Friday, December 8, 2023

Esther Abrami หญิงสาวที่ตั้งใจให้พลังเพลงคลาสสิกเป็นเครื่องนำทาง

ถ้าคุณเป็นคอดนตรีคลาสสิก คุณอาจจะได้ยินชื่อ เอสเธอร์ อะบรามี (Esther Abrami) นักไวโอลินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง แถมยังเป็นศิลปินในสังกัด Sony Classical ด้วย นอกจากเล่นดนตรีแล้ว เธอยังตั้งใจเผยแพร่แง่มุมของดนตรีคลาสสิกให้คนทั่วไปได้รู้จักผ่านการทำช่องยูทูบและจัดรายการพอดแคสต์ เราได้พบกับเธอภายในงานอีเวนต์ Meet The Dreamhers ของแบรนด์นาฬิกา Zenith ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้หญิงเก่งได้มาแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงที่มีความฝันคนอื่นๆ “มันน่าตื่นเต้นมากค่ะ ฉันว่าการมีแพลตฟอร์มให้เราได้แบ่งปันเรื่องราวทำนองนี้อย่างอิสระเป็นสิ่งสำคัญ​ ทั้งเรื่องเส้นทางของเราว่าเป็นอย่างไร ต้องฟันฝ่าอะไรมาบ้าง แม้ว่าทุกคนจะมาจากต่างวงการและคนละมุมโลก แต่ก็มีจุดร่วมที่คล้ายๆ กัน และทำให้เรากลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว”

-ฉันดูประวัติที่ให้มา แต่ละคนประสบความสำเร็จและยังอายุน้อยกันอยู่เลย รวมทั้งคุณด้วย  

“เหมือนเราอายุไม่มาก แต่ฉันก็ใช้เวลากว่าจะมาถึงจุดนี้ ฉันคิดว่าอายุกับความสำเร็จไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่ ในโลกของดนตรี เราเริ่มต้นกันตั้งแต่เด็กเลยค่ะ แถมยังมีเด็กเก่งๆ อีกมากมาย บางคนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 12-13 แต่ในวงการนี้ก็มีความเชื่อผิดๆ ว่าถ้าไม่เริ่มตั้งแต่เด็กก็ล้มเลิกไปเลยดีกว่า ตัวฉันเองเริ่มเรียนตอน 10 ขวบ ซึ่งไม่ถือว่าเด็กแล้วล่ะ แต่มันก็ไม่ทำให้ฉันล้มเลิกความฝัน ฉันว่าเราควรให้เวลาในการทำสิ่งที่ตัวเองชอบในแบบของเรา บางทีเราอาจจะใช้เวลานานกว่าคนอื่น หรือต้องเลี้ยวไปในเส้นทางอื่นบ้างก่อนจะรู้จักตัวเอง” 

-คุณย่าให้ไวโอลินจิ๋วตอนคุณอายุ 3 ขวบ เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ว่าคุณเกิดมาเพื่อดนตรี แล้วคุณตกหลุมรักมันจริงๆ ตอนไหน

“พ่อแม่ฉันไม่ได้เป็นนักดนตรี ท่านไม่เคยบอกให้ฉันเล่นดนตรีเลย แต่จะรอให้ฉันพูดออกมาเองว่าอยากเล่น ตอนนั้นฉันอายุ 10 ขวบ ฉันบอกท่านว่าอยากเรียนดนตรี เป็นช่วงที่ฉันตกหลุมรักมันแล้ว จริงๆ ตอนเด็กฉันยังเล่นไม่เก่งหรอกค่ะ แต่ถ้ามีคนมาที่บ้าน ฉันก็กระตือรือร้นที่จะโชว์นะ ฉันมีความสุขที่ได้แชร์เสียงดนตรีของฉันกับคนอื่น” 

-ทำไมถึงต้องเป็นดนตรีคลาสสิกคะ ฉันว่าคุณคงโตมากับดนตรีแนวอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน

“ใช่ค่ะ ฉันฟังเพลงหลายแนวเลย แต่ดนตรีคลาสสิกมันพิเศษ มันทำให้รู้สึกได้หลากหลายอารมณ์กว่าดนตรีอื่นๆ เหมือนเราได้ดำดิ่งกับความรู้สึก แล้วก็ไม่มีเนื้อเพลง ซึ่งทำให้เราไม่ถูกจำกัดด้วยเรื่องราว เป็นแง่มุมที่ฉันอยากให้คนอื่นๆ ได้ลองฟัง”

