Monday, December 9, 2024

ความร่วมสมัยในอาคารหลังใหม่ของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center)

แต่ละสถานที่ที่มีความสำคัญทางศิลปะล้วนมีเอกลักษณ์และมนตร์ขลังในแบบของตัวเอง หากเอ่ยนาม ‘หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน’ (Jim Thompson Art Center) ชื่อเป็นฝรั่งทว่ามีความเป็นไทยสูงนั้นเป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 18 ปีแล้ว ภายใต้บริบทของการมีส่วนร่วมสนับสนุนและเชิดชูงานศิลปะ ด้วยการดูแลขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่างมูลนิธิ James H.W. Thompson ถ้าใครเป็นขาประจำแวะเวียนมาชมนิทรรศการที่หอศิลป์แห่งนี้คงเห็นอาคารหลังใหม่ตั้งตระหง่านอย่างสวยงาม ด้วยฝีมือการออกแบบของบริษัท design qua

บนพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตรของอาคารหลังใหม่นี้ “เป็นพื้นที่ให้คนมาดูงานและมานั่งคุยกัน อย่างถ้าคุณไปพิพิธภัณฑ์อื่นส่วนใหญ่เขาจะมีที่ให้คนดูงาน แต่มีที่ให้คนคุยกันน้อยมาก ของเราจะเน้นให้คนมาเจอกัน อาจจะมาดูงานสัก 30 นาที เสร็จแล้วมานั่งดื่มกาแฟ ไปใช้ห้องสมุด ทุกพื้นที่จะเห็นว่ามีม้านั่งสำหรับให้คนมาแฮงเอาต์” กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เกริ่นให้ฟังพร้อมบอกว่า “พอเป็นน้ำจิ้ม” ด้วยความการุณย์ของเธอที่ให้เราแทรกตัวเข้าไปนั่งสนทนาแม้ว่าภารกิจจะรัดตัว

“กระทั่ง museum shop ก็จะเป็นลักษณะให้คนมานั่งเมาท์กันได้ คล้ายเป็นโอท็อปของศิลปิน เพราะเรารู้สึกว่าตั้งแต่ช่วงโควิดศิลปินทุกคนมีปัญหา เราอยากช่วยอาร์ทิสต์และครอบครัวของเขา อย่างเช่นครอบครัวอาร์ทิสต์ทางอีสานทำปลาร้าอร่อยมาก บ้านนี้ปลูกข้าว บ้านนี้ทำอาหารสัตว์ เขาก็เอามาฝากเราขายได้ ไม่ใช่แค่อาร์ต แล้วเดี๋ยวเราจะ call for entry เอาทุกอย่างที่ไม่ใช่งานศิลปะมาขาย คือทำบางอย่างให้มันจับต้องได้ อะไรที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้” คุณกฤติยาอธิบายแบบออกรส พร้อมหัวเราะสนุกไปกับโปรเจ็กต์ที่วาดภาพไว้

อาคารหลังใหม่ของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ประกอบไปด้วยพื้นที่อันป็นหัวใจหลักคือแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยสองห้อง ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน นอกจากนี้ยังมีร้านกาแฟ รวมถึง JTAC Shop ที่มีสินค้าจากศิลปินและครอบครัวศิลปินวางจำหน่าย ในโอกาสเฉลิมฉลองอาคารใหม่ซึ่งตรงกับเทศกาล Galleries’ Nights 2021 หอศิลป์ได้จัดนิทรรศการที่น่าสนใจและเปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2021 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 อาทิ นิทรรศการ A Trail at the End of the World โดย ดุษฎี ฮันตระกูล, Spinning the Wheels โดย กวิตา วัฒนะชยังกูร และ Future Tense ผลงานศิลปะร่วมสมัยภายใต้บริบทของสงครามเย็น โดย 14 ศิลปินชาวไทยและต่างชาติ

“เราคิดว่าจะทำยังไงให้คนไทยเข้ามาดูงาน เพราะคนที่ไม่เคยมาหรือถ้าเคยมาก็อาจจะครั้งเดียว เพราะมันไม่เคยเปลี่ยนเลย เนื่องจากเป็น Permanent Collection นี่คือปัญหา เราจะทำยังไงให้ Permanent Collection มีชีวิต ดังนั้นต้องเอางานศิลปะเข้าไปจับและตีความ ทีนี้พอเปิดตึกใหม่เราต้องโอเพ่นมากขึ้น เลยทำ open call จากทั่วโลก เช่น รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ฯลฯ แล้วชวนเพื่อนๆ ที่เป็นคิวเรเตอร์วัยรุ่นมาเลือก สำหรับนิทรรศการ Future Tense พอยต์ของเราคือการย้อนไปยุคของสงครามเย็นซึ่งเป็นยุคที่คุณจิมอยู่ เราอยากเห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ว่าเขากลับไปดูปัญหานี้แล้ว สงครามเย็นมันยังตกค้างในชีวิตประจำวันของเขายังไง สุดท้ายเราคัดมาแค่ 14 คนจากทั่วโลก มีทั้งศิลปินไทย เซาท์อีสต์เอเชีย ละตินอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศฝั่งคอมมิวนิสต์อย่างบอสเนีย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองว่าปัญหาของตัวเองสำคัญที่สุด เราเลยอยากขยายมุมมองผ่านนิทรรศการนี้เพื่อให้คนเห็นว่าทั้งโลกมีปัญหาหมด อันนี้คือภารกิจของเรา” คุณกฤติยากล่าว

วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ หนึ่งใน 14 ศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกให้แสดงงานในนิทรรศการ Future Tense (ฟิวเจอร์เทนส์) อธิบายให้ฟังว่า “ภาพชุดนี้ชื่อว่า Countryside Before Memory หรือชนบทก่อนความทรงจำ เป็นแลนด์สเคปของชนบทไทย ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก ผมและเพื่อนๆ จะเขียนมันขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่พอมานึกดูแล้วเนี่ย เราไม่เคยไปใช้ชีวิตในชนบท แต่ภาพในชนบทก็ดูจะไม่มีที่มาที่ไปว่ามาอยู่กับเราได้ยังไง เวลาเราดูภาพชนบทมันเหมือนว่าเราคุ้นเคย มีประสบการณ์ตรงนั้น งานชุดนี้เป็นความพยายามในการหาที่มาที่ไปของภาพเหล่านั้นว่ามายังไง มันทำงานกับเรายังไง คือถ้าเราไม่เคยใช้ชีวิตในชนบท แล้วทำไมภาพถึงทำงานกับเราอย่างคุ้นเคย

มันต้องอาศัยการรีเสิร์ชข้อมูลบางอย่างด้วย ผมย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงในชนบทว่าแต่ละพีเรียดมีการเปลี่ยนแปลงแบบไหน โดยย้อนไปดูก่อนผมเกิดหลายปี คือจะเป็นช่วงสงครามเย็นที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผมเกิด 2540 ตรงกับปีที่เกิดต้มยำกุ้ง ผมพยายามดูว่าหลังปี 2500 ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติประกาศใช้ มีทุนจากสหรัฐอเมริกามาซัพพอร์ตรัฐบาลทหารไทย ทั้งเรื่องโครงการพัฒนาชนบท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ชนบท เป็นอะไรที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ผมรู้สึกว่าตอนนั้นชนบทยังไม่ใช่อะไรที่สวยงาม เต็มไปด้วยอันตรายและเถื่อน คำถามคือตั้งแต่เมื่อไรที่ภาพชนบทมันสวยงามสำหรับคนเมือง”

“ผมพยายามเชื่อมโยงความทรงจำส่วนตัวเข้ากับบริบททางสังคม หลังวิกฤตเศรษฐกิจดูเหมือนว่าพอคนรู้สึกไม่มั่นคงกับการขึ้นลงของเศรษฐกิจ การกลับไปมองวิถีชีวิตความเรียบง่ายในชนบทก็ถูกเทิร์นมา แนวคิดไม่ว่าจะเศรษฐกิจพอเพียง หรือชนบทที่อยู่ในละครหรือในทีวีต่างๆ ถูกทำให้เป็นแฟนตาซี งานของผมจะสะท้อนความเป็นภาพของชนบทมากกว่าชนบทในทางกายภาพจริงๆ ทั้งหมดนี้ผมได้ร้อยเรียงผ่าน essay film ในวิดีโอความยาว 19 นาที แล้วก็ใช้การเขียนภาพมันขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการทำความเข้าใจกับตัวเอง ซึ่งภาพที่ถูกเขียนขึ้นมาผมรู้สึกว่าไหนๆ ก็จะทำแล้ว เราไม่อยากไปผลิตซ้ำกับภาพชนบทที่เป็นอุดมคติ เลยเลือกใส่ subject ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างหรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตแบบยังชีพ แต่เป็นเงื่อนไขทางการผลิตที่เปลี่ยนไปซึ่งแสดงว่าชนบทเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก”

Essay Film

“ผมไม่ได้เคลมว่าสิ่งที่ผมทำมันจริงกว่าของคนอื่นนะครับ แต่เป็นการดูว่าภาพมันทำงานกับเรายังไง เลยนำเสนอให้ความเป็นภาพของงานจิตรกรรมกับเรื่องเล่าในงานวิดีโอที่เราร้อยเรียงขึ้นมาเนี่ยคู่กัน ให้สร้างบทสนทนาต่อกัน แต่ไม่ได้พยามสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างการผลิตแบบใหม่-การผลิตแบบเก่า ธรรมชาติ-เมือง แต่มองเรื่องนี้เป็นการปะทะสังสรรค์ที่มันจะต้องดำเนินไปเป็นพลวัตของมัน มีความเปลี่ยนแปลง เพราะภาพชนบทที่เราคุ้นเคย เราจะรู้สึกว่ามันไร้กาลเวลา ไม่มีพลวัต ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เลยจะท้าทายตรงนั้นด้วย”

ชมนิทรรศการจากหลากหลายศิลปินทั่วโลกไปพร้อมกับการเฉลิมฉลองอาคารใหม่ของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซึ่งจะประเดิมเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2021 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2022 หรือติดตามความเคลื่อนไหวและนิทรรศการที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.jimthompsonartcenter.org/

Photographer: Narin Lourujirakul

Other Articles