บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุด One for the Road ซึ่งได้รางวัล World Dramatic Special Jury Award จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2021 และมีผลงานสร้างชื่อก่อนหน้านี้อีกสองเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (2017) หนังที่ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง และ ‘เคาท์ดาวน์’ (2012) ผลงานแรกของสายอาชีพ บาสในวัย 40 ดูหนุ่มกว่าอายุ อาจเพราะงานที่ทำอยู่คือโลกแห่งความสนุกที่พบเจอตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย เรามีนัดเจอกันที่ FICS ร้านที่มีกาแฟและโปสเตอร์หนังให้เสพ อีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นเหมือนงานอดิเรกผสมแพสชั่นของบาส
“ช่วงนี้ค่อนข้างยุ่งมาก แต่ตัดสินใจไปแล้วว่าจะเปิดก็ต้องทำ” บาสพูดถึงร้านนี้ ขณะถ่ายภาพคู่ (ด๊อกด๋อย) ก่อนนั่งคุยกันถึงหนังเรื่องล่าสุด “ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดฉาย ด้วยความที่ทุนมาจากฮ่องกง โปรดิวเซอร์คือหว่องการ์ไว เขาอยากให้ฉายที่จีนกับฮ่องกงก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดก็พร้อมกับที่ไทย มันเลยเป็นการหาสล็อตในการฉายที่ยากกว่าแค่ในไทย”
คุณหว่องบอกไหมว่า One for the Road เป็นมาสเตอร์พีซ เพราะได้รับรางวัลด้วย
“ผมว่ารางวัลไม่ใช่สิ่งที่จะบอกได้ทั้งหมดนะ อย่างน้อยสิ่งที่ผมกับเขาพยายามทำด้วยกันตลอดช่วงเวลาที่ทำงานนี้ ผมว่ามันสำเร็จในความตั้งใจของเรา เขาเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดี ผมเคยทำงานกับพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) พี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) ที่ GDH พี่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีมาก มีความเป็นเหมือนพ่อเหมือนแม่ ส่วนคุณหว่องเป็นเหมือนอาจารย์ประจำภาควิชาที่เข้มงวดกวดขันให้เราทำโปรเจ็กต์ให้ดีที่สุด ซึ่งในความตั้งใจที่เราคุยกันว่าโปรเจ็กต์นี้ต้องสะท้อนอะไรในตัวผมในฐานะคนทำหนัง ผมคิดว่ามันปลดล็อคตรงจุดนั้นได้ แต่ว่าไม่เคยถามเขาว่าชอบขนาดไหนให้คะแนนซิ แค่เขาโอเคก็โอเคแล้ว”
แล้วคุณล่ะชอบแค่ไหน ถ้าเทียบกันทั้งสามเรื่อง
“ในเชิงของความตั้งใจว่าโจทย์คือการทำหนังที่มีความเป็นส่วนตัว ถ้ามองจากมุมนี้ผมชอบนะ แต่จะบอกเลยว่าไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน ไม่เหมือนฉลาดเกมส์โกงซึ่งเป็นหนัง escapist ที่ดูเพื่อความบันเทิง ทุกคนน่าจะเข้าใจอารมณ์ตรงนั้นได้ แต่เรื่องนี้ด้วยความที่ไม่ได้อยู่ในท่ามาตรฐานบางอย่าง อาจทำให้คนไม่ได้อ้าแขนรับเหมือนเรื่องที่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการเป็นผู้กำกับ”
ในใจคุณลุ้นให้ออกมาเป็นแบบไหน
