Sunday, April 20, 2025

บันทึกแห่งชีวิตของ มิเชล โอแดร์ กับนิทรรศการ “Nine Plus Five Works” ณ บางกอก คุนสตาเล่อ

เพดานสูง ผู้คนมากมาย เสียงบรรยายกาศจากหลากหลายที่ บรรยากาศมืด มีเพียงแสงและภาพจอภาพคมชัดนวัตกรรมระดับโลกจากซัมซุง นี่คือนิทรรศการ Nine Plus Five Works ณ บางกอก คุนสตาเล่อ ที่นอกจากบรรยากาศของโลกศิลปะ นิทรรศการแห่งนี้ยังรุ่มรวยด้วยความหมายและแฝงนัยยะของวิถีชีวิต

ผลงาน มิเชล โอแดร์ ศิลปินระดับตำนาน ผู้สร้างสรรค์วิดีโออาร์ตชื่อดังแห่งยุค 60 เสริมความหมายอันลึกซึ้งผ่านจอภาพซัมซุง ณ บางกอก คุนสตาเล่อ (BANGKOK KUNSTHALLE) แกลลอรี่แห่งใหม่ในย่านเยาวราชใจกลางเมืองกรุงเทพฯเปี่ยมด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ก่อตั้งโดย คุณมาริษา เจียรวนนท์ในปี 2567 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดนิทรรศการ เสวนา

และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย เปิดตัวนิทรรศการแรกแห่งปี “Nine Plus Five Works” ผลงานของมิเชล โอแดร์ (Michel Auder) ศิลปิน นักสร้างภาพยนตร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานเชิงทดลอง และวิดีโออาร์ตตั้งแต่ยุค 60 เป็นต้นมา โดยมี สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา (Stefano Rabolli Pansera) เป็นภัณฑารักษ์

โอแดร์ เป็นศิลปินที่มีความโดดเด่นในด้านการสังเกตเชิงจินตภาพผลงานภาพยนตร์ของเขาสามารถเรียกได้ว่าเป็นทั้งการสะท้อนภาพที่เสมือนจริงและมีไวยากรณ์ที่ลึกซึ้งราวกับบทกวีได้เช่นกัน โอแดร์มีชื่อเสียงจากงานเชิงทดลองที่ไม่บอกเล่าเรียงตามลำดับเวลารวมถึงผลงานภาพยนตร์ที่ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวตามขนบทั่วไปทำให้ผลงานของเขาเป็นทั้งศิลปะ สารคดีและเรื่องราวส่วนตัว ราวกับเป็นการเขียนไดอารี่หรือบันทึกความฝัน ความทรงจำ เล่าผ่านบันทึกภาพชีวิตส่วนตัวของเขาได้อย่างใกล้ชิด และถือเป็นการแหกขนบธรรมเนียมการเล่าเรื่องในวิดีโออาร์ตและภาพยนตร์แห่งยุคสมัย และแฝงนัยยะและความหมายแห่งชีวิตไว้อีกด้วย

นอกจากนี้งานของมิเชล โอแดร์ ถูกนำไปจัดแสดงในหลากหลายพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ทั่วโลก ทั้ง Centre Georges Pompidou (ปารีส, ฝรั่งเศส), FRAC Provence-Alpes-Côtes d’Azur (มาร์เซย, ฝรั่งเศส), Kadist Art Foundation (ปารีส,ฝรั่งเศส) และ Muhka (แอนต์เวิร์ป, เยอรมนี), ICA (ไมอามี, สหรัฐอเมริกา) และอื่น ๆ อีกมากมาย

ความพิเศษของนิทรรศการในครั้งนี้คือโอแดร์ได้ถ่ายทอดท่วงทำนองแห่งกรุงเทพฯ ผ่าน ‘Flowers of Thailand’ (2023) เป็นการสร้างผลงานศิลปะขณะที่เป็นศิลปินในพำนักซึ่งสนับสนุนโดยบางกอกคุนสตาเล่อ ผลงานศิลปะที่จัดวางบนสองจอภาพซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับการเขียนจดหมายที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างรูปร่างและสีสัน และ ‘Yaowarat’ (2023) ผลงานชิ้นล่าสุดพรรณาภาพชีวิตประจำวันบนท้องถนนของกรุงเทพฯ การเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลสอดคล้อง แต่ไม่ได้นัดหมายของผู้คนและสินค้า นอกจากนี้งานยังถูกวางคู่กับผลงานชิ้นแรกของเขาเชื่อมโยงทำให้เกิดความหมายใหม่ระหว่างผลงานเก่าและผลงานใหม่ที่สุด

อย่างไรก็ตามงานศิลปะแบบ วิดีโออาร์ตอาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก แต่เมื่อได้เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้จะพบว่าสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งรสชาติใหม่สำหรับการเสพงานศิลปะในประเทศไทย และหากหยุดยืนดูเพียงสักครู่จะพบความพิเศษของงานในครั้งนี้ที่มิอาจลืมได้เลย






Other Articles