Sunday, September 15, 2024

Exclusive พูดคุยกับ Olivier Segura นักอัญมณีศาสตร์ถึงเสน่ห์ของทับทิม

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ของเดือนกรกฎาคม เราได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อร่วมงาน Ruby Week ซึ่งมีทั้งคลาสเรียนเกี่ยวกับทับทิม รวมถึงการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญ จัดโดย L’ECOLE, School of Jewelry Arts โรงเรียนที่เน้นการสอนเกี่ยวกับอัญมณีและจิวเวลรี่ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการ Ruby: Discover Gemstones ซึ่งจัดขึ้นในบูติก Les Jardins Secrets by Van Cleef & Arpels ที่โรงแรมราฟเฟิล ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นการจัดนิทรรศการครั้งแรกของ L’ECOLE ในประเทศนี้

L’École, School of Jewelry Arts ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2012 ด้วยการสนับสนุนจาก Van Cleef & Arpels นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำและเผยแพร่วัฒนธรรมอัญมณีต่อสาธารณชนในทุกแง่มุม โดยดำเนินงานในรูปแบบโรงเรียนของสถาบันการศึกษาเฉพาะทางตั้งแต่ผู้เริ่มต้นไปจนถึงมือสมัครเล่นซึ่งมีความรู้ขั้นพื้นฐาน นักสะสม ตลอดจนผู้สนใจ โดยมีสาขาอยู่ที่ปารีส ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และดูไบ

ในระหว่างทริปนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ Olivier Segura ผู้อำนวยการของ L’ECOLE, School of Jewelry Arts ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เขาสนใจศึกษาด้านธรณีวิทยาก่อนจะต่อยอดมายังอัญมณีศาสตร์ เมื่อหกปีที่แล้วได้ร่วมงานกับ Van Cleef & Arpels จนกระทั่งได้รับหน้าที่ดูแลโรงเรียนซึ่งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้กับคนทั่วไปที่สนใจ

-คุณเริ่มต้นสนใจเรื่องอัญมณีศาสตร์ได้อย่างไรคะ 

“ผมเริ่มสนใจตั้งแต่เด็ก แทนที่จะแหงนหน้ามองดาว ผมก้มลองมองพื้น มองก้อนหินที่แวววับ ผมชอบเก็บก้อนหิน ก้อนกรวด พวกควอตซ์ ผมก็เลยเรียนด้านธรณีวิทยา และความที่ผมอยากสอนด้วย ก็เลยเรียนด้านการสื่อสาร ก็เลยได้ได้ทำงานด้านการสื่อสารอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนมาทางสายนี้ อาจจะเพราะครอบครัวผมไม่ได้อยู่ในสายนี้ก็เลยนึกภาพตัวเองในอาชีพนี้ไม่ออกในตอนแรก แล้วหลังจากนั้นผมก็เรียนทางด้านอัญมณีศาสตร์ด้วย ซึ่งตอนที่เรียนก็มีคนแนะนำให้ผมมาที่ประเทศไทย เพราะมันเป็นที่คุณสามารถเข้าถึงอัญมณีหลากหลายได้ ในการจะเป็นนักอัญมณีศาสตร์ เราต้องฝึกมอง และดูอัญมณีให้มากที่สุด เราต้องใกล้แหล่ง ผมก็เลยได้มาอยู่ที่ไทยกว่า 3 ปี แต่มันเมื่อ 18 ปีที่แล้วนะ”

-ส่วนตอนนี้คุณเป็นผู้อำนวยการของ L’ECOLE ของเอเชียแปซิฟิก

“ใช่ครับ ผมเริ่มงานที่ Van Cleef & Arpels เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนี้ผมผมดูแลโรงเรียนในเอเชียแปซิฟิก (มีที่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และดูไบ) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนโดย Van Cleef & Arpels โดยประจำอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นที่แรกที่เราตั้งโรงเรียนในเอเชีย และเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสาขาต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้กับคนทั่วไป โดยมีทั้งการจัดคอร์สเรียน เสวนา และนิทรรศการต่างๆ” 

คุณชอบอะไรในการเป็นนักอัญมณีศาสตร์

“น่าจะเป็นตอนที่ได้สัมผัสอัญมณีหายากที่มีความโดดเด่นมากๆ จนคุณจำมันไปตลอดชีวิต เมื่อไม่นานมานี้ผมได้เห็น pure red diamond เรียกว่าเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็คงได้ และอีกอย่างก็คือการได้เห็นอัญมณีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ผมเคยได้มีโอกาสตรวจบลูแซฟไฟร์เม็ดใหญ่มากๆ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมันไม่ได้เจียระไนและไม่ได้ประดับบนเครื่องประดับ แต่เป็นส่วนหนึ่งของ cabinet of wonders” 

คุณอยู่ที่ไทยมาหลายปี พอจะเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เรื่องอัญมณีจากไทยได้ไหม โดยเฉพาะทับทิม 

“ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องอัญมณี เราก็ต้องมาอยู่ในแหล่ง เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วผมถึงมาอยู่ประเทศไทย ผมว่าตัวเองโชคดีที่มีเพื่อนและมีแล็บต่างๆ ให้เราได้ศึกษา สมัยก่อนจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งทับทิมและแซฟไฟร์มาตั้งแต่ยุค 1960-1970 ซึ่งรุ่งเรืองมาก เมื่อยี่สิบปีที่แล้วเราได้พบกับคนทำเหมืองทับทิมคนสุดท้าย และนอกจากเหมืองแล้ว ไทยยังเป็นประเทศที่มีความสำคัญด้านทรีตเมนต์อัญมณีและการเทรดด้วย” 

ส่วนตัวแล้วคุณมองว่ามีอะไรที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับอัญมณีชนิดนี้ไหม

“เวลาที่พูดถึงทับทิม มันเป็นอัญมณีที่ซับซ้อนนะ มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของเฉดสี เรื่องของความใส การเจียระไน ทรีตเมนต์ แหล่งที่มา แล้วยังมีแง่มุมของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ดีไซน์ เครื่องประดับ ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน เหมือนเป็นโลกทั้งใบในตัวมันเอง จึงเป็นอัญมณีที่สำคัญมากๆ”  

ฉันเองก็รู้สึกทึ่งในเรื่องทับทิมสังเคราะห์ที่ได้เรียนรู้ในชั้นเรียนนะ จากมุมมองของคนทั่วไปเรามักเชื่อมโยงคำว่า ‘สังเคราะห์’ เข้ากับคำว่า ‘ปลอม’ สำหรับพวกคุณล่ะคะ คุณมองมันต่างออกไปไหม

“ถ้ามองในมุมวิทยาศาสตร์ มันไม่มีอะไรที่แบ่งได้ว่าดีหรือเลวนะ ทับทิมสังเคราะห์ถือเป็นความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการจำลองกระบวนการทางธรรมชาติ ในศตวรรษที่ 18 ตอนที่ทับทิมสังเคราะห์กำเนิดขึ้นนั้น มันมีไว้เพื่ออุตสาหกรรม ก่อนจะมาสู่จิวเวลรี่ คนมองว่าน่าอัศจรรย์มากที่มนุษย์เลียนแบบธรรมชาติได้ แล้วตอนนั้นเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วย คนคิดค้นรถ รถไฟ เครื่องบิน เป็นการที่มนุษย์พยายามควบคุมธรรมชาติ ในโลกจิวเวลรี่ มันอาจจะไม่ได้มีบทบาทขนาดนั้น เพราะเราให้ค่ากับกำเนิดธรรมชาติ ความงาม ความเอ็กซ์คลูซีฟ จึงเป็นมุมมองที่ต่างกัน”

อย่างที่ว่ากันว่า ‘ความงามขึ้นอยู่กับคนมอง’ แล้วสำหรับนักอัญมณีศาสตร์ คุณมองความงามของอัญมณีอย่างไร 

“มันไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะใช้วัดความงามได้ แต่ถ้ามองกลับไปที่นิยามของอัญมณี อัญมณีก็คือวัสดุที่สวยงาม หายาก และคงทน ในฐานะนักอัญมณีศาสตร์ เราจึงใช้ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสิ่งที่งดงามเหล่านี้ หินทุกชนิดสวยงามนะ มันก็แล้วแต่ผู้มอง มันต้องมีอารมณ์ความรู้สึกนี้แหละที่มองเห็นความงาม ซึ่งฝึกฝนกันได้นะ อย่างการไปพิพิธภัณฑ์ ไปดูหนัง รวมถึงจิวเวลรี่ ต้องลองไปดูนิทรรศการ ดูงานสถาบันประมูล ดูเครื่องประดับที่โชว์ มันเป็นการฝึกสายตาให้เรามองเห็นความงาม ถ้าคุณฝึกมอง สายตาคุณก็จะรับรู้ถึงความงามได้อย่างรวดเร็ว”

คุณคาดหวังให้คนที่ได้มาชิมนิทรารศการได้อะไรกลับไป

“ผมหวังว่าคนที่มาจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาอาจไม่รู้ อย่างเช่น inclusion ซึ่งน่าสนใจมากๆ แล้วก็หวังว่าพวกเขาจะได้ซึมซับเรื่องความงาม ความยากลำบากต่างๆ บางทีกำไลวงเล็กๆ ที่เราเห็น มันมีเรื่องราวเบื้องหลัง และองค์ความรู้ที่สั่งสมมาที่ซ่อนอยู่มากมาย” 

นิทรรศการ Ruby: Discover Gemstones ซึ่งจัดขึ้นในบูติก Les Jardins Secrets by Van Cleef & Arpels ที่โรงแรมราฟเฟิล ประเทศสิงคโปร์ จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2024

บทความอื่นที่น่าสนใจ:

ร่วมเดินทางไปสัมผัสเรื่องราวของทับทิมในนิทรรศการ Ruby: Discover Gemstones

L’ÉCOLE ชวนเราสำรวจลึกถึงแง่มุมใหม่ที่คาดไม่ถึงของทับทิมและแซฟไฟร์​

Other Articles