“ในเชิงบิสิเนสผมลุ้นให้มันทำให้นายทุนแฮปปี้ ผมไม่รู้หรอกว่าต้องได้เงินเท่าไหร่เขาถึงจะแฮปปี้ ผมไม่ใช่นักธุรกิจที่เป็นคนทำหนัง ผมเป็นศิลปิน ผมโชคดีที่เขามาจ้าง แล้วผมก็มีหน้าที่ทำโปรดักต์นี้ให้คนดูเอ็นจอยที่สุด และหวังว่ามันจะนำมาสู่ความสำเร็จในด้านเม็ดเงิน ส่วนในเชิงฟีดแบ็ก สมมติว่าฉายแล้วคนชอบก็ดีใจ และเรียนรู้กับมันไปว่าชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร และหวังไปถึงนักแสดงกับทีมงาน ถ้าสมมติว่าได้เข้าชิง เอาจริงๆ ผมไม่ได้มองภาพตัวเองว่าจะได้รางวัลผู้กำกับหรือหนังยอดเยี่ยม แต่นักแสดงที่ทุ่มเทฉิบหาย ทีมงานที่ต้องเหนื่อยกับความเรื่องมากของผม หวังว่าเขาจะได้รับการ recognize เพราะว่าในฐานะผู้กำกับ ผมเชื่อว่าผมได้รับการ recognize มากเกินไปแล้ว ในการทำหนังสักเรื่อง ผู้กำกับแม่งได้เครดิตเยอะไปนะ (หัวเราะ)”
คุณจิตตกไหมเวลาอ่านคอมเมนต์ของนักวิจารณ์ที่พูดถึงหนังเรื่องนี้
“ไม่ แต่เรื่องแรกผมจิตตกนะ ช่วงนั้นเป๋เลย มีความรู้สึกว่าการเป็นผู้กำกับทำไมไม่เห็นจะสวยหรูศักดิ์สิทธิ์เหมือนสิ่งที่เราคิดเลยวะ ทำหนังมาสองปีชีวิตกูโดนคนด่าขนาดนี้ แต่พอเราก้าวข้ามผ่านได้ พี่เก้งบอกว่าไม่ต้องคิดมาก เพราะสุดท้ายแล้วตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราเต็มที่หรือยัง ถ้าเต็มที่แล้ว ตั้งใจที่สุดแล้ว ใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด หลังจากฉายแล้วหนังเป็นของคนดูไม่ใช่ของเรา ซึ่งพอเราเริ่มย่อยได้ก็โอเค จิตไม่ตก เราอาจจะโตขึ้นด้วยมั้ง ผมว่าการฟังคำวิจารณ์เป็นเรื่องดีนะ ฟังแล้วประมวลแล้วย่อย ย่อยว่าตรงไหนที่เรารู้สึกว่าเห็นด้วย ตรงไหนที่เรารู้สึกว่าในเรื่องต่อไปถ้าเราแก้ไขมันได้จะทำให้ตัวตนของเราในฐานะศิลปินแข็งแรงขึ้น แต่ถ้ามุมไหนที่รู้สึกว่าเขาอาจเข้าใจไม่ตรงกับเรา ไม่เป็นไร กลับไปเรื่องเดิมที่พี่เก้งเคยบอก หนังเป็นของคนดู เราไม่มีหน้าที่ต้องแก้ตัวให้หนัง งานมันอธิบายตัวเอง ถ้าความตั้งใจของเรามันไม่ออกในหนังสองชั่วโมงนั้น มันก็คือไม่ออก…จบ แสดงว่าเราล้มเหลว หรือถ้ามันออกแล้วคนจะตีความเป็นอย่างอื่นก็ไม่เป็นไร ทำได้ก็คือแก้ตัวในไดเร็กชั่นที่เราวางไว้ในฐานะศิลปินในเรื่องต่อไป”
เป้าหมายสูงสุดในการทำหนังคืออะไร
“ขอทำไปเรื่อยๆ ผมไม่เคยแคร์รางวัล เอ้ย! แคร์ๆ ตอนได้ซันแดนซ์นี่โคตรดีใจ มันเป็นความรู้สึกที่ดีแหละ เป็นโบนัสในการทำงาน แต่ผมไม่เคยตั้งเป้าว่าทำแล้วจะต้องได้รางวัล เพราะถ้าตั้งเป้าเข็มทิศมันจะบิดเบี้ยวไปเลย เราแค่ต้องเชื่อในสตอรี่ คุณจะเล่าสตอรี่นี้ยังไงให้มันส่งผลกับคนดูในเชิง emotional สำหรับผมนะ ผมถึงเอาสิ่งนี้เป็นที่ตั้งในการทำงาน แล้วก็หวังว่าผมจะมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะทำหนังไปอีก 20-30 ปี ถ้าผมทำได้ นั่นคือรางวัลแล้ว”
