มิสเตอร์ดิออร์ไม่ได้เป็นเพียงกูตูริเยร์ที่เปี่ยมด้วยความสามารถเท่านั้น แต่เขายังเป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เขาไม่รอให้สุภาพสตรีที่อยู่ดินแดนอันไกลโพ้นต้องรอที่จะได้ยลความเป็นดิออร์ แต่เขานำเมซงดิออร์บินไปสู่ดินแดนอาทิตย์อุทัยด้วยตัวเอง และผู้ที่มาดูแลเมซงในยุคต่อมาก็ได้นำเมซงนี้ไปสู่ดินแดนต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นก็คืออินเดีย

เมื่อปี ค.ศ.1964 Dior ภายใต้การนำของ Marc Bohan ได้นำเหล่าบรรดานางแบบมาเปิดการแสดงแฟชั่นโชว์ที่เดลีและมุมไบ(ยุคนั้นยังเรียกชื่อ บอมเบย์) สายสัมพันธ์ของเมซงดิออร์กับอินเดียจึงไม่ใช่เพียงการเป็นห้องเสื้อชั้นสูงกับลูกค้าที่เป็นเหล่ามหารานีหรือภรรยาของเหล่ามหาเศรษฐีอินเดียเท่านั้น ในการเดินทางครั้งนั้นมาร์ก โบออง ยังได้แรงบันดาลใจจากอินเดียไม่ว่าจะเป็นกรโปรงทรงตรงที่เข้ารูปตรงช่วงสะโพกคล้ายสตรีอินเดียพันส่าหรีกับช่วงลำตัวลงมา การปักประดับด้วยไหมสีทองและเงินที่มีความแวววาวรวมทั้งลูกปัดชนิดต่างๆ รวมถึงผ้าไหม(ชานตุง)เฉดสีสดอย่างสีเขียวไพล และสีชมพูช็อคกิ้งพิงค์ที่กลายเป็นตัวแทนสีแห่งดินแดนตะวันออกไม่ใช่แค่เพียงอินเดีย แม้แต่ไดอาน่า วรีแลนด์ บรรณาธิการผุ้เป็นตำนานแห่งนิตยสารโว้กยังเอ่ยวรรคทองที่ว่า สีชมพูคือสีเนวีบลูแห่งอินเดีย เพราะสีน้ำเงินราชนาวีเป็นสียอดนิยมและเสมือนสีแห่งประเทศอังกฤษ ถ้าจะหาสีที่เสมือนตัวแทนของอินเดียก็คือสีชมพูช็อคกิ้งพิงค์นี่เอง














แต่การเดินทางของ Maria Grazia Chiuri สู่อินเดียไม่ได้เริ่มตั้งแต่ที่เธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดิออร์ หากแต่เธอกับ Karishma Swali ผู้อำนวยการแห่ง Chanakya ateliers และ Chanakya School of Craft ในมุมไบ ได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่มาเรียยังอยู่ที่วาเลนติโน และเธอบอกว่าเธอกับอินเดียได้สื่อสารกันแทบทุกวัน เพราะเธอร่วมงานกับสถาบันแห่งนี้เรื่อยมา และเราจะเห็นว่างานสร้างสรรค์ทางด้านแพรพรรณต่างๆ ไม่เพียงในรูปอาภรณ์ แต่งานศิลปะชิ้นใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงแฟชั่นโชว์โอ๊ตกูตูร์ของ Dior ภายใต้การนำของมาเรียนั้นได้สร้างสรรค์ขึ้นมาจากสถาบันแห่งนี้ และสถานที่จัดแสดงแฟชั่น Pre Fall 2023 ก็คือ Gate of India ที่เป็นประตูสู่ประเทศอินเดียสมชื่อมาตั้งแต่ยุคต้นศตวรรษที่ 20 ของนครมุมไบ





จริงๆ ในยุคโบราณของอินเดียงานปักประดิษฐ์ชั้นสูง(คนละแบบกับงานเย็บ ปัก ถัก ร้อย ทั่วไป)นี้เคยเป็นสิ่งต้องห้ามที่จะให้ผู้หญิงอินเดียได้เรียนรู้ จะมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ศึกษาศาสตร์ชนิดนี้ แต่ปัจจุบันศาสตร์ชนิดนี้ได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้หญิงอินเดียที่ได้เข้ามารำ่เรียนกับสถาบันแห่งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนสถานะของผู้หญิงในสังคมอินเดียที่อย่างชัดเจน
คอลเลกชั่นนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ Maria Grazia Chiuri และ Karishma Swali โดยมีการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าต่างๆ จากการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้อันเป็นเทคนิคโบราณของอินเดีย ที่เรายังจะเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปกติจะนำยมทำกับผ้าฝ้าย แต่ดิออร์ใช้พิมพ์บนผ้าไหม ส่วนลายพิมพ์ toile de Jouy ซึ่งเป็นเทคนิคการพิมพ์ลายบนผ้าฝ้ายที่ยืนยันถึงการเชื่อมศาสตร์แห่งอาภรณ์ระหว่างฝรั่งเศสและอินเดียมายาวนานตั้งแต่มีการค้าขายระหว่างสองชาตินี้ โดยผ้าชนิดนี้จะพิมพ์ลายที่บอกเล่าเรื่องราว เราจึงเห็นเสือโคร่ง นกยูง ดอกไม้ ต้นไม้เมืองร้อนต่างๆ อยุ่ในลวดลาย Jardin Indien ของผ้า toile de Jouy ของดิออร์ในคอลเลกชั่นนี้ นอกจากนี้มาเรียเธอยังนำเอาเอกลักษณ์ของบอลลีวู้ด(Ballywood) มาประทับไว้ในรูปของลายพิมพ์แบบโปสเตอร์หนังในด้านหลังของแจ็คเก็ต โดยมีคำขวัญที่แปลได้ประมาณว่ารวมกันแล้วเราจะแข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนการทำงานของเธอกับสถาบันในอินเดียนี้อีกด้วย












