ในโอกาสที่ The MET กำลังจะมีนิทรรศการที่อุทิศให้แก่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เราจึงขอร่วมย้อนรำลึกถึงดีไซเนอร์ผู้ปราดเปรื่อง ผ่านมุมมองของผู้หญิงที่มีส่วนในเส้นทางอาชีพของเขา
Text: Fabia Di Drusco
Translated by Pimpilai Boonjong

เป็นไปไม่ได้ที่เมื่อพูดถึงอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ แล้วจะไม่นึกถึงหญิงสาวผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เพื่อนผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขา นับตั้งแต่ ลูลู เดอ ลา ฟาแลส, คลารา เซนต์, ปาโลมา ปิกัสโซ่ ไปจนถึงทาลิธา เก็ตตี และแคทเธอรีน เดอเนิฟ รวมทั้งเบตตี กาทรูซ์ เช่นเดียวกันกับเมื่อพูดถึงคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ดีไซเนอร์ร่วมยุคสมัยเดียวกัน ชีวิตของเขามักรายล้อมด้วยผู้หญิงซึ่งล้วนแต่ส่งอิทธิพลสำคัญต่อวิวัฒนาการอาชีพและสไตล์ของเขา
เริ่มต้นจากผู้หญิงคนแรกในชีวิต ซึ่งก็คือแม่ของเขาเอง ผู้หญิงที่แสนจะเย็นชา ห่างเหิน และชอบตัดสิน จนทำให้ลูกชายไม่กล้ายกมือที่ถูกมองว่าน่าเกลียดจนต้องสวมถุงมือปิดไว้ตลอดเวลา และยังทำให้เขาติดนิสัยพูดเร็วเพราะอยากจะพูดให้จบๆ เพื่อรีบออกจากห้อง แม่ผู้นี้มักปรากฏอยู่ในเรื่องราวของเขาครั้งแล้วเล่า โดยเป็นทั้งคนขายชุดชั้นในของห้างที่เบอร์ลิน เป็นชนชั้นสูงที่เล่นไวโอลินได้ และมีความสามารถในการขับเครื่องบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

แต่ดีไซเนอร์ผู้นี้ก็ยังรายล้อมด้วยผู้หญิงที่ช่วยเสริมจินตนาการของเขาให้เป็นรูปเป็นร่าง ยกตัวอย่างเช่น อังเดร พุทแมน ที่ทำให้เขาหลงใหลอาร์ตเดโค หรือหญิงทำงานมากความสามารถอย่าง กาบี อากิยง ที่ชวนเขาไปทำงานกับแบรนด์โคลเอ้ คนแฟชั่นผู้มีวิสัยทัศน์อย่าง แอนนา เปียจี และอแมนดา ฮาร์เลค ที่ช่วยเขาสร้างนิยามแห่งสไตล์ตอนทำงานให้กับแบรนด์โคลเอ้ ชาเนล และเฟนดิ นางแบบที่เขาคิดว่าเป็นตัวแทนของชาเนล เช่น เดอ ลา เฟรสซองจ์, คลาวเดีย ชิฟเฟอร์ และหญิงผู้เป็นมือขวาของเขาอย่าง วิร์จินี วิยาร์ด และซิลเวีย เวนตูรินี เฟนดิ
ในบรรดาคำไว้อาลัยอันงดงามถึงเขานั้น คำกล่าวของฮาร์เลคในงานประกาศรางวัล CFDA 2019 นั้นแสนจะกินใจ เขาทำให้เธอนึกถึง “วิธีการอันลึกล้ำและหลักแหลมในการให้เหตุผล” ความสามารถในการจัดการกับความคิดโดย “การแบ่งแยกความคิดออกเป็นห้องหับต่างๆ ซึ่งแต่ละห้องมีความแตกต่างกัน” ทั้งยังสามารถแยกแยะอัตลักษณ์ที่แตกต่างของแบรนด์ต่างๆ ที่เขาทำงานให้ เขาเชื่อมั่นว่า “ปารีสนั้นแตกต่างจากเมืองอื่นๆ ของอิตาลี ละเอียดอ่อนกว่า เย้ายวนน้อยกว่า ลึกล้ำ และมีสีสัน” เช่นเดียวกับความคิดที่ว่า “ชาเนลไม่มีวันเป็นเมซงอิตาเลียนได้ฉันใด เฟนดิก็ไม่ใช่แบรนด์ฝรั่งเศสฉันนั้น” ในความคิดของอแมนดา ฮาร์เลค “ลาเกอร์เฟลด์มักได้รับแรงกระตุ้นจากพลังของคนอื่น เขาผสมผสานสไตล์เลอ กอร์บูซิเยร์เข้ากับบาโร้ก แวร์ซายส์กับพังก์ อียิปต์โบราณกับนิวยอร์ก” เขาเป็น “คนใจร้อนแบบคนหัวคิดล้ำสมัย” และเพื่อถ่ายทอดภาพสเกตช์ออกมาเป็นเครื่องแต่งกาย เขาเรียกร้องความเชื่อมั่นจากทีมงาน “ในระดับเดียวกับศรัทธา และเขาก็จะตอบแทนทีมงานด้วยความซื่อสัตย์และความอารีอย่างเหลือล้น”