คุณชอบดูหนังมาตั้งแต่ ป.3 จินตนาการในช่วงวัยนั้นคืออะไร
“แค่สนุก มันพาเราหลุดไปจากโลกที่เราอยู่ในชั่วระยะเวลาสองชั่วโมง จนกระทั่งพอโตมาเราเริ่มค้นพบความสุขอีกแบบ สมมติผมดูหนังสักเรื่องแล้วชอบมากๆ เฮ้ย! เรื่องนี้ต้องให้ป๊าแม่พี่น้องทุกคนดู ในขณะที่สายตาทุกคนอยู่กับหนัง สายตาเราจะอยู่กับคนที่บ้าน คอยดูว่าเขามีความสุขไหม เขาหัวเราะ เขาตื่นเต้น เขาร้องไห้ใช่ไหม เราจะรู้สึกภูมิใจเหมือนเป็นผู้กำกับเอง ทำให้เราได้สัมผัสกับ medium นี้ ในเชิงที่ไม่ว่าคุณจะแค่สนุกแล้ว get away ในสองชั่วโมงนั้น หรือว่าหนังเรื่องนั้นทำให้คุณคิดอะไรบางอย่างได้ หรือก่อให้เกิดการถกเถียงในหน่วยที่คุณอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าหนังมีเสน่ห์ มีความศักดิ์สิทธิ์”
แล้วเริ่มอยากเป็นผู้กำกับตอนไหน
“ป.6 แต่ผมก็คิดแบบเด็กๆ อะนะ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้กำกับทำอะไร แต่รู้ว่า a film by, directed by คนนี้น่าจะใหญ่สุดละ แล้วเวลาที่เราอ่านบทวิจารณ์หนัง เขาจะบอกว่าหนังเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับคนนี้ มันมีลายเซ็นของเขาอยู่นะ เรื่องที่แล้วเขาทำเรื่องนี้ เราก็อ๋อ ผู้กำกับนี่แหละคือไกด์ทัวร์ที่พาเราไปสู่โลกหนึ่งที่เราไม่เคยคิด แล้วก็ศึกษามาเรื่อยๆ ว่าผู้กำกับทำอะไรบ้าง…ไม่น่าเลย (หัวเราะ) ชีวิตเปลี่ยน”
อาชีพนี้เหนื่อยไหม
“จะพูดยังไงให้สุภาพที่สุด เหนื่อยฉิบหาย คือจะบอกว่าผู้กำกับเหนื่อยฉิบหายคนเดียวก็ฟังดูเหมือนคนอื่นไม่เหนื่อยกับมึงเหรอ ผมว่าการทำหนังโดยเฉพาะในประเทศไทย เอาจริงมันเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เอื้อกับการทำงานอย่างที่ควรจะเป็นด้วยแหละ ทุกคนเหนื่อยหมด ช่างไฟ ทีมงาน ทีมอาร์ต คอสตูม เพียงแต่ผู้กำกับอยู่กับหนังตลอดตั้งแต่ conceive ไอเดียลากยาวไปจนถึงวันที่หนังเสร็จ เลยเป็นความเหนื่อยเหมือนวิ่งมาราธอนน่ะครับ บนพื้นฐานของความเชื่อและหวังว่าเราวิ่งมาถูกทางแล้ว
ผมว่าตำแหน่งที่ถูก underrate ที่สุดในวงการทำหนังคือการตัดต่อ ผมจะแบ่งการกำกับเป็นสามขั้น ขั้นแรกคือเขียนบท ซึ่งเป็นการกำกับตัวเองในเชิงความคิด การเล่าเรื่อง และเมสเสจที่อยากจะบอกคาแร็กเตอร์ต่างๆ ขั้นตอนที่สองคือการออกกองถ่าย เป็นการกำกับคนอื่น ทำงานกับทีม เราจะไดเร็กชั่นเขายังไงให้ไปในทิศทางที่ต้องการโดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเรากำลังฟอร์ซเขาอยู่ ขั้นตอนที่สามคือตัดต่อ เป็นการกำกับหนังจริงๆ เราจะวาทยากรฟุตเทจที่เรามีอยู่ยังไงให้มันออกมาแล้วกลายเป็นหนังที่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้และศึกษา”
คุณเป็นผู้กำกับแบบไหน