รูปทรงของชุดในคอลเลกชั่นนี้ได้อิทธิพลของเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของบุรุษอินเดียมากกว่าผู้หญิงด้วยซ้ำ เราจะไม่เห็นชุดในโครงแบบส่าหรีที่มีชายผ้าห้อยยาวไปด้านหลังหรือชุดส่าหรีตรงๆ เลยแม้แต่ชุดเดียว แต่เราจะได้เห็นชุดที่ดัดแปลงมาจากชุดเนห์รู ซึ่งเป็นการแต่งกายที่สุภาพของผู้ชายอินเดีย และชวาหระลาล เนห์รู ผู้เป็นบิดาของดินเดียยุคใหม่ได้แต่งกายในรูปแบบนี้เพื่อปนำเสนอความสุภาพในแบบสุภาพบุรุษอินเดียโดยไม่ได้แต่งกายตามสากลนิยม





















แจ็คเก็ตแบบเนห์รู ที่มีคอปกสูงยกขอบขึ้นมาเล็กน้อยโดยไม่ได้เป็นคอปกถูกจำมาผสมผสานกับแจ็คเก็ตบาร์อันเป็นดีเอ็นเดของห้องเสื้อดิออร์ได้อย่างลงตัว การเลเยอร์ชุดก็ยึดแบบชุดเนห์รูแต่ทำให้ทรงหลวมขึ้น กางเกงทรงหลวมตัดจากผ้าไหมชานตุง(ผ้าไหมทอมีปมไหมในเนื้อผ้า นิยมมากในยุคปลายยุคฟิฟตี้ส์)สวมทับด้วยเสื้อเบลาส์แขนยาวสีขาวตัวยาวแบบเสื้อของชุด Kurta ของชายอินเดีย โดยกางเกงมีทั้งขายาวทรงพองเล็กน้อยคล้าย ๆ กางเกงชนเผ่าแต่ไมไ่ด้ทำเป้ายานมาก และกางเกงขากระบอก แต่ในความเป็นแฟมินีนนั้นจะอยู่ในกระโปรงซึ่งจะเน้นความเป็นทรงตรงแต่ผ่าข้างที่ไม่เพียงสะดวกในการเคลื่อนไหว แต่ยังเป็นโครงชุดที่เมซงดิออร์ผลักดันเทร็นด์อินเดียในยุคซิกส์ตี้ส์ออกมา ส่วนกระโปรงสั้นจะเป็นกระโปรงตีเกล็ดรอบตัว นอกจากนี้เสื้อโค้ตในยุคมาร์ก โบออง ได้ถูกนำมามาคลี่คลายออกมาเป็นชุดผ้าไหมที่สวยหรู มีความเป็นดิออร์อย่างเด่นชัด












Photo by Pascal Le Segretain/Getty Images for Christian Dior
สำหรับการปักประดับนั้นการประดับด้วยกระจกเงารูปกลมที่เราจำจนติดตาว่าเป็นงานประดับบนเสื้อผ้าของอินเดียนั้น ทางดิออร์และ Chanakya ateliers ได้ยกระดับความมหัศจรรย์แห่งงานฝีมือขึ้นไปอีกด้วยชุดที่ประดับด้วยเลื่อมแบบกระจกเงากลมนี้ทั้งตัวสำหรับเบลาส์ตัวสั้น นอกจากนี้การผักด้วยไหมทองหรือเลื่อมชนิดต่างๆ ก็ทำได้อย่างวิจิตรแต่ขณะเดียวกันก็ดูโมเดิร์น ดังที่มาเรียเน้นเลยว่าเป็นการทำงานร่วมกัน เราจึงไม่ได้เห็นความวิจิตรอินเดียแบบเดิมๆ หรือแบบที่คาดว่าจะได้เห็น แต่เป็นความวิจิตรแบบอินเดียที่โมเดิร์นโดยยังรวบรวมเอาศาสตร์ต่างๆ แห่งงานฝีมือของอินเดียมาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