ออเดรย์ เฮปเบิร์น นักแสดงผู้เป็นไอคอนเคยกล่าวไว้ว่า “มีเฉดสีแดงที่เหมาะกับผู้หญิงทุกคน”…ถ้าในแง่ของอัญมณีแล้ว คงไม่มีรัตนชาติสีแดงชนิดไหนจะจับใจคนได้เท่ากับทับทิม ซึ่งมักขุดค้นได้จากเหมืองในเมียนม่า โมซัมบิก แทนซาเนีย กรีนแลนด์ หรือแม้กระทั่งในไทย (ซึ่งน่าจะหมดไปแล้ว) และทุกวันนี้ทับทิมก็ยังเป็นอัญมณีที่ชวนฉงน แม้แต่กับคนที่คิดว่ารู้จักดีแล้วก็ตาม
เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ของเดือนกรกฎาคม เราได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อร่วมงาน Ruby Week ซึ่งมีทั้งคลาสเรียนเกี่ยวกับทับทิม รวมถึงการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญ จัดโดย L’ECOLE, School of Jewelry Arts โรงเรียนเกี่ยวกับอัญมณีที่ได้รับการสนับสนุนโดยเมซงระดับโลก Van Cleef & Arpels นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการ Ruby: Discover Gemstones ซึ่งจัดขึ้นในบูติก Les Jardins Secrets by Van Cleef & Arpels ที่โรงแรมราฟเฟิล ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นการจัดนิทรรศการครั้งแรกของ L’ECOLE ในประเทศนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงทับทิมในรูปแบบหินแร่จากแหล่งต่างๆ เอกสารเก่า ภาพสเก็ตช์ ไปจนถึงเทคนิคการประดับอัญมณี ตลอดจนชิ้นงานสุดพิเศษและผลงานจิวเวลรี่ชั้นสูงจาก Van Cleef & Arpels รวมทั้งภาพถ่ายอัญมณีแบบโคลสอัพ ถือเป็นการเรียนรู้และไขปริศนาเกี่ยวกับอัญมณีชนิดนี้ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และวัฒนธรรม
กำเนิดอัญมณีสีแดง
อัญมณีในเฉดสีแดงได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุคอดีตเนื่องจากเป็นเฉดสีที่หายาก เปี่ยมด้วยความหมายและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เช่นเดียวกับสีขาวและดำ มนุษย์เริ่มใช้สีแดงในการสร้างสรรค์งานศิลป์มาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์แล้ว รวมถึงในอารยธรรมอียิปต์และโรมันโบราณ และในหลายๆ วัฒนธรรม สีแดงยังสื่อถึงอำนาจและความรัก ในศาสนาคริสต์ สีแดงสื่อถึงพระโลหิตของพระคริสต์ และการเสียสละ
อย่างไรก็ตาม คำว่า ruby นั้นเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ในเชิงนิรุกติศาสตร์ คำว่าทับทิมในหลายๆ ภาษาหมายถึงอัญมณีสีแดงโชติช่วง อย่างคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ruby ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า rubeus, rubinus หรือ ruber แปลได้ว่าสีแดง รวมถึงคำว่า carbuncle ซึ่งหมายถึง burning charcoal ส่วนในภาษาสันสกฤต เรียกทับทิมว่า ratanaraj ซึ่งหมายถึงราชาแห่งอัญมณี อย่างไรก็ตามในสมัยก่อนเราใช้คำว่า ruby เรียกอัญมณีที่มีสีแดง ไม่ว่าอัญมณีนั้นจะเป็น ruby หรือไม่ก็ตาม แต่การจัดแบ่งประเภท ruby อย่างจริงจังตามองค์ประกอบของธาตุนั้นเพิ่งมาเริ่มใช้ในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
ทับทิมจัดอยู่ในตระกูลแร่ Corumdum เช่นเดียวกับแซฟไฟร์และมรกต เนื่องจากประกอบด้วย aluminium oxide ซึ่งเป็นผลึกที่ปราศจากสี เมื่อผลึกได้รับการหลอมรวมผสมเข้ากับสิ่งเจือปนหรือ impurity ใต้ผืนโลกก็จะเกิดเป็นสีต่างๆ เช่นเมื่อผสมเข้ากับโครเมียมก็จะได้ผลึกสีแดง ที่เราเรียกว่าทับทิมนั่นเอง
คุณสมบัติของทับทิม
ในนิทรรศการ Ruby: Discover Gemstones มีการจัดแสดงทับทิมในรูปแบบหินแร่จากแหล่งต่างๆ โดยยังไม่ผ่านการเจียระไน พลอยดิบเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นมานานนับล้านปี ทั้งยังสามารถให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และอายุของพื้นที่นั้นๆ อันนำไปสู่การพัฒนาศาสตร์ Crystallography หรือการศึกษาเกี่ยวกับผลึกในปี 1912 ซึ่งการก่อผลึกในธรรมชาตินั้นมีรูปแบบเชิงเรขาคณิต 7 แบบ สำหรับทับทิมซึ่งอยู่ในกลุ่มแร่ Corundum การก่อผลึกจะเป็นรูปทรง rhombohedral หรือ trigonal