“ผมว่าผมจริงจังนะ ผมไม่พูดหยาบคาย ไม่ด่าใคร ต่อยอย่างเดียว (หัวเราะ) แล้วคนแรกที่ผมจะจริงจังคือตัวผมเอง หมายถึงว่ามึงห้ามเล่น เพราะทุกครั้งเวลาจะถ่ายซีนนี้วันนี้ เราต้องท่องในใจว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่มึงจะได้ถ่ายซีนนี้ในชีวิตมึง เพราะถ้าทำแล้วไม่เวิร์ก มีสองช้อยส์ ช้อยส์แรกคือรีชูตใหม่ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาด้วยข้อจำกัดของเงิน ช้อยส์สองคือมึงต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นมึงต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้กำกับให้ดีที่สุด แล้วทีมงานที่เหลือเขาจะคอยซัพพอร์ตสิ่งที่มึงต้องการ แต่รังสีความจริงจังมันอาจจะแผ่ไปบ้าง”
ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มเดือด มีวิธีไหนที่ช่วยทำให้ใจร่ม
“ถ้าขึ้นหรือเครียดจริงๆ ผมจะบอกว่า ‘เดี๋ยวพี่มานะ’ แล้วออกไปเดินเล่น ไปถ่ายรูป คิดทบทวน เอาตัวเองออกมาจากสมรภูมิก่อน ดูว่าสูญเสียอะไรไปแล้วบ้าง ยังกอบกู้อะไรกลับมาได้บ้าง มันคือการชั่งน้ำหนักกับตัวเอง”
ความยากในการนั่งแท่นผู้กำกับ
“ยากสุดคือการทำงานกับคน เราในฐานะผู้กำกับที่เป็นคนบอกเยสหรือโนมากที่สุดในกองถ่าย ทุกครั้งที่เราพูดว่าโน มันไปสร้างความเดือดร้อนให้ชีวิตคนขนาดไหน เราเห็นสิ่งนั้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะถ่ายแหกคิว เพราะถ้ายังไม่ได้ผมจะไม่ปล่อยผ่าน ซึ่งทุกครั้งมันก็นำไปสู่การถ่ายถึงเช้า ถ้าเรามีเวลาในการทำงานเยอะขึ้นมันก็ดี เราอาจจะได้ถ่ายวันละซีน คละกันไปในทุกภาคส่วนของเฟรมหนัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาร์ต ไลท์ติ้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ด้วยเม็ดเงินที่เรามีแค่นี้ มันบีบให้เราต้องทำแบบนี้ ถ่ายกันวันละ 5-6 ซีน แถมยังมีไม้บรรทัดที่เราปล่อยไม่ได้อยู่”
ควรรีชูตหรือไม่ ต้องตัดสินใจจากอะไรบ้าง
“รีชูตจะเกิดขึ้นต่อเมื่อสิ่งที่ขาดไปมันสำคัญกับตัวหนังจริงๆ หมายถึงว่าถ้าถ่ายช็อตนี้เพิ่มหรือแก้ตรงนี้แล้วจะทำให้หนังที่เราประกอบร่างตรงหน้าดีขึ้น ถ้าถามว่าเคยไหมที่นั่งดูฟุตแล้วแบบ กูถ่ายห่าอะไรมาวะ… ตลอดเวลา (ยิ้ม) มันไม่เคยมีความรู้สึกว่า กูเก่งจังเลย แต่มันจะรู้สึกว่า ทำไมไม่กำกับอย่างนี้วะ ทำไมไม่แพนกล้องไปซ้ายหน่อยวะ ทำไมไม่เพิ่มไฟตรงนี้ มันจะเต็มไปด้วยบาดแผล แต่เป็นแผลแบบว่าใช้พลาสเตอร์ยาแปะละกัน มันไม่ได้สำคัญอะไร ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องยอมรับนะว่านี่คือหนังที่เราทำ เพราะไม่งั้นการทำหนังจะไม่มีวันเสร็จ”
ทำหนังห่างกันห้าปี คุณตั้งใจเว้นช่วง หรือว่าเป็นไทม์ไลน์ปกติ
