Monday, March 27, 2023

‘ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน’ นิทรรศการภาพถ่ายที่ทรงพลัง

เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 160 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย พร้อมกับสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานคร และริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ขอต้อนรับทุกท่านร่วมชื่นชมและสำรวจ ‘ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน’ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าประทับใจ บ้างก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าทะนุถนอม บ้างก็มีมิติยิ่งใหญ่ในแบบของวิวเส้นขอบฟ้า เสมือนมิตรภาพที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับเยอรมัน ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่างๆ มากมาย อีกทั้งในแต่ละรูปแบบนั้นต่างก็มีเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังที่ยังไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน ซึ่งบางเรื่องชวนเราย้อนอดีตไปไกลถึงทศวรรษ 1800

เรื่องราวจากสองเมืองหลวงที่แตกต่างในแบบเฉพาะตัวได้รับการบันทึกผ่านเลนส์กล้อง โดยสองนักถ่ายภาพชื่อดัง ‘ราล์ฟ โทเท่น’ และ ‘วอล์ฟกัง เบลวิงเคิล’ ผสานกันเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ยิ่งใหญ่อลังการ สะท้อนเสน่ห์อันเย้ายวนใจของสองเมืองหลวง งานภาพถ่ายของทั้งคู่นำเสนอรายละเอียดเล็กๆ ที่ผู้คนไม่ค่อยได้สังเกตเห็น ทว่าได้เปลี่ยนแนวทางการรับรู้ของเราที่มีต่อเมืองกรุงทั้งสองได้อย่างคาดไม่ถึง และที่สำคัญ งานของนักถ่ายภาพคู่นี้จะเย้ายวนเราให้อดใจไม่อยู่จนต้องออกไปเดินซ่อกแซ่กสำรวจถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรือในเบอร์ลิน เพื่อค้นพบ (หรือย้อนกลับไปพบ) ร่องรอยอันล้นเสน่ห์แบบนั้น

นิทรรศการครั้งนี้ถือกำเนิดจากแนวคิดและประสบการณ์ของคุณมาเร็น นีไมเออร์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเบอร์ลินถึง 28 ปีเต็ม ก่อนเดินทางมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันเกอเธ่ ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งในช่วงเวลาที่ทำงานและใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในมหานครอันเป็นเมืองหลวงของไทยจนถึงวันนี้ คุณมาเร็นได้พบเห็นและสัมผัสกับเสน่ห์ของบางสิ่งบางอย่างที่เธอรู้สึกคุ้นเคย แน่นอนว่าที่มาของบางสิ่งบางอย่างที่ว่านั้นย่อมเป็นที่อื่นใดไม่ได้นอกจากเบอร์ลิน ปีแล้วปีเล่าหลากหลายร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ได้รับการสั่งสมไว้ จนในที่สุดก็ได้ถูกนำมาเรียงร้อยและผนวกกับหลากหลายร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน

มาร์ติน ชัคท์ นักเขียนชาวเยอรมัน ซอกซอนสำรวจค้นหาเสน่ห์จูงใจที่ว่านี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และเบอร์ลิน เพื่อนำเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเร้าใจที่แสดงถึงความสัมพันธ์หลากหลายมิติระหว่างไทยกับเยอรมนีมาถ่ายทอดให้เราได้รับรู้ ตั้งแต่เรื่องราวของเจ้าชายสยามในสมัยปรัสเซีย ไปจนถึงการชุบชีวิตใหม่ให้โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล อันเลื่องชื่อที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยมือของ เกอร์ไมเนอ ครูล (Germaine Krull) นักถ่ายภาพรุ่นบุกเบิกชาวเยอรมัน โดยนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้จะเปิดตัวควบคู่ไปกับหนังสือเล่มสำคัญภายใต้ชื่อ German Traces in Bangkok and Thai Traces in Berlin ตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ไทย และอังกฤษ มีความหนาถึง 200 หน้า ซึ่งจะโน้มน้าวให้ผู้อ่านได้ดำดิ่งลงไปสัมผัสเบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องราวที่นักถ่ายภาพได้สื่อไว้ในงานภาพถ่าย

สามารถเข้าชมนิทรรศการภาพถ่าย ‘ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน’ ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ณ RCB Photographer’s Gallery 2 ชั้น 2 โดยเปิดให้เข้าชมฟรี

Other Articles