Sunday, April 20, 2025

Exclusive พูดคุยกับ Francesca Amfitheatrof ถึงการสร้างสรรค์ไฮจิวเวลรี่ Louis Vuitton Deep Time

บทสนทนาถึงคอลเลกชั่นไฮจิวเวลรี่มหากาพย์ Deep Time Chapter II ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของจุดกำเนิดโลก และเหตุผลที่ว่าทำไมคอลเลกชั่นนี้จึงไม่เหมือนใคร

Francesca Amfitheatrof คือหญิงเก่งที่หาตัวจับยากในโลกของจิวเวลรี่ นับตั้งแต่ปี 2018 ที่เธอเข้ามากุมทิศทางการสร้างสรรค์จิวเวลรี่ของ Louis Vuitton ก็ทำให้โลกต้องตราตรึงกับผลงานสร้างสรรค์อันโดดเด่น ทั้งในด้านดีไซน์อันทันสมัยไปจนถึงความวิจิตรบรรจงของทักษะฝีมือชั้นสูง ดังที่ประจักษ์ในไฮจิวเวลรี่คอลเลกชั่นล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า Deep Time Chapter II

Francesca Ampitheatrof ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์จิวเวลรี่ของ Louis Vuitton

นับจากกำเนิดโลกไปจนถึงกำเนิดสิ่งมีชีวิต Deep Time Chapter II ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงเวลาอันเก่าแก่ก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น ซึ่งในภาษาธรณีวิทยาเรียกว่า Deep Time ด้วยเรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ดั่งมหากาพย์ ฟรานเชสกาได้ตีความนำเสนอผ่านผลงานกว่า 50 ชิ้น ซึ่งนำมาจัดแสดงแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ณ เกาะภูเก็ต ประเทศไทย “ในบทที่สองของ Deep Time เราสานต่อเรื่องราวของคอลเลกชั่นซึ่งเป็นดั่งบทกวีที่สวยงามที่สุด เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่และน่าทึ่ง”

ในคอลเลกชั่นนี้ยังแบ่งออกเป็นบทย่อย โดยให้ชิ้นงานแต่ละชิ้นเป็นตัวแทนของยุคเก่าแก่ นับตั้งแต่กำเนิดมหาทวีป Laurasia และ Gondwana ภูเขาไฟระเบิด กำเนิดเมล็ดพันธุ์และสิ่งมีชีวิต ไปจนถึงดอกไม้ แต่ละชิ้นโดดเด่นด้วยเส้นสายที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งดีไซน์แบบเรขาคณิตดูแข็งแกร่ง แต่ก็แฝงด้วยความพลิ้วไหวในโครงสร้าง รวมถึงอัญมณีชั้นเลิศจากทักษะฝีมืออันยอดเยี่ยม อัญมณีที่เจียระไนแบบ Flower และ Star Monogram Cut ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ Louis Vuitton

คุณเคยบอกว่าคนยุคนี้ยึดติดกับอาร์ไคฟ์มากเกินไป แล้วสำหรับตัวคุณเองล่ะคะ มันยากไหมที่จะบาลานซ์ให้ลงตัว

“ฉันว่าเราอยู่ในยุคอาร์ไคฟ์ ไม่ว่าจะในโลกแฟชั่นหรือวงการอะไรก็ตาม ถ้าดูภาพสมัยยุค ’20s, ’30s, ’40s ไปจนถึง ’90s คุณจะบอกได้ทันทีว่ามันคือยุคไหน คนมักหวนกลับไปหาสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว และเอามานำเสนอใหม่ให้เป็นของตัวเอง ฉันชอบนะที่หลุยส์ วิตตองไม่ค่อยมีอาร์ไคฟ์ในด้านจิวเวลรี่ แต่แน่นอนว่าเรารู้ดีว่าจิตวิญญาณของเมซงแห่งนี้เป็นอย่างไร ผ่านมรดกอันยาวนานที่สั่งสมมา หลุยส์ วิตตองทำมาแล้วทุกอย่างตลอดชั่วชีวิตเขา ยกเว้นแค่ลายโมโนแกรมที่ลูกชายเขาเป็นคนทำขึ้นมา หลุยส์ วิตตองรู้ว่าตัวตนลึกๆ ของตัวเองเป็นอย่างไร จึงสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดไปได้ ฉันชอบที่ได้เข้ามาทำงานกับแบรนด์ที่มีอาร์ไคฟ์แข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ได้ต้องแบกมันไว้บนบ่า เรายังคงมีอิสระในการสร้างสรรค์ ฉันเลยคิดว่ามันวิเศษมากที่เราไม่ได้แค่ต้องมองย้อนกลับไปในอดีต แต่สามารถนำเสนออะไรใหม่ๆ ได้ตราบที่มันสะท้อนจิตวิญญาณของเรา” 

