Sunday, March 26, 2023

แนวคิด ความงาม และแรงบันดาลใจของ DIOR Spring-Summer 2023 Haute Couture

สำหรับมาเรีย กราเซีย คิวริ (Maria Grazia Chiuri) ลำดับขั้นตอนต่างๆ ระหว่างการทำงานกับแผนกห้องเสื้อชั้นสูงในแต่ละคอลเลกชันนั้น ถือเป็นโอกาส และช่วงเวลาที่จะได้พิจารณาทบทวนถึงกระบวนการทางความคิดอันซับซ้อนเกี่ยวกับศิลปะงานออกแบบโครงสร้างเครื่องแต่งกายในฐานะหนึ่งในปัจจัยสี่ของชีวิต นั่นก็คือเครื่องนุ่งห่มที่ต้องมอบประโยชน์ทั้งในแง่ของการสวมใส่ และการทวีความงดงามให้แก่สรีระรูปกาย

คอลเลกชันเสื้อผ้าชั้นสูง Dior ประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน 2023 นี้ ได้รับอิทธิพลทางการออกแบบจากโจเซฟีน เบเกอร์ (Josephine Baker ชื่อเดิมคือฟรีดา โจเซฟีน แม็คโดนัลด์) นักร้อง และนักเต้นหญิงเชื้อสายแอฟริกันสัญชาติอเมริกันผู้เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางทศวรรษ 1920 เพื่อหนีการเหยียดเชื้อชาติ และการแบ่งแยกมาสู่วิถีเสมอภาค และทัดเทียมแห่งมหานครปารีส ดินแดนอันเป็นจุดหมายปลายทางความฝันของบรรดาศิลปินหลากชาติพันธุ์ ตลอดจนนักเขียน และนักออกแบบแฟชัน ที่นี่ เธอคือตัวแทนแห่งเสน่ห์หรูหรา ต้นแบบความทันสมัยแห่งยุคด้วยการหักล้างคตินิยมแบบเหมารวมเพื่อก้าวผ่านบรรดาอคติต่อกลุ่มคนผิวสีโดยอาศัยความสามารถในการหลอมรวมวัฒนธรรมต่างขั้วมาถ่ายทอดลงสู่การแสดงเปี่ยมพลัง และเป็นแรงขับเคลื่อนวิวัฒนาการของวัฒนธรรมคาบาเรต์ในโรงมหรสพ ผลงานทั้งหลายสร้างชื่อให้เธอโดดเด่น เป็นที่รู้จัก และจดจำในระดับสากล 

หลังสงครามโลกสุดสิ้น กับฐานะพลเมืองสัญชาติฝรั่งเศสเต็มตัว เส้นทางสายอาชีพศิลปินของเบเกอร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงบนเวที หรือภาพยนตร์ ราชินีคาบาเรต์ ดาวจรัสแสงแห่งจอเงิน ได้รับการต้อนรับอย่างสมศักดิ์ศรีไม่เพียงทุกโรงมหรสพชื่อดังทั่วภาคพื้นยุโรป หากยังรวมถึงบนเวทีแห่งสแตรนด์ เธียเตอร์ และคาร์เนกี ฮออล์ในมหานครนิวยอร์กด้วยเครื่องแต่งกายสไตล์ฝรั่งเศส ซึ่งหลายชุดเป็นผลงานการออกแบบจากคริสเตียน ดิออร์เพื่อเสริมส่งเสน่ห์ รองรับบารมีแห่งความสำเร็จของเธอ

บรรดาภาพถ่ายของโจเซฟีน เบเกอร์ในยุคนั้น ถึงแม้จะมีเพียงสองสีคือขาวกับดำ ทว่าความต่างระดับทางเฉดโทนกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่ละรูป กับทุกภาพ ร่วมกันเป็นองค์ประกอบของอัตชีวประวัติทางการแต่งกาย (จากภาพถ่ายของเธอในฐานะนักเต้น, นักแสดงผู้สร้างความบันเทิง, สมาชิกขบวนการต่อต้านนาซีในฝรั่งเศส, นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองแอฟริกัน-อเมริกัน, นักสิทธิมนุษยชน และสุภาพสตรีผู้สร้างคุณูปการสากล) เล่าขานถึงเรื่องราวของนักบุกเบิกต้นแบบผู้ปูรากฐานความสำเร็จจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบการเต้นชุด “กระโปรงกล้วย” จนประสบความสำเร็จในฐานะกระบอกเสียงผู้ทรงอิทธิพล ทุ่มเทกายใจให้กับภารกิจเพื่อสร้างโลกใบที่ดีกว่าเดิม และถึงแม้ชีวิตของเธอจะหาไม่ กระนั้นคุณงานความดีที่ยังคงอยู่ ทำให้เธอได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศส ด้วยการตัดสินใจย้ายศพของเธอ ซึ่งฝังอยู่ในมอนาโคมาไว้ที่วิหารพาเธออนร่วมกับสี่นักคิดบุคคลสำคัญของมาตุภูมิฝรั่งเศส กล่าวได้ว่าเธอเป็นหญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับการฝังร่างอยู่ในวิหารเดียวกันกับวอลแตร์, รูซโซ, วิกตอร์ อูโก และมาดามมารี คูรี