-คุณเคยบอกว่าจุดเริ่มต้นที่อยากเป็นนักดนตรีเพราะความสุขจากดนตรี จนเมื่อถึงวันหนึ่งคุณอยากไปสู่จุดที่เล่นได้อย่างเพอร์เฟ็กต์ซึ่งกลายเป็นแรงกดดัน จนถึงตอนนี้เป้าหมายทางดนตรีของคุณคืออะไร

“ฉันยังอยากจะเล่นให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ คือเรายิ่งฝึกก็ยิ่ง express ตัวเองได้ดี ตอนที่กดดันอาจเพราะเราไม่รู้จะ express ตัวเองอย่างไร อาจไม่ได้ด้วยเทคนิคหรือการเข้าถึงอารมณ์ ฉันว่าดนตรีไม่เหมือนกีฬาที่ใช้เกณฑ์ตัดสินว่าใครทำแต้มได้มากสุด เข้าเส้นชัยเร็วสุด ดนตรีเป็นอัตวิสัย มันเลยรู้สึกเหมือนว่าเราไม่ถึงขั้นบรรลุสักที มันก็เลยเป็นเป้าหมายที่ไม่มีวันสิ้นสุด ส่วนเป้าหมายในการแบ่งปันความสุขจากดนตรีให้กับคนอื่นๆ ของฉันก็ยังคงอยู่นะคะ ฉันดีใจมากที่คนฟังดนตรีของฉันไม่ได้มีแค่คอดนตรีคลาสสิกเท่านั้น”

-ตลอดชีวิตที่ผ่านมา มีโมเมนต์ไหนที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิตไหม

“ตอนอายุ 14 ฉันออกจากบ้านที่ฝรั่งเศสไปเรียนดนตรีที่อังกฤษ (Royal College of Music) มันเลยเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตจริงๆ เพราะฉันเป็นลูกคนเดียว ต้องไปอยู่ในประเทศที่พูดภาษานั้นก็ไม่ได้ ตอนแรกที่เรียนฉันไม่เข้าใจเลย แต่มันก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ อีกโมเมนต์หนึ่งคือเมื่อไม่กี่เดือนก่อนฉันได้แสดงที่ Royal Albert Hall ฉันฝันมานานหลายปีแล้ว ในที่สุดก็เป็นจริง บางทีฉันยังถามตัวเองว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ ใช่ไหม (หัวเราะ) ตอนอยู่บนเวทีฉันคิดแค่ว่าจะเอ็นจอยกับดนตรีให้มากที่สุด เพราะมันไม่ใช่แค่เป้าหมายแต่เป็นความฝัน ตัวฉันเริ่มเล่นดนตรีช้า เลยรู้สึกว่าตัวเองตามหลังคนอื่นตลอดเวลา ต้องพยายามไล่ตามให้ทัน แต่โมเมนต์นั้นฉันกลับคิดว่ามันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะมาจากไหน จะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะถ้าคุณเชื่อในอะไรสักอย่าง ขอให้ทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึง” 

-เอาจริงๆ มีช่วงที่ท้อหรือสงสัยในตัวเองบ้างไหมคะ

“ฉันรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ ฉันคิดว่ามันสำคัญนะที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะมันอาจทำให้เราเห็นหนทางที่ดีกว่าและเป็นพลังได้ แม่ฉันบอกว่าทุกสิ่งในชีวิต แม้แต่สิ่งที่ไม่ดีก็ถือเป็นของขวัญ ต้องพยายามมองบวก เราต้องพยายามบาลานซ์สิ่งต่างๆ ค่ะ”

-ทุกวันนี้การฝึกซ้อมถือเป็นงานสำหรับคุณไหม

“คนอาจจะมองว่าโชคดีจังที่ได้ใช้ชีวิตตามแพสชั่น แต่จริงๆ มันถือเป็นงานด้วยค่ะ และเราจำเป็นต้องตระหนักอย่างนั้นด้วย โชคดีที่เรารักมัน แต่ใช่ว่าทุกโมเมนต์จะน่าอัศจรรย์ เราต้องผ่านความยากลำบาก อาจจะเหนื่อยจนไม่มีแพสชั่นจะซ้อม แต่เนื่องจากมันเป็นงานเราก็ต้องมีวินัยค่ะ”