การสร้างอัตลักษณ์ให้กับจิวเวลรี่ของหลุยส์ วิตตองนั้นท้าทายอย่างไรบ้าง 

“มันน่าสนใจนะ ฉันรู้สึกว่าตัวเองเข้ามาที่นี่และได้เข้าถึงหัวใจของมันเพื่อที่จะนำมาสร้างอัตลักษณ์ ไม่ใช่แค่การสร้างสัญลักษณ์ในเชิงออกแบบอะไรทำนองนั้น สำหรับหลุยส์ วิตตอง หีบเดินทางเป็นตัวแทนของการปกป้อง ทำให้นึกถึงผู้หญิงหรือผู้ชายที่เข้มแข็ง ชอบออกไปเผชิญโลก ฉันรู้สึกว่าจิวเวลรี่ของเราน่าจะสื่อถึงตัวตนที่แข็งแกร่งนั้นด้วย ทั้งยังต้องสร้างสรรค์จากวัสดุชั้นเลิศเพราะหลุยส์ วิตตองเป็นตัวแทนของคุณภาพและการใช้งานได้อย่างยาวนาน หัวใจสำคัญของแบรนด์ก็คือ savoir-faire ซึ่งอยู่ที่ปลาซวองโดม สถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของโลกจิวเวลรี่ และยังมีแง่มุมของการนำเสนอความทันสมัยและการมองไปยังอนาคต คือถ้ามองจากสิ่งที่แบรนด์ได้ทำมาจะเห็นว่าเราชอบทลายกฎ เพราะฉะนั้นจิวเวลรี่ต้องสะท้อนทัศนคตินั้นด้วย…” 

สำหรับคุณแล้ว ใช้เวลาในการพัฒนาสไตล์นานไหม

“ฉันทำมาตั้งแต่คอลเลกชั่นแรก คือ Riders of The Knights ฉันว่ามันนิยามความเป็นหลุยส์ วิตตองได้ชัดเจนมาก หลังจากนั้นเราก็เล่นกับเอเลเมนต์อย่างเชือก ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กับหีบเดินทาง แล้วก็มีเทคนิคการเจียระไน star cut และ flower cut ฉันว่ามันเป็นวิธีที่ดีในการแสดงโลโก้โดยไม่ต้องเติมโลโก้ แถมยังเป็นวิธีที่เก๋ซึ่งจะทำให้มันไอคอนิก เป็นที่จดจำ และเป็นเอกลักษณ์ นี่คือวิธีการทำงานของฉัน ในทุกครั้งเราพยายามทำให้สไตล์ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ คือฉันรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แล้วก็จะยึดมั่นและลงมือทำอย่างรวดเร็ว”

ตอนที่ทำคอลเลกชั่น แนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้ามามีอิทธิพลต่อคุณมากแค่ไหน

“เราวิเคราะห์วัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้อย่างถี่ถ้วน แล้วก็มีแผนทำให้มันยั่งยืนร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางหลุยส์ วิตตองและ LVMH ให้ความสำคัญมากๆ ตัวฉันเองขอไม่ใช้คอรัลหรือปะการังในการผลิตจิวเวลรี่ ฉันว่าน่าตกใจนะที่หลายแบรนด์ยังใช้อยู่ เราใช้ทองรีไซเคิลเยอะมาก และใส่ใจกับการคัดสรรวัสดุอย่างมาก อย่างเช่นลาปิสลาซูลีที่ใช้ก็นำมาจากเหมืองก่อนยุคตาลีบัน (ซึ่งปัจจุบันกองทัพตาลีบันหารายได้จากการทำเหมืองอัญมณีชนิดนี้) เราให้ความสำคัญกับการคัดสรรเพชร รวมถึงที่มาของเหมือง และไม่ได้ผลิตในปริมาณมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายมากก็คือบรรดาพลอยสีต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนมือเยอะมากๆ จนยากที่จะทราบแหล่งที่มา ต่อให้มีคนบอก มันก็การันตีได้ยาก

“ต้องบอกว่าจิวเวลรี่ยั่งยืนด้วยตัวของมันเอง เพราะมันไร้กาลเวลา ยืนยง และนำไป repurpose ได้ ฉันทำโปรเจ็กต์กับเคต แบลนเช็ตต์ โดยนำจิวเวลรี่เก่าของวิตตองมา repurpose หรือออกแบบใหม่ให้เธอใส่ไปงานรับรางวัล เริ่มตั้งแต่งาน BAFTA เมื่อปีที่แล้ว แล้วเธอก็ repurpose เสื้อผ้าของเธอเยอะด้วย ฉันว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่วิเศษมากๆ…”

เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างไรในงานออกแบบของคุณ

“แน่นอนว่าทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น 3D Printing หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้เรารู้วอลุ่มหรือขนาด ถ้าปราศจากเทคโนโลยี การเจียระไนแบบ star cut และ flower cut คงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย คือเมื่อได้เพชรดิบมา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้เรารู้ว่าจะตัดออกเป็นชิ้นๆ ด้วยเลเซอร์อย่างไรให้สูญเสียน้อยที่สุดก่อนจะนำไปเจียระไน มันเป็นส่วนผสมของเทคโนโลยีและทักษะฝีมือซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในทุกสิ่งของหลุยส์ วิตตอง ยิ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยี AI สิ่งต่างๆ ก็คงจะเปลี่ยนไป แต่แน่นอนว่า AI ได้เข้ามาซัพพอร์ตดีไซน์ที่มีอยู่แล้ว มันอาจจะช่วยให้ productive ในงานไฟน์จิวเวลรี่มากขึ้น แต่คงไม่ใช่สำหรับไฮจิวเวลรี่เพราะมันคือการสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน มันคือการเพ้อฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำ”