“ไม่มีความตั้งใจอะไรเลย มันห่างไป ผมอยากจะเป็นผู้กำกับที่ทำหนังแบบสองปีหนึ่งเรื่อง แต่อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตมันไม่เคยทำได้เลย อย่างตอนเคาท์ดาวน์มาฉลาดเกมส์โกง มันห้าปีเพราะไปทำอย่างอื่นเยอะ เอาจริงๆ หลังจากเคาท์ดาวน์เจ๊ง ผมทำใจไว้แล้วว่าอาจไม่มีโอกาสได้ทำหนังใหญ่อีก กลายเป็นแบบ the next best thing คืออะไรวะ เลยไปทำโฆษณา ทำเอ็มวี ทำอะไรก็ได้ที่ยังเปิดโอกาสให้เราได้เล่าเรื่องอยู่”
ฉลาดเกมส์โกงมาจุดพลุเลยสิ เป็นงานที่ภาคภูมิใจมากไหม
“ถ้าตอบแบบหล่อๆ ผมคงบอกว่าผมภูมิใจทุกงานครับ (หัวเราะ)”
แล้วถ้าตอบแบบเป็นตัวตนเราจริงๆ
“ทุกงานเหมือนลูก เราอาจจะเอ็นดูลูกบางคนมากกว่านิดๆ แต่ผมเชื่อว่าทุกงานสอนเราเสมอ ลูกทุกคนสอนเราในฐานะของการเป็นพ่อเสมอว่ามึงบกพร่องตรงไหนในการเป็นพ่อ ห้ามโทษลูก มึงต้องโทษตัวเอง ห้ามโทษคนอื่นด้วย”
ความสามารถของนักแสดงมีผลกับหนังแค่ไหน
“มีเยอะครับ นักแสดงที่ดีคือหัวใจของซีนของหนัง ผมเขียนบทแต่จะไม่เคยฟิกซ์ตามบทขนาดนั้น เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วนักแสดงรู้จักตัวละครดีกว่าผม เพราะเขาเอาบทไปทำการบ้าน ไปเวิร์กช็อป ซึ่งเป็นอะไรที่อันเดอร์เดอะไลน์ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลาคุณเล่น ถ้าคุณไม่เชื่อไดอะล็อกที่ผมเขียนมา เล่นไปได้เลย อยากพูดอะไรก็พูดเลย
สิ่งเหล่านี้พอผมทำกับทุกงานที่ผ่านไป ยิ่งตอกย้ำว่าการให้อิสระกับนักแสดงที่เข้าใจบทจริงๆ โคตรดีเลย เขาจะพางานของเราไปในดินแดนที่ไม่คิดว่ามันจะไปได้ อย่าง One for the Road มีซีนหนึ่งที่ถ่ายไอซ์ซึ (ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) กับพลอย หอวังนั่งคุยกัน ผมเขียนไดอะล็อกห้าหน้า แล้วเขาก็ไปทำเวิร์กช็อปกันมา เทคแรกที่ถ่ายผมบอกว่าไม่ต้องพูดตามไดอะล็อก ลืมไปเลยนะว่าผมเขียนอะไรมา แล้วมันเป็นสิบนาทีของการอิมโพรไวส์ของสองคนที่ผมกับไก่ (ณฐพล บุญประกอบ) นั่งร้องไห้ เป็นเทคที่ผมใช้ในหนังด้วย มันคือการรับส่งกันของตัวละคร ผมว่านี่คือความสวยงามของการทำหนัง”
หลักในการแคสต์นักแสดง
“แล้วแต่งานเลย ถ้าเป็นหนังจะเน้นความรู้สึกเป็นหลัก บางครั้งเวลาเขียนบทผมจะมีภาพนักแสดงในหัว ถ้าคนนี้มาเล่นจะเป็นยังไง ซึ่งหลายครั้งพอมาเล่นแล้วไม่เวิร์กนะ แต่กลายเป็นว่าคนที่เราไม่เคยมองมาก่อน พอมาแคสต์ เออมันใช่ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือไอซ์ซึ ต้องบอกว่าไม่เคยมีแม่งในสายตาเลย (หัวเราะ) พอแคสต์ปุ๊บเขาเล่นเทคสองเทคแรก ผมบอกรอพี่แป๊บนึงนะ ตอนนั้นยังพูดกันสุภาพ (ยิ้ม) แล้วผมก็เรียกไก่มาบอกว่า ‘ไอ้เชี่ย! เจอแล้ว’ แล้วก็เปิดประตูออกไปบอกเขาว่า ‘เดี๋ยวพี่แจ้งกลับไปนะ’ เพราะเราไม่รู้ว่าพี่หว่องจะเลือกเหมือนเราหรือเปล่า ปรากฏว่าพอส่งเทปไปเขาก็โอเค ใช่… จบ แสดงว่ามึงเกิดมาเพื่อบทนี้ แต่ในประวัติศาสตร์การทำงานก็มี miscast บ้าง ต้องเรียนรู้แล้วก็หาทางทำงาน ผมจะไม่ไล่นักแสดงออก เพราะคิดว่าเราตัดสินใจเลือกเขามาแล้ว”
