงออกมาในรูปแบบการจัดเรียงตัวอักษรภาษาจีนหรือภาษาไทยเป็นรูปภาพ โดยเนื้อหาบางส่วนสอดคล้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 และ 6 ตุลาคม 1976 สำหรับประเด็นนี้จ่างมิได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด หากแต่เขาแสดงออกในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เฝ้ามองความเป็นไปของสังคม ดั่งจะเห็นได้จากการเขียนคำว่า ‘คน’ ที่จัดเรียงเป็นรูปปืน เครื่องหมายคำถาม แผนที่ประเทศไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น
ผลงานในส่วนถัดมาเป็นผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากอักษรภาพ การเขียนตัวอักษรภาษาจีนด้วยสีโปสเตอร์และหมึกในแนวทางนามธรรมที่ผู้ชมสามารถมองเห็นเป็นรูปวิวทิวทัศน์และใบหน้าคน ผลงานลักษณะนี้สร้างสรรค์ในช่วงทศวรรษ 1980
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าจ่างไม่มีรูปแบบการทำงานที่ตายตัว องค์ประกอบต่างๆ ถูกผสมผสานกันจนกลายเป็นเสน่ห์ในแบบของตัวเอง และนำเสนอในรูปแบบร่วมสมัย ซึ่งเป็นแก่นของนิทรรศการนี้ที่มีชื่อว่า ‘Non Form’ โดยยิน เคอร์ (Yin Ker) ภัณฑารักษ์ด้านศิลปะแห่งเอเชียอาคเนย์ และมาร์เชลลา ลิสตา (Marcella Lista) หัวหน้าภัณฑารักษ์และงานวิจัยแห่งเอเชียแปซิฟิกของพิพิธภัณฑ์ปอมปิดูได้หยิบยกมานำเสนอในนิทรรศการนี้ ทำให้จ่างโดดเด่นในหมู่ศิลปินไทยและมีความเป็นสากล
นิทรรศการ Tang Chang (1934-1990): Non-Forms ถึงแม้จะจัดแสดงในห้องขนาดย่อมแต่ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของศิลปินไทย โดยมีจุดเริ่มต้นจากนักสะสมผู้อุปถัมภ์พิพิธภัณฑ์เห็นถึงฝีมือไม้ลายมือและคุณค่าในงานของจ่าง นอกจากนี้ครอบครัวของจ่างได้มอบผลงานบางส่วนให้แก่พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนการร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดีทั้งจากประเทศไทยและสิงคโปร์ แม้ขั้นตอนการเตรียมงานมีระยะเวลาที่สั้นนับตั้งแต่การคัดสรรผลงานจำนวนมากที่ครอบครัวยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี การซ่อมแซมงาน การขนส่งมายังประเทศฝรั่งเศส รวมถึงการถ่ายภาพและจัดทำแคตาล็อกจนทำให้นิทรรศการนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ผู้ชมที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลกที่ต่อคิวเข้าชมงานศิลปะ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะได้เห็นผลงานของจ่างในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น บ่งบอกถึงความสามารถของศิลปินผู้นี้ที่ควรค่าแก่การชูธงไทยในระดับโลกได้อย่างภาคภูมิ