คุณเป็นพวก Old School ไหม อย่างการสเก็ตช์ด้วยมือเวลาออกแบบ 

“ฉันสเก็ตช์นะ แต่อาจจะคร่าวๆ แบบไม่ต้องเพอร์เฟ็กต์เพราะแค่ต้องการสื่อไอเดีย ฉันจะเริ่มจากการสเก็ตช์ และให้ทีมดีไซน์ของฉันสเก็ตช์ด้วย”

ในคอลเลกชั่น Deep Time I และ Deep Time II วิธีการเล่าเรื่องราวค่อนข้างคอนเซ็ปชวลและน่าตื่นเต้นมากๆ ให้อารมณ์คล้ายกับดูสารคดีกำเนิดโลกของบีบีซี คุณคิดออกมาได้อย่างไร

“คือทุกคอลเลกชั่นจะมีเรื่องเล่า (narrative) และมี sub narrative อยู่ด้วย มันเหมือนบทสนทนาที่ฉันมีต่อตัวเอง สำหรับคอลเลกชั่นนี้ ฉันอยากจะเล่าเรื่องราวของอัญมณี ฉันหลงใหลเหมืองที่เราได้ไปเยือนเพื่อสรรหาอัญมณีที่น่าอัศจรรย์ ก็เลยนึกถึงเรื่องอัญมณีศาสตร์ผสมกับภูมิศาสตร์ 

“นานมาแล้วที่อัญมณีถูกกำหนดว่าต้องมาจากแหล่งนั้นแหล่งนี้เท่านั้น เช่น แคชเมียร์ต้องมาจากอินเดีย แต่ปัจจุบันมันมาจากหลายที่ในโลก ฉันอยากจะเล่าเรื่องเหล่านั้น ก็เลยเริ่มตั้งแต่กำเนิดบิ๊กแบง และเล่าวิวัฒนาการของโลกซึ่งดูได้จากชั้นหิน จนกระทั่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตและดอกไม้ ซึ่งฉันว่าเป็นเรื่องที่งดงามราวกับบทกวี ฉันมักจะมีเรื่องราวยิ่งใหญ่อยู่ในหัว เหมือนเริ่มทุกอย่างจากธีม และแบ่งออกเป็นบทต่างๆ แต่ละบทก็มีจุดขึ้นลงของตัวเอง”

คุณต้องออกเดินทางเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจด้วยไหม 

“ฉันมีบ้านสองหลัง หลังหนึ่งคือ Mine Hill ที่คอนเนกติคัต อีกหลังคือบ้านที่เป็น Cave บนเกาะเวนโตเตเน ในอิตาลี มันเป็นความบังเอิญมากๆ นะ แต่สำหรับคอลเลกชั่นนี้ เราไปกันที่ Cave และทำงานกันทุกวัน มีนักภูมิศาสตร์มาคอยให้ความรู้ รวมถึงนักพฤกษศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ ทุกเช้าเราจะเรียนรู้จากพวกเขา จากนั้นก็ไปว่ายน้ำ เดินเล่นจากท่าน้ำจนมาถึง cave หาไอเดีย แล้วกลับมาทำงานครีเอทีฟต่อ บางชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธ์ุไม้หรือแมลงก็มาจากที่นั่น ฉันชอบที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับทีมเพื่อนำไปสู่ดีไซน์ มากกว่านั่งดูจาก pinterest และการสร้างสรรค์จากประสบการณ์ก็ทำให้เรามีความรู้สึกเชื่อมโยงกับมัน ทำให้สร้างสรรค์ได้แตกต่าง สร้างด้วยความรู้สึกและความทรงจำ ทุกอย่างมันมีผลต่องานที่ออกมา” 

สำหรับคุณแล้ว ไฮจิวเวลรี่ของหลุยส์ วิตตองอยู่ ณ จุดไหนในวันนี้

“สิ่งที่สำคัญคือต้องเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แต่ละชิ้นเป็นมาสเตอร์พีซ ฉันทำงานแบบมี body of work เหมือนฉันเป็นจิตรกร และเรื่องเล่าถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้มันเป็นการเดินทางที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก นำเสนอผ่านความกล้าหาญ กราฟิก และเยาว์วัย แล้วก็มีเซนส์ของแฟชั่นอยู่ในนั้น” 

บมความอื่นที่น่าสนใจ:

ถึงเวลาออกเดินทางสำรวจกาลเวลาผ่าน Deep Time ไฮจิวเวลรี่คอลเลกชั่นล่าสุดของ Louis Vuitton

เติมชีวิตชีวาให้หน้าร้อนนี้ด้วย Louis Vuitton Color Blossom

Other Articles