Wednesday, November 6, 2024

Alaïa & Balenciaga ประติมากรแห่งโลกแฟชั่น

Azzedine Alaïa (อัซเซอดีน อาไลยา) และ