มีคำถามว่านอกจากเฉดสีแดงที่ทรงเสน่ห์แล้ว อะไรทำให้โดดเด่นแตกต่างจากอัญมณีอื่นๆ? คำตอบอยู่ที่คุณสมบัติของอัญมณีชนิดนี้ อย่างแรกคือ ความโปร่งใสของเนื้อทับทิมหรือ transparency ซึ่งหมายถึงแสงสามารถผ่านได้ แตกต่างจากอัญมณีบางชนิดที่มีความโปร่งแสงหรือทึบแสง ต่อมาคือ ความทนทานหรือ durability ซึ่งทำให้คงอยู่ได้นาน สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ โดยตามหลักของโมห์สเกลแล้ว ทับทิมขึ้นชื่อเรื่อง hardness หรือทนต่อรอยขีดข่วน ทั้งยังเด่นเรื่อง toughness หรือทนต่อการแตกหัก และ stability หรือทนต่อแสง ความร้อน และเคมี ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งนั่นทำให้เป็นที่นิยมในการนำไปใช้สร้างสรรค์เครื่องประดับ
มลทินหรือตำหนิจริงหรือ
ในนิทรรศการนี้มีกิจกรรมให้เราใช้กล้องถ่ายภาพทับทิมเพื่อนำกลับไปเป็นที่ระลึก ทั้งยังจัดแสดงภาพถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์โดย บิลลี ฮิวจ์ส ช่างถ่ายภาพขนาดเล็ก (photomicrographer) และนักอัญมณีศาสตร์ประจำสถาบันอัญมณีวิทยา Lotus Gemology ภาพของเธอแสดงให้เห็นถึงความงดงามด้านในของทับทิมที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เรียกกันว่า inclusion ด้วย ในการก่อตัวของอัญมณีใต้ผืนโลก ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดสิ่งนี้ โดยอาจทำให้ผลึกไม่เรียบหรือใสเสมอกันทั้งก้อน แต่แทนที่จะมองว่าเป็นตำหนิหรือความไม่สมบูรณ์แบบ สำหรับนักอัญมณีศาสตร์แล้ว inclusion เปรียบเหมือนดีเอ็นเอหรือลายนิ้วมือที่ทำให้ทับทิมแต่ละเม็ดมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน ส่งให้อัญมณีเม็ดนั้นมีคาแร็กเตอร์ และยังมีส่วนช่วยให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าอัญมณีนั้นมาจากธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้นมา และบางครั้ง inclusion บางชนิดก็ช่วยในการกระจายแสงด้วย
เครื่องประดับทับทิม
นอกจากแง่มุมวิชาการแล้ว นิทรรศการนี้ยังให้เราได้มีโอกาสชื่นชมความงามของเครื่องประดับชั้นสูงจาก Van Cleef & Arpels โดยมีทั้งผลงานจากอาร์ไคฟ์ และเป็นของสะสมส่วนตัวซึ่งทางเมซงหยิบยืมมา อย่างเช่นสร้อยคอ Cadeau Imperial ตัวสร้อยร้อยด้วยมุกธรรมชาติ พร้อมด้วยจี้ตรงกลางซึ่งประดับเพชรรูปไข่เม็ดเขื่อง ล้อมด้วยทับทิมสีแดงสดที่ใช้เทคนิคแบบ Mystery Set โดยทาง Van Cleef & Arpels ได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรในปี 1933 ซึ่งต่างไปจากการประดับอัญมณีแบบมีหนามเตย เทคนิคนี้เป็นการนำอัญมณีไปผ่านการเจียระไนในรูปทรงเฉพาะตัว เพื่อให้สามารถฝังลงบนโครงสร้างตัวเรือนได้อย่างพอดี โครงสร้างนี้ผลิตจากทองคำหล่อเป็นรางตาข่ายเล็กละเอียด แน่นอนว่าความท้าทายอีกประการก็คือโครงสร้างตัวเรือนไม่ได้เป็นเส้นตรงทุกครั้งไป แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบ เทคนิคนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญระดับสูง ซึ่งมีเพียงสุดยอดช่างฝีมือในฝรั่งเศสไม่กี่คนที่ทำได้
ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานสองชิ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชั่นไฮจิวเวลรี่ Treasures of Ruby หากยังจำกันได้ เคยเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2019 รวมถึงเข็มกลัดจากอาร์ไคฟ์ของเมซงประดับด้วย star ruby เจียระไนทรงหลังเบี้ย 9 เม็ด ทับทิมรูปดาวได้ชื่อมาจากเอฟเฟ็กต์แสง เมื่อเจียระไนและขัดเงาจะสะท้อนแสงเป็นดาวหกแฉก ทับทิมรูปดาวเป็นอัญมณีชนิดหนึ่งที่มีราคาสูงที่สุด และกล่าวกันว่ามีส่วนประกอบเป็นทับทิมเกรดอัญมณีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นิทรรศการ Ruby: Discover Gemstones ซึ่งจัดขึ้นในบูติก Les Jardins Secrets by Van Cleef & Arpels ที่โรงแรมราฟเฟิล ประเทศสิงคโปร์ จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2024
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
Pâquerette แหวนดอกเดซี่ผสานเสน่ห์สีสัญอัญมณีจาก Van Cleef & Arpels