Tuesday, December 10, 2024

POLITIC OF ECOLOGY

ภาพแพขยะยาว 10 กิโลเมตรกลางอ่าวไทย ที่ย้ำเตือนว่าประเทศไทยของเรานี้คือประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลติดอันดับ 5 ของโลก คงจะสร้างความสะเทือนใจให้กับหลายๆคนอยู่ไม่น้อย แม้ปัจจุบันนี้จะมีแคมเปญมากมายที่ออกมารณรงค์ให้มนุษย์เราหันมารักโลกที่เราอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยวิถีชีวิตยุคใหม่และนิสัยของมนุษย์ที่มักจะคุ้นชินกับสภาพเดิมๆ ข่าวแบบนี้จึงปรากฏให้ตกใจเล่นเป็นพักๆ อย่างสม่ำเสมอเวลาที่เราหลงลืมมันไปแล้ว

นิทรรศการ Pas de Deux: THA-CH. <<Contemporary Art with Politic of Ecology>> ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้าในช่วงนี้ อันที่จริงแล้วก็มุ่งสื่อถึงประเด็นเดียวกัน แต่แทนที่จะสื่อด้วยภาพถ่ายที่ชวนให้สะเทือนใจจนอยากจะเบือนหน้าหนี นิทรรศการนี้เลือกใช้วิธีที่ละมุนละม่อมกว่า นั่นคือใช้งานศิลปะเป็นสื่อ

Pas de Deux:  THA-CH. <<Contemporary Art with Politic of Ecology>> คือนิทรรศการกลุ่มที่รวมผลงานของศิลปินสองเชื้อชาติมาจัดแสดงด้วยกันภายใต้ประเด็นหลักคือ ‘นิเวศวิทยา’ หรือสภาวะของพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ประเด็นดังกล่าวถูกวางไว้อย่างหลวมๆ เพื่อให้ศิลปินแต่ละคนสามารถตีความได้อย่างเต็มที่

8L1A7105

ศิลปินสาว Virginie Delannoy ที่งานส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการนำวัสดุมารีไซเคิลนำเสนอผลงานศิลปะเฉพาะที่ที่สร้างขึ้นจากโครงเหล็กและวงล้อจักรยานยนต์ที่เธอไปพบเข้าแถวๆ ร้านขายของเก่าที่รังสิต โดยหลังจากจัดแสดงเสร็จแล้ว เธอก็จะขายเศษเหล็กเหล่านี้กลับคืนไป ผลงานของเธอจึงสื่อถึงแนวคิดเรื่องขยะที่ล้นอยู่ในสังคม และไอเดียเรื่องการนำกลับมาใช้และสร้างมูลค่าให้กับขยะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งใครจะรู้? หลังจากเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ เศษเหล็กเหล่านั้นอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

8L1A7254

ส่วน Marie Velardi นำเสนอภาพสีน้ำที่ว่าด้วยพื้นที่ตรงกลางระหว่างแผ่นดินและผืนน้ำบริเวณชายฝั่งของประเทศไทยที่เธอวาดขึ้นจากแผนที่และข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งพื้นที่ตรงกลางนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และคงจะเปลี่ยนไปอีกในอนาคต ซึ่งหลังจากวันเปิดนิทรรศการแล้ว เธอตั้งใจที่จะออกเดินทางไปดูชายฝั่งบางส่วนด้วยตาของตัวเองเพื่อที่จะดูว่าสภาพจริงนั้นดหมือนกับที่เธอวาดไว้หรือไม่ และในอนาคตเธอก็วางแผนที่จะวาดภาพชายฝั่งของประเทศอื่นๆด้วย งานของเธอตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

8L1A7270

เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้ว ผลงานของ Pierre Ferrarini อาจจะไม่ได้สื่อถึงประเด็นด้านนิเวศวิทยาออกมาอย่างชัดแจ้ง ผลงานแนวคอนเซ็ปต์ของเขาว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในมิติของเวลา แพทเทิร์นที่เขาใช้เวลากว่า 12 ปี 10 เดือนในการสร้างสรรค์ขึ้นจากภาพสเก็ตแพทเทิร์นบรกระดาษเอหกที่เขาวาดขึ้นด้วยหมึกอินเดียรวมทั้งหมด 932 แผ่น ภาพสเก็ตช์ที่เขาวาดนี้ถูกจดเรียงตามลำดับเวลาในการวาด เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นความแตกต่างระหว่างโทนสีของภาพที่วาดในเวลาแตกต่างกันออกไป ปิแอร์กล่าวว่าตั้งแต่เริ่มต้นทำงานศิลปะ ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นแรกและชิ้นเดียวของเขา และทุกวันนี้ผลงานชิ้นนี้ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

8L1A7190

ส่วนศิลปินไทยคนเดียวในนิทรรศการนี้ ศิริพจน์ จำเริญวิทย์ ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงมากในยุโรปนำเสนอผลงานที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของเขา นั่นคือการสเก็ตช์ภาพขาว-ดำ เข้ากับวัสดุใหม่ นั่นคือแผ่นแอร์บับเบิลกันกระแทก เกิดเป็นภาพแลนด์สเคปที่ดูแปลกตากว่าที่เคย ศิริพจน์กล่าวว่าด้วยความที่วัสดุที่มิติชัดเจน การวาดภาพจึงทำได้ยากกว่าเดิม เพราะเขาจำเป็นต้องเดินเข้าๆออกๆ เพื่อให้แน่ใจว่าภาพที่ออกมานั้นจะตรงตามที่เขาได้จินตนาการไว้ ส่วนใครที่เห็นบับเบิลแล้วเกิดรู้สึกอยากบีบให้แตกก็สามารถทำได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ศิลปะก็ควรจะเป็นสิ่งเข้าถึงได้มิใช่หรือ? นอกจากผลงานชุดนี้แล้ว ศิริพจน์ยังนำเสนอชุดภาพถ่ายเกลียวคลื่นที่เขาบอกว่าเป็นการจำลองมุมมองของปูทะเลอีกด้วย

8L1A7361

แม้ผลงานแต่ละชิ้นจะไม่มีคำบรรยายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่เราเชื่อว่าเมื่อได้ดูแล้ว หลายๆคนคงได้ไอเดียบางอย่างติดมือกลับบ้านไปด้วยแน่นอน เพราะบางทีการสื่อสารแบบอ้อมๆทว่านุ่มนวลนี้แหละที่ได้ผลยิ่งกว่าการสื่อสารแบบตรงๆมากนัก ไปดูแล้วคิดอย่างไร มาเล่าให้เราฟังกันบ้างนะ

นิทรรศการ THA-CH. <<Contemporary Art with Politic of Ecology>> จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้าจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้

Other Articles