
นอกจากจะเป็นเจ้าแรกที่สามารถพัฒนานาฬิกากันน้ำ (ตัวเรือน Oyster ที่เราคุ้นเคยกันดีตั้งแต่ปี 1926) Rolex ยังเป็นเจ้าแห่งการพัฒนานาฬิกาดำน้ำนับตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มสร้างยานสำรวจโลกใต้น้ำ และตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา Rolex ได้ร่วมกับนักสำรวจในการพัฒนานาฬิกาเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำน้ำมาแล้วหลากรุ่น เช่นรุ่น Submariner ที่เปิดตัวในปี 1953 รุ่น Sea-Dweller ในปี 1967 และ Rolex Deepsea ในปี 2008 เป็นต้น
ล่าสุด Rolex ได้เปิดตัวรุ่น Oyster Perpetual Deepsea Challenge ซึ่งหลอมรวมความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาเข้ากับนวัตกรรมใหม่ และกลายเป็นประจักษ์พยานความสำเร็จของความก้าวหน้าครั้งใหม่ในการเดินทางดำดิ่งสู่โลกใต้มหาสมุทร อันเป็นตัวแทนปณิธานของความป็นเลิศของ Rolex ผลงานใหม่นี้สามารถทนทานต่อการลงไปใต้น้ำลึกถึง 11,000 เมตร ซึ่งถือเป็นนาฬิกาที่ดำน้ำได้ลึกที่สุดในโลกยามนี้
Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge เป็นนาฬิกาดำน้ำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานรุ่นทดลองในโปรเจ็กต์สำรวจใต้ท้องทะเลครั้งยิ่งใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า Deepsea Challenge เมื่อปี 2012 โดย เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับชื่อดังและ Rolex Testimonee ในฐานะที่เป็นผู้นำโปรเจ็กต์ เขายังได้ใส่นาฬิการุ่นทดลองนั้นลงไปกับเรือดำน้ำเพื่อไปยังร่องลึกมาเรียนาด้วยความลึกถึง 10,908 เมตร
นาฬิกา Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge ซึ่งเปิดตัวในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ นับเป็นผลงานที่โดดเด่นด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง ตัวเรือนและสายผลิตจากวัสดุ RLX ซึ่งเป็นไทเทเนียมอัลลอยเกรด 5 มีความทนทานต่อการเปลี่ยนรูปทรงและการขึ้นสนิม ทั้งยังทำให้นาฬิกามีน้ำหนักเบา โดยสามารถลดน้ำหนักของตัวเรือนได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์จากนาฬิการุ่นทดลองของคาเมรอน




นอกจากนี้ยังมี Ringlock System ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ Rolex เป็นโครงสร้างสำคัญที่เสริมตัวเรือนให้มีความแน่นหนา โดยประกอบไปด้วยคริสตัลแซฟไฟร์ทรงโดม แหวนอัดเหล็กไนโตรเจน-อัลลอย และตัวเรือนด้านหลังทำจากไทเทเนียม RLX ทำให้ Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge สามารถรับประกันการกันน้ำ รวมถึงมีประสิทธิภาพในการทนทานต่อแรงดันภายใต้ความลึก และยังติดตั้งระบบวาล์วคายฮีเลียมซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Rolex ช่วยป้องกันไม่ให้นาฬิกาเกิดความเสียหาย (เนื่องจากฮีเลียมเป็นก๊าซที่จำเป็นสำหรับนักดำน้ำ อาจเกิดแรงดันจนทำให้คริสตัลของนาฬิกาหลุดออกจากตัวเรือนได้) โดยระบบนี้จะเปิดใช้งานอัตโนมัติทันทีที่แรงดันภายในตัวเรือนมีค่าสูงเกินไป
และจากตัวเลขที่ระบุว่ากันน้ำได้ลึก 11,00 เมตร Rolex ยังได้ร่วมกับ COMEX (Compagnie Maritime d’Expertises) พัฒนาถังแรงดันสูงพิเศษเพื่อทดสอบการกันน้ำของ Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge ซึ่งได้ผลว่านาฬิการุ่นนี้มีประสิทธิภาพในการรองรับแรงดันภายใต้ความลึก 13,750 เมตร (45,112 ฟุต) ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 25 เปอร์เซ็นต์จากตัวเลขที่อ้างอิงบนตัวเรือน




นาฬิกาเรือนนี้มีหน้าปัดขนาด 50 มม. เม็ดมะยมไขลาน Triplock สามารถปรับขยายขนาดสายได้อย่างง่ายดาย ขอบหน้าปัดหมุนได้ทิศทางเดียว พร้อมด้วยหน้าปัด Chromalight เอกสิทธิ์ของ Rolex ซึ่งช่วยให้อ่านค่าเวลาใต้น้ำได้อย่างชัดเจน ทำงานด้วยกลไกคาลิเบอร์ 3230 ที่เปิดตัวในปี 2020 สามารถประหยัดพลังงานได้เพิ่มขึ้นประมาณ 70 ชั่วโมง ทั้งยังได้รับการออกแบบอย่างดีเยี่ยม ตั้งแต่ตัวเรือนจนถึงสายนาฬิกา เพื่อให้เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนรองรับการสวมใส่เพื่อการดำน้ำทุกรูปแบบ