เคยคิดแวบๆ ว่าอยากเลิกบ้างไหม
(เขาหันไปถามขิม-แฟนสาว) “มีค่ะ แต่เลิกไม่ได้ ไม่มีทาง” บาสหัวเราะแทนคำตอบ “ตอนนี้ผมรู้สึกว่าผมทำงานหนักไป คือไม่เกี่ยวกับความเหนื่อยเลย มันแค่เราใช้ของที่เรามีจนหมดแล้วไม่ได้เติม ผมควรจะต้องพักเพื่ออยู่เฉยๆ แล้วเติม เติมในที่นี้คือการดูหนัง ฟังเพลง ไปเจอคน อ่านหนังสือหรือคอนเทนต์ต่างๆ เพราะช่วงเฟสแรกในการทำหนังของผม ผมได้ของมาเยอะจากช่วงเวลาวัยรุ่นที่เรียนจบมาแล้วมีแพสชั่น แต่แพสชั่นไม่ได้พาเราไปสู่เป้าหมายของการทำหนัง จนกระทั่งเราไปอยู่นิวยอร์ก แล้วเราได้เจอประสบการณ์ชีวิต ได้เจอคน ได้เจอเรื่องราวแล้วเราเก็บ แต่ตอนนี้เราถอนจนมันตัวแดงแล้ว (หัวเราะ) จะกู้ใครก็ไม่ได้เลย”
อาหารสมองของคนที่เป็นผู้กำกับคืออะไร
“สำหรับผมยังเป็นการดูหนังอยู่นะ แต่ว่าการดูหนังมันอาจจะให้ในเชิงของวิธีการ ในเชิงปฏิบัติ ในเชิงของเทรนด์ว่าหนังไปขนาดนี้แล้วนะ มันเล่าอย่างนี้ได้ ความรู้สึกมวลรวม หรือเทสต์ของคนดู แต่สุดท้ายแล้วหัวใจของคอนเทนต์คือสตอรี่ ผมว่าเรื่องนี้กลับไปตัวแดงทางด้านความคิดอย่างที่พูดนั่นแหละ ทุกวันนี้ยังเครียดอยู่เลย มันไม่เหลืออะไรให้เล่าแล้ว (หัวเราะ) หรืออาจจะมี แต่แค่ผมยังไม่นิ่งพอให้สามารถกลั่นกรองออกมาได้”
หนังในฝันที่เปิดโอกาสให้คุณทำได้ทุกอย่าง
“ไม่เคยคิดเรื่องพล็อตนะ แต่คิดว่าถ้ามีโอกาสอยากร่วมงานกับนักแสดงเก่งๆ ที่เราชอบเขาไม่ว่าจะเป็นนักแสดงไทยหรือเมืองนอกก็แล้วแต่ ในสตอรี่ที่เราเชื่อมัน แค่นั้นก็เป็นในฝันแล้ว กับมีคิวถ่ายสัก 50 คิว อยากถ่ายวันละซีน ซีนละสามหน้า แล้วถ่ายแค่วันเดียวแบบปั้นๆ เราจะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ให้เขาทำงานเลิกหกโมงเย็นแล้วกลับบ้านนอน” (ทุกวันนี้หนังเรื่องหนึ่ง 80-100 กว่าซีน มีคิวถ่ายประมาณ 20 คิว!)
อะไรที่ช่วยให้หายเหนื่อยได้
“ชี้ไปที่ด๊อกด๋อย (น้องช่วยยังไงบ้าง?) ไม่ช่วย ไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับชีวิตเลย (‘บางทีเขาเครียด แค่ด๊อกด๋อยเดินมาหา เขาเปลี่ยนสีหน้าทันทีเลย’ ขิมเล่า) ช่วยผ่อนคลาย ช่วยทำให้เราเข้าใจว่ามันมีบางอย่างที่สำคัญกว่าเราหรือหนัง หมายถึงว่าชีวิตมันมีอะไรมากกว่าแค่นั้น มันมีไอ้ตัวนี้ คือถ้าเราไม่ทำข้าวให้กิน เขาจะหิว (หัวเราะ)”
ความสุขของคุณคืออะไร
“มีหลายอย่าง แต่ขอตอบที่เมื่อวานเพิ่งคิดขึ้นมาได้แล้วกัน การได้ไปเที่ยวที่อื่น จะเป็นต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรหวือหวา แค่เดินเล่นในเมือง หาอาหารอร่อยๆ นั่งดื่มไวน์ ถ่ายรูป ดูคน ดมกลิ่นเมือง”
Photographer: Adison Rutsameeronchai