Saturday, October 5, 2024

ย้อนรอยสายสัมพันธ์ระหว่าง Chanel กับโลกศิลปะระบำปลายเท้า

ในสมัยที่ มาดมัวแซล กาเบรียล ชาเนล ก้าวสู่โลกของการออกแบบยุคแรกๆ นั้น ปารีสเป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากศิลปิน กวี นักเขียนมากมายเดินทางมายังนครแห่งแสงสว่าง เพื่อซึมซับบรรยากาศและแสวงหาแรงบันดาลใจ เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน เองได้เขียนหนังสือ A Moveable Feast ซึ่งเล่าถึงยุคเฟื่องฟูและงานเลี้ยงสังสรรค์ทุกค่ำคืนของเหล่าศิลปินชาติต่างๆ ที่มารวมตัวกัน (หรือใครอยากเข้าใจบรรยากาศยุคนี้แบบเห็นภาพ แนะนำให้ชมภาพยนตร์ Midnight in Paris ของวูดดี้ อัลเลน) 

หลังจากหมดหวังการฟื้นฟูศิลปะในรัสเซียหลังการปฏิวัติ Sergei Diaghilev ได้มาก่อตั้งคณะบัลเลต์ที่มีชื่อว่า Ballet Russes ขึ้นในปารีสในปี 1909  (แม้บัลเลต์ รูส จะแปลว่า บัลเลต์รัสเซีย ออกทัวร์ในยุโรปและอเมริกา แต่ไม่เคยได้แสดงที่รัสเซียเลย)  ซึ่งได้รับการยกย่องว่างเป็นการปฏิวัติวงการเต้นในยุคนั้นเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะการไม่ได้ประจำอยู่ที่รัสเซียทำให้ห่างไกลจากขนบบัลเลต์คลาสสิก และการซึมซับบรรยากาศวัฒนธรรมอันเฟื่องฟูในปารีสยุคนั้น ทำให้บัลเลต์รูสโดดเด่นแตกต่าง ดังที่สะท้อนผ่านธีม การเคลื่อนไหว ฉากดนตรี และเครื่องแต่งกาย จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระแส โมเดิร์นนิสม์ 

เมื่อปี 1913  กาเบรียล ชาเนล ได้สัมผัสกับพลังของบัลเลต์สมัยใหม่เมื่อได้ชมการแสดง The Rite of Spring ของ Igor Stravinsky ซึ่งออกแบบท่าเต้นโดย Bronislava Nijinsky หนึ่งในสมาชิกของคณะ Ballet Russes และเป็นเพราะ Misia Sert ชนชั้นสูงชาวโปแลนด์ซึ่งเป็นมือขวาของชาเนล ที่นำพาให้มาดมัวแซลได้รู้จักกับ Diaghilev จนกลายเป็นเพื่อน และผู้อุปถัมภ์งานศิลป์ของเขา โดยเธอเป็นผู้สนับสนุนให้การแสดงชุด The Rite of Spring กลับมาแสดงได้อีกครั้งในปี 1920 

ต่อมาในปี 1924  ได้มีการจัดการแสดงเรื่อง Le Train Bleu ซึ่งเรียกได้ว่ารวมดาวเด่นแห่งยุคในสาขาต่างๆ ทั้งการออกแบบท่าเต้นโดย Nijinsky เนื้อเพลงโดย Jean Cocteau ดนตรีโดย Darius Milhaud ฉากโดย Henri Laurens ม่านเวทีโพรซีเนียมและโปรแกรมโดย Pablo Picasso และแน่นอนว่ามาดมัวแซล ชาเนล รับหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายซึ่งเรียกได้ว่าร่วมสมัยจนสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้เลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากบัลเลต์คลาสสิกที่เป็นทางการ  และหลังจากนั้น เธอยังทำหน้าที่ออกแบบชุดให้การแสดงอีกหลายชุด ทั้ง Apollon Musagète และ Bacchanale

เมื่อมาถึงยุคสมัยที่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ รับหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของชาเนล ตัวเขาเองก็ตกหลุมรักความงดงามของศิลปะระบำปลายเท้าเฉกเช่นมาดมัวแซล โดยได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับการแสดง The Dying Swan ของ Elena Glurjidze ในปี 2009 และการแสดงชุด Boléro’s pas de deux สำหรับเปิดฤดูการเต้น 2018-2019 

ในยุคของ วิร์จินี วิยาร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ในปี 2019 ได้มีการแสดงบัลเลต์ Variations ซึ่งออกแบบท่าเต้นโดย Serge  Lifar และเครื่องแต่งกายภายใต้การดูแลทิศทางการออกแบบของเธอ และเมื่อต้นปี 2021 ในงาน Opening Gala ของการเปิดฤดูกาลเต้น นักเต้นหลัก Valentine Colasante และ Hugo Marchand ได้สวมเครื่องแต่งกายที่ออกแบบโดย Chanel แสดงในการแสดงชุด Grand Pas Classique 

และล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กันยายน ในระหว่าง Opening Gala ของการเปิดฤดูกาลแสดง 2021-2022 ได้มีการจัดการแสดงชุด Défilé du Ballet รวมนักเต้นทั้งลูกศิษย์ของโรงเรียนไปจนถึงนักเต้นหลัก โดยสวมชุดกระโปรงทูทู คอร์เซ็ต และเทียร่า ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง  Chanel เวิร์กช็อปของ Opera และเวิร์กช็อป Lesage ซึ่งเชี่ยวชาญงานปักชั้นสูง ซึ่งอยู่ในสังกัด CHANEL’s Métiers d’art 

ปัจจุบัน แบรนด์ Chanel เองยังคงสานต่อการสืบสานและส่งเสริมศิลปะแขนงนี้ โดยทำหน้าที่พาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการใน Nijinsky Awards Ceremony ที่โมนาโคมาตั้งแต่ปี 2000 รวมทั้งรับเป็นผู้อุปถัมป์ในคืน Oepning Gala ของการเปิดฤดูการแสดงที่ Opéra de Paris มาตั้งแต่ปี 2018 และเมื่อเดือนมกราคม 2021 ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้อุปถัมป์ให้กับคณะ Paris Opera Ballet โดยจะสนับสนุนทุกโปรเจ็กต์ของคณะ เพื่อเป็นสืบสานสายสัมพันธ์ที่ Chanel มีต่อโลกศิลปะการเต้นซึ่งริเริ่มโดยมาดมัวแซล ชาเนล ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 

Other Articles