สยามหน้าตาเป็นอย่างไรในอดีต? เมื่อ 150 ปีก่อน มีช่างภาพชาวสก็อตแลนด์คนหนึ่งนามว่า จอห์น ทอมสัน ได้เดินทางมายังในสยามในช่วง พ.ศ. 2408-2409 และเขาก็ได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์เอาไว้มากมาย ผลงานภาพถ่ายเกี่ยวกับสยามของเขาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารต่างประเทศ ทำให้ชาวต่างชาติในยุคนั้นได้รู้จักและเข้าใจดินแดนแห่งนี้มากขึ้น ในนิทรรศการ “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน พ.ศ. 2408-09″ ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์การค้า ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด
เมื่อ 150 ปีก่อน จอห์น ทอมสัน ได้มาพักอยู่ในบ้านทางฝั่งคลองสาน ตรงข้ามกับสถานที่จัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ช่างภาพต่างชาติคนแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่ก็เป็นช่างภาพชาวต่างชาติคนแรกที่ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะเป็นภาพพอร์เทรตที่ถ่ายขึ้นในเขตพระที่นั่ง หรือภาพขณะเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีต่างๆ ด้วย
“ภาพที่สำคัญที่สุดและหาชมได้ยากยิ่งในนิทรรศการนี้ คือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 หลายภาพที่ยังมีความคมชัดมาก แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า 150 ปี นับเป็นภาพที่สำคัญมาก เพราะพระองค์โปรดให้จอห์น ทอมสัน เข้าเฝ้าฯ เพื่อฉายภาพของพระองค์โดยเฉพาะในพระบรมมหาราชวัง อีกภาพหนึ่งคือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ถ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และยังไม่ได้เข้าสู่พระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) นอกจากนี้ ยังมีภาพพาโนรามาของสยาม ที่ถ่ายจากปรางค์วัดอรุณฯ ให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นภาพสำคัญที่สุดของจอห์น ทอมสัน ที่ต้องใช้ภาพถ่ายถึง 3 ภาพมาต่อกัน” หม่อมราชวงศ์ นริศรา จักรพงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดนิทรรศการและภัณฑารักษ์ และซีอีโอของสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ กล่าว
“ถ้าพิจารณาดูภาพแต่ละภาพก็จะได้ความรู้ไปด้วย” ภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงธรรมเนียมและค่านิยมในสมัยเก่าก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครื่องแต่งกาย หรือการตั้งเครื่องประกอบพอิสริยยศของชนชั้นเจ้านายประกอบการถ่ายภาพ (เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จึงสังเกตยศได้จากเครื่องราชูปโภคหรือเครื่องตั้งบนโต๊ะ) หรือวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปตามแต่ชนชั้น ในงานนี้ ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่เคยจัดแสดงในงานเอกซ์โป ณ กรุงปารีส เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งภาพพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 4 ในยุคที่ชาติตะวันตกมีการล่าอาณานิคม พระองค์ทรงหาแนวทางแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นถึงความศิวิไลซ์ในการฉลองพระองค์ฉายพระรูปในชุดจอมพลฝรั่ง ภาพของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ภาพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เจ้านายน้อย และนางกำนัลทาสหญิง ที่ทำให้เห็นถึงชนชั้นวรรณะ ระบบเจ้าขุนมูลนาย และระบบทาสในสมัยนั้น ภาพวิวทิวทัศน์วัดวาอาราม บ้านเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครและธนบุรี
จอห์น ทอมสันถ่ายภาพเหล่านี้ด้วย “ฟิล์มกระจกเปียก” ซึ่งมีความไวต่อแสงต่ำ ทำให้ผู้อยู่ในภาพต้องยืนนิ่ง ต้องจัดองค์ประกอบและใช้เวลาในการถ่าย อย่างภาพในหลวงรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินด้วยเสลี่ยง และทรงให้หยุดขบวนเพื่อให้นายจอห์น ทอมสันเก็บภาพ หรือในพระบรมฉายาลักษณ์ ถ้าสังเกตดีๆจะมองเห็นไม้ค้ช่วงำคออยู่ด้านหลังเพื่อไม่ให้สั่น และบางภาพก็สื่ถึงเทคนิค เช่นการตัดกระดาษปิดฟิล์มในส่วนที่เป็นท้องฟ้า ทำให้เวลาที่อัดขยายภาพออกมา ท้องฟ้าที่ปรากฏในภาพจึงดูเรียบเสมอ ปราศจากก้อนเมฆใดๆ
ภาพของจอห์น ทอมสัน ถ่ายด้วยการใช้ระบบกระจกเปียกซึ่งถูกค้นพบโดยประติมากรชาวอังกฤษ “เฟเดอริค สก็อต อาร์เชอร์” ใน พ.ศ. 2394 ที่ต้องมีการปฏิบัติการเตรียมกระจก น้ำยา ห้องมืดเคลื่อนที่ ซึ่งต้องมีการเตรียมการมากและทำด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากกระจกเปียกที่อาบน้ำยา มีอายุเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นก็เสื่อมสภาพ ส่วนกล้องที่จอห์น ทอมสัน ใช้ในการเดินทางคือ กล้องไม้ที่มีเบลโล่ ที่สามารถยืดหดได้เพื่อสะดวกในการเดินทางซึ่งต้องมีสัมภาระมากมาย การเดินทางไปในที่ทุรกันดาร สภาวะอากาศก็เป็นปัญหาใหญ่บางทีอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในสมัยนั้นกล้องถ่ายรูปมีขนาดใหญ่มากต่างจากปัจจุบัน ไม่มีฟิล์มสำเร็จรูป จึงต้องใช้กระจกที่เคลือบน้ำยาแทนฟิล์ม
งานแสดงภาพสยามโบราณรวม 60 ภาพครั้งนี้ ประกอบด้วย ภาพถ่ายที่เกี่ยวกับประเทศไทย 43 ภาพ ภาพนครวัด ประเทศกัมพูชา 6 ภาพ และ ภาพเมืองชายฝั่งประเทศจีนและฮ่องกง 11 ภาพ หลังจากเคยจัดแสดงครั้งแรกในประเทศมาแล้วเมื่อต้นปีพ.ศ. 2558 และแวะเวียนนำไปจัดแสดงยังสถานที่ต่างๆ ในครั้งนี้ จึงเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้มีโอกาสชื่นชมกับผลงานเหล่านี้ในประเทศไทย ก่อนที่ผลงานทั้งหมดจะถูกส่งกลับคืนไปยัง สถาบันเวลคัม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
นิทรรศการภาพถ่ายโบราณและศิลปวัตถุร่วมสมัย “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน พ.ศ. 2408-09″ จัดแสดงจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2560 ณ ห้องอาร์ซีบี แกลเลอเรีย ชั้น ๒ ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ค่าเข้าชม 50 บาท สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊คเพจ River City Bangkok หรือ www.rivercitybangkok.com