ในภาพถ่ายดังกล่าวเหล่านั้น มีหลายภาพเป็นห้องแต่งตัวอันแสนอบอุ่นที่เธอใช้เตรียมตัวก่อนก้าวขึ้นสู่เวทีการแสดง ภายในห้องส่วนตัวเต็มไปด้วยเสื้อโคทหลายชุด ซึ่งดูคล้ายกับชุดคลุมอาบน้ำสำหรับทำหน้าที่ปกปิด และปกป้อง โดยตัดเย็บจากผ้ากำมะหยี่เนื้อเบาขึ้นรอยยับหลายริ้วอันเป็นผลจากพลังสะท้อนถึงการเคลื่อนไหว บางชุดก็เป็นผ้ากรุนวมเย็บตะเข็บเดินลาย และเมื่อชุดคลุมเหล่านี้ถูกเปิดออก ก็เผยให้เห็นเรือนกายภายใต้ชุดชั้นในผ้าซาตินเนื้อบางเฉดสีนวลแป้งตัดดำ ซึ่งกลายเป็นดาวเด่น ต้นแบบความคลาสสิกแห่งทศวรรษ 1950 ที่ได้รับการรังสรรค์ให้เป็นผลงานร่วมสมัยอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

เนื้อผ้าของอาภรณ์ที่ทิ้งตัวบนเรือนกาย ให้สัมผัสทะนุถนอมคลอเคลีย ไม่ว่าจะเป็นไหม หรือกำมะหยี่ ซึ่งบางชุดผ่านกระบวนการตกแต่งเนื้อสัมผัสให้ปรากฏลายริ้วยับย่นเป็นจังหวะอย่างงดงาม เติมความสดใส มีชีวิตชีวาด้วยความอ่อนช้อยของงานปัก ทั้งเลื่อม และหมุดเงินขนาดจิ๋วที่เรียงรายพรายพร้อยไปทั่ว ต่างร่วมกันสะท้อนแสงตกกระทบบนรันเวย์จรัสประกายสว่างไสวไปสู่สายตาของผู้รับชมเช่นเดียวกับระยับเฉดสีทอง และสีเงินของพู่ริ้วชายครุยพลิ้วไหวแกว่งไกวไปตามอากัปการเคลื่อนไหว ในขณะที่ชุดสูท และโคททั้งหลายได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อย้อนรำลึกถึงความรัก และชื่นชมที่มงซิเออร์ดิออร์มีต่อบรรดาสิ่งทอสำหรับตัดเย็บเครื่องแต่งกายชายมากเสียจนนำมาเป็นลูกเล่นสรรค์สร้างเสื้อผ้าสตรีอย่างทรงแบบฉบับ ความยาวของชายกางเกง หรือกระโปรงก็อยู่เหนือข้อเท้าเพื่อเผยให้เห็นความหรูหราตระการตาของส้น และพื้นรองเท้าสัณฐานมหึมา

สำหรับเวทีการแสดงของคอลเลกชัน ได้รับการออกแบบโดยมิเคอลีน โธมัส (Mickalene Thomas) จิตรกรร่วมสมัยเชื้อชาติแอฟริกันสัญชาติอเมริกัน เพื่อยกย่องเหล่าสตรีหลากชาติพันธุ์นอกเหนือจากผิวสีอย่างโจเซฟีน เบเกอร์ ผู้พัฒนาตนไปสู่ตำแหน่งผู้นำกระแสความคิดอันทรงอิทธิพลด้วยการทลายกำแพงแบ่งแยกชนชั้น และเชื้อชาติ หักล้างความคิดเห็นอันเต็มไปด้วยอคติฝังแน่นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในฐานะมนุษย์ผู้มีสิทธิ และความเสมอภาคทัดเทียม ศิลปินหญิงรับเชิญได้แสดงให้เห็นถึงความหมายอันลึกซึ้งของคอลเลกชัน พร้อมกับเปิดโลกทัศน์ใหม่ในงานห้องเสื้อชั้นสูงผ่านแง่มุมที่ว่า แก่นแท้แห่งแฟชันสามารถเป็นตัวแทนความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และพลังในตัวเองของแต่ละบุคคลได้อย่างชัดเจน

Other Articles