คลาวเดีย ชิฟเฟอร์ ท็อปโมเดลซึ่งได้เป็นมิวส์ของชาเนลในปี 1988 และทำให้มินิจัมป์สูทผ้าทวีดสีพาสเทลขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เล่าว่า “คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์เข้ามาในชีวิตฉันตอนที่อายุ 18 จากนั้นชีวิตฉันก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราร่วมงานกันนับครั้งไม่ถ้วนในแคมเปญ ในนิตยสารแฟชั่น และในหนังสือต่างๆ ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมาเขามาดูตอนที่ฉันขึ้นปกโว้กอังกฤษครั้งแรก ซึ่งถ่ายภาพโดยเฮิร์บ ริตซ์ แล้วเขาก็ขอเจอตัวฉัน ฉันไปที่อเตอลิเยร์บนถนนกัมบงด้วยความประหม่า แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็กลายเป็นว่าฉันกำลังช่วยเขาปรับคอลเลกชั่น แล้วหลังจากนั้นเราก็ไปเมืองโดวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองที่กาเบรียล ชาเนลเปิดบูติกครั้งแรกในปี 1913 ทีมของคาร์ล รวมถึงเอริก เฟริงเดร์ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์ และฉันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ อีกหนึ่งแคมเปญที่เป็นความทรงจำที่ดีสำหรับฉันถ่ายทำที่เวนิส ตอนนั้นคาร์ลทั้งเต้นและหัวเราะต่อหน้าพวกเรา” คลาวเดียบรรยายถึงคาร์ลว่า “เฉียบคม ทำอะไรเร็ว เต็มไปด้วยพลัง มีชีวิตชีวา และมีอารมณ์ขัน” เขามีความรู้ดุจสารานุกรม เรียนรู้ที่จะเข้าถึงเทรนด์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว แถมยังใจกว้าง พร้อมแบ่งปันมุมมองความงามและความคิดให้กับคนอื่นๆ “เขาเปิดโลกให้ฉันค่ะ”
วิตตอเรีย เซเรตติ คือนางแบบคนโปรดของคาร์ลในยุคหลังๆ เธอได้รับเลือกให้เดินแบบชุดเจ้าสาว (ซึ่งดีไซน์คล้ายชุดว่ายน้ำปักเลื่อมสีเงิน) เพื่อเดินปิดโชว์ เธอมองคาร์ลเป็น “เมนเทอร์ ครู และคุณปู่ผู้ทุ่มเทและใจดีอย่างเหลือเชื่อ” และคาร์ลยังเป็นต้นแบบให้กับคาเรน เอลสัน “เขาสอนฉันหลายอย่าง รวมถึงเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพที่เขาใช้ เขาให้หนังสือเกี่ยวกับศิลปินซึ่งฉันเองก็ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงมาก่อน” ส่วนคารา เดเลอวีญ ซึ่งได้สร้างสรรค์แคปซูลคอลเลกชั่น Cara Loves Karl เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บอกว่า “คาร์ลทำให้ฉันรู้จักชื่นชมความแปลกประหลาด”

คาโร เลอบาร์ ผู้รับผิดชอบงานด้านภาพลักษณ์และการสื่อสารสำหรับไลน์เสื้อผ้าของคาร์ล ทำงานกับเขามาเป็นเวลา 35 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1985 เธอจำได้ว่าเขาเป็นคนที่ “ฉลาดมาก มีสัญชาตญาณ เปิดรับทุกสิ่ง มีมุมมองเฉพาะตัว และไม่เหมือนคนอื่น” มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นถึงตัวตนของเขา “วันหนึ่งฉันบอกเขาว่าฉันโกรธเพราะหลุยส์ ลูกชายวัย 11 ขวบของฉันวาดภาพกราฟฟิตี้ในลิฟต์ของอาคารเรา และถ้าจะลบให้เกลี้ยงก็คงต้องใช้เวลาทั้งชีวิตแน่ๆ เขาถามฉันว่าวาดสวยไหม…พอวันต่อมาฉันต้องไปขอให้ลูกวาดเพื่อนำไปใช้ในโปรเจ็กต์ที่เราร่วมงานกับห้างเมซีส์”
ส่วนแอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กอเมริกา และผู้อำนวยการบรรณาธิการของบริษัท กงเด นาสต์ เคยเล่าถึงเหตุผลที่เธอเลือกสวมใส่ผลงานออกแบบของคาร์ลในโอกาสสำคัญของชีวิต “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฉันชอบผลงานของเขา มันสะท้อนถึงสิ่งที่ฉันเป็นและสิ่งที่ฉันหวังว่าจะเป็น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวคาร์ลด้วย การได้สวมชุดที่เขาสร้างสรรค์อย่างประณีต ทำให้ฉันรู้สึกใกล้ชิดกับเขาและรู้สึกมั่นใจในช่วงเวลาสำคัญเหมือนได้รับการปลอบโยนจากเพื่อนคนหนึ่ง”
แต่ก็นั่นแหละ ใช่ว่าชีวิตของไกเซอร์ คาร์ลจะเป็นภาพที่สวยงามดุจเทพสวรรค์เสมอไป หากลองอ่าน The Beautiful Fall: Fashion, Genius and Glorious Excess in 1970s Paris โดยอลิเซีย เดรก ก็จะเห็นภาพมากขึ้น ในบรรดาการเลิกราที่ฮือฮาที่สุดในชีวิตเขานั้นต้องยกให้การตัดขาดสัมพันธ์กับปาโลมา ปิกัสโซ เพื่อนรักที่ไปมาหาสู่ทั้งลาเกอร์เฟลด์ และแซงต์ โลรองต์อยู่นานหลายปี ด้วยความที่ดีไซเนอร์ทั้งสองแข่งขันกันอย่างรุนแรงจนต้องบังคับให้หลายคนต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ปาโลมาก็สามารถรักษาความพันธ์กับทั้งสองเอาไว้ โดยในปี 1978 เธอได้เข้าพิธีแต่งงานในชุดเจ้าสาวของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ในตอนกลางวัน และสวมชุดของลาเกอร์เฟลด์ในช่วงงานกลางคืน แต่สุดท้ายเธอก็ต้องตัดมิตรภาพกับคาร์ลอย่างเด็ดขาดในอีกไม่กี่ปีต่อมา เนื่องจากเขามักโจมตีแซงต์ โลรองต์อย่างไม่เหมาะสมโดยไม่หยุดหย่อน “น่าเสียดายที่ผมไม่พบวิธีอื่นในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน นอกจากการครอบครองหรือทำลายพวกเขา” คาร์ลเคยแสดงความคิดเห็นไว้

ในการครอบครองนั้น กลยุทธ์หว่านเสน่ห์ของคาร์ลยังคงเหมือนเดิมเสมอ นั่นคือเอาใจเป้าหมายด้วยกองของขวัญ หนังสือ ดอกไม้ การเดินทางด้วยเครื่องบินคองคอร์ด เข็มกลัดเพชรฟาแบร์เช แจ๊กเก็ตและกระเป๋าชาเนล เฟอร์ของเฟนดิ ห้องสวีทที่โรงแรมริตซ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเขาสนใจ หรือไม่ก็ลบล้างความผิดที่ถือว่าอภัยให้ไม่ได้
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอิเนซ เดอ ลา เฟรสซองจ์ ซึ่งคาร์ลยกย่องให้เป็นเฟซของชาเนลเมื่อตอนที่เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ในเดือนกันยายน 1982 ขณะอายุ 49 ปี และหลังจาก 11 ปีที่มาดมัวแซลจากไป อิเนซได้เดินเปิดการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งแรกของแฟชั่นชั้นสูงในเดือนมกราคม 1983 แถมยังได้เซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับชาเนลและได้เป็นเฟซในแคมเปญทั้งหมด “พวกเขาบอกว่าฉันเป็นมิวส์ แต่ฉันเป็นเหมือนตัวตลกของเขามากกว่า” เธอเขียนไว้ในอัตชีวประวัติของตัวเอง Modeling Profession เป็นเวลาห้าปีที่ความสัมพันธ์ของพวกเขาดำเนินไป โดยเจอกันทุกวันตั้งแต่บ่ายถึงเช้า แต่ในปี 1989 ลาเกอร์เฟลด์ก็ ‘แบน’ เธออย่างเป็นทางการ เพราะเธอตกลงที่จะโพสท่าโชว์หน้าอกแบบรูปปั้นมารีแอนน์ซึ่งเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐฝรั่งเศส แต่ในความเป็นจริง ตามคำบอกกล่าวของเธอก็คือ มันเป็นเพราะเขาอิจฉาความสัมพันธ์โรแมนติกของเธอกับลุยกี ดูร์โซ ว่าที่สามีในอนาคตของเธอ
อันที่จริงแล้วรูปแบบความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นกับการย้ายบ้านของเขาเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นการกำจัดของทั้งหมดผ่านการประมูล เปลี่ยนจากสไตล์อาร์ตเดโคไปสู่เฟอร์นิเจอร์ศตวรรษที่ 18 หรือสไตล์เมมฟิส สำหรับกาบี อากิยง ผู้ก่อตั้งแบรนด์โคลเอ้ ซึ่งคาร์ลเคยทำงานด้วยมา 20 ปี ก่อนจบสัมพันธ์กันไปในปี 1983 เธอมองว่าการเลิกราซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้ “เป็นรูปแบบของอิสรภาพของเขา”