-อยากทราบว่านักดนตรีหญิงต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง

“ฉันทำวิดีโอสัมภาษณ์นักดนตรีหญิงมากมายในวงการคลาสสิก ซึ่งมันดีนะคะที่ได้คุยแบบเปิดอกเพราะมีอะไรหลายอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนๆ และไม่มีใครพูดถึง เพศหญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าเพศไหนเลย พอมาถึงยุคนี้เราไม่ยอมรับแบบนั้นแล้ว ซึ่งมันเริ่มจากการพูดคุยกัน นักประพันธ์เพลงหรือนักดนตรีหญิงหลายคนโดนตัดสินเพราะเพศสภาพ เพราะลุค ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลย ทำไมเราต้องโดนตัดสินจากลุคที่ใส่ หรือถูก sexaulize ตลอดเวลา มีนักดนตรีหญิงคนหนึ่งเคยแต่งกายแบบหนึ่งในช่วงวัยเด็กจนกลายเป็นภาพจำจนไม่สามารถเปลี่ยนได้ การได้พูดออกมาต้องอาศัยความกล้านะคะ”

-คุณเล่าว่าทำโปรเจ็กต์นักประพันธ์เพลงหญิงที่ถูกโลกลืม ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณไม่เคยคิดถึงจุดนี้มาก่อน

“ฉันตระหนักช้าไป บางทีเราเองก็อยู่กับความคิดฝังหัวจนเคยชินว่านักประพันธ์เพลงหรือคอนดักเตอร์ต้องเป็นผู้ชาย ฉันไม่เคยฉุกคิดว่าผู้หญิงก็เป็นได้ ซึ่งพอมาคิดแล้วมันก็น่าช็อก ฉันเรียนดนตรีมา 15 ปี เรียนประวัติศาสตร์ดนตรี แต่ไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับนักประพันธ์เพลงหญิงเลยทั้งที่จริงแล้วมีอยู่มากมายหลายคนทีเดียว” 

-บางทีก็น่าคิดนะว่าทำไมผู้หญิงเองก็เคยชินกับความคิดนี้ แบบว่าเพศเราไม่คู่ควรกับอะไรบางอย่าง

“ใช่ค่ะ แต่เมื่อเราได้พูดคุยกัน มันทำให้เราเชื่อมโยงกับผู้หญิงคนอื่น และได้รับรู้ว่าพวกเรานี่แหละที่จะเป็นพลังให้กันและกันได้ แล้ววันหนึ่งเราก็จะไม่คิดว่าเราไม่คู่ควร”

-การเล่นไวโอลินทำให้คุณเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้างคะ 

“มันสอนฉันให้รู้จักตัวเองเยอะเลยค่ะ ฉันเป็นคนใจเร็ว ไฮเปอร์ แต่ไวโอลินสอนใจฉันให้รู้จักอดทน เราเร่งไม่ได้ บางทีต้องซ้อมสิ่งเดิมซ้ำๆ เป็นร้อยๆ รอบ และยังสอนให้ฉันใจดีกับตัวเอง แม้ว่าเราจะอยากก้าวไปข้างหน้า แต่ก็ต้องหาบาลานซ์ ต้องไม่ลืมตัวเองหรือสุขภาพตัวเองด้วยค่ะ”

-สุดท้ายแล้ว ทำไมเราถึงต้องมีฝันคะ

“ฉันว่าความฝันเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ฉันว่าเราไม่ได้หยุดฝันเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราแค่เลิกเชื่อในฝันของเรา ซึ่งมันน่าเศร้านะคะ เวลาเราถามเด็กๆ พวกเขาจะตอบได้โดยไม่คิดเยอะเลยว่าฝันอะไร แต่พอเราโตขึ้น เราผ่านอะไรมากมาย มันอาจทำให้ชีวิตต้องเจ็บปวดจนเลิกฝันไป แต่หลายสิ่งมันก็เริ่มจากความฝันนี่แหละค่ะ” 






Other Articles