ชื่อของเบรเกต์ นั้นโดดเด่นในแวดวงนาฬิกาชั้นสูง ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมถึงนวัตกรรมที่อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ได้สร้างไว้ให้กับโลกนาฬิกามาตั้งแต่ปี 1775 แต่นอกจากความประณีตหรูหรา เรือนเวลาของเบรเกต์ยังได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานตั้งแต่แรกเริ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นทูร์บิญงที่มีผลต่อความเที่ยงตรง ระบบการกันสะเทือน ไปจนถึงนาฬิกามารีนโครโนมิเตอร์ที่ช่วยให้เรือล่องไปในทิศทางที่ต้องการ
เมื่อเทคโนโลยีของโลกเราได้รับการพัฒนาจนทำให้มนุษย์สามารถทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จ ชื่อของเบรเกต์ก็มีส่วนร่วมในหน้าประวัติศาสตร์การบิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลุยส์-ชาร์ลส์ เบรเกต์ ทายาทรุ่นโหลนมีความสนใจในด้านวิศวกรรมและได้ประดิษฐ์เครื่องบินหลากรุ่น ทั้งเครื่องบินใบพัด และไจโรเพลนที่เป็นต้นแบบของเฮลิคอปเตอร์ และอีกส่วนหนึ่งคือ แบรนด์นาฬิกาเบรเกต์ได้สร้างสรรค์นาฬิกาทั้งสำหรับติดตั้งบนแดชบอร์ดของเครื่องบิน และนาฬิกาข้อมือที่นักบินใช้เพื่อดูเวลา คำนวณเวลาในการบิน ดูทิศทาง และคำนวณเชื้อเพลิง ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตนาฬิกาให้กับกองทัพอากาศของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการด้วย
และหากพูดถึงนาฬิกาข้อมือที่ใช้ในแวดวงการบินที่สร้างชื่อให้กับเบรเกต์ ต้องยกให้คอลเลกชั่น Type XX (ไทป์ ทเวนตี้) ซึ่งผลิตขึ้นในยุคทศวรรษ 1950s เพื่อใช้ในการทหาร ก่อนจะมีเวอร์ชั่นที่ผลิตเพื่อพลเรือนหรือบุคคลทั่วไป โดยชื่อรุ่นนั้นเป็นรหัสเรียกของกองทัพที่ว่าจ้างให้แบรนด์นาฬิกาชั้นนำผลิตนาฬิกาฟลายแบ็กโครโนกราฟเพื่อให้ทหารอากาศสวมใส่ขณะขับเครื่องบิน
ในโอกาสที่ปี 2023 เบรเกต์ได้นำคอลเลกชั่นนาฬิกานักบินกลับมาปัดฝุ่นใหม่ ทางแบรนด์จึงได้เลือกจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ งานเลี้ยงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นดินแดนเกิดและสถานที่ก่อตั้งแบรนด์นับตั้งแต่สมัยอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ นอกจากเราจะได้มีโอกาสตามรอยไปเยือนสถานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับเบรเกต์ในปารีสแล้ว หนึ่งในช่วงเวลาสำคัญก็คือการได้สัมผัสกับวิวัฒนาการของการผลิตนาฬิกานักบินของเบรเกต์ผ่านผลงานในอาร์ไคฟ์รุ่นต่างๆ ซึ่งรวมถึงนาฬิกา Type XX ที่ผลิตขึ้นในปี 1950s จนพัฒนามาเป็น TYPE XXI ซึ่งเปิดตัวในปี 2001 และ TYPE XXII ในปี 2010
นอกจากนี้ เรายังได้มีโอกาสเยือนพิพิธภัณฑ์การบินของฝรั่งเศส (Musée de l’Air et de l’Espace) ซึ่งแสดงให้เห็นวิวัฒนาการของการประดิษฐ์เครื่องบิน ซึ่งรวมถึงผลงานสร้างสรรค์ของบริษัท เบรเกต์ เอวิเอชั่น ไปจนกระทั่งเครื่องบินคองคอร์ด ซึ่งแม้จะเลิกใช้ไปแล้วแต่ก็เคยครองความยิ่งใหญ่ในฐานะเครื่องบินที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียง และแน่นอนว่าบนแดชบอร์ด มีนาฬิกาของเบรเกต์ติดตั้งอยู่ด้วย
สำหรับผลงานใหม่ที่เปิดตัวในงานเลี้ยงซึ่งจัดขึ้นที่อาคาร Petit Palais นั้นมีสองรุ่น เริ่มจาก Type 20 Chronographe 2057 ซึ่งนำแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรุ่น Ref.1100 ที่เคยผลิตให้กับกองทัพอากาศฝรั่งเศสในช่วงปี 1955-1959 (ชื่อรุ่นใช้ตัวเลขอารบิก ‘20’ ตามลักษณะดั้งเดิมของรุ่นต้นแบบ) หน้าปัดสีดำด้วยกรรมวิธีกัลวานิก หลักชั่วโมง เลขอารบิก เข็ม และสัญลักษณ์สามเหลี่ยมบนขอบตัวเรือนแต้มด้วยสารเรืองแสงสีเขียวมินต์ที่มองเห็นในความมืด ทั้งยังมีวงหน้าปัดจับเวลา 30 นาที ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และหน้าปัดวินาทีที่ 9 นาฬิกา พร้อมหน้าต่างวันที่ระหว่างตำแหน่ง 4-5 นาฬิกา ขอบตัวเรือนแบบเซาะร่องฟลุตหมุนได้สองทิศทาง จับคู่มากับสายหนังวัวสีดำ
ส่วนรุ่น Type XX Chronographe 2067 เรียกได้ว่าเป็น Civilian Version หรือรุ่นสำหรับพลเรือน สืบทอดเอกลักษณ์มาจากนาฬิกา Type XX สมัยยุค 1950-1960s ที่ผลิตจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป หน้าปัดสีดำเคลือบกัลวานิก มีวงหน้าปัดจับเวลา 15 นาที ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา สวงจับเวลา 12 ชั่วโมง ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา และวงวินาที ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา เข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีที่มากับทรงหอกแหลมยาว และมีเข็มวินาทีเล็กกับเข็มชั่วโมงจับเวลาเป็นทรงเรียว จับคู่มากับสายหนังวัวสีกากีเย็บด้ายสีขาว
ทั้งสองรุ่นทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาทั้งสิ้น 4 ปี โดยรุ่นพลเรือน 2067 ทำงานด้วยกลไก Cal.728 และสำหรับรุ่นกองทัพ 2057 ทำงานด้วย Cal.7281 กลไกทั้งสองนี้ทำงานที่ความถี่ 36,000 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงาน 60 ชั่วโมง เป็นกลไกจับเวลาแบบ Column-wheel บวกกับฟังก์ชัน Flyback ที่เริ่มกดจับเวลาครั้งใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องกดรีเซ็ตก่อน ทำให้ประหยัดเวลาและเพิ่มความสะดวกในการใช้งานของนักบิน โดยเป็นฟังก์ชั่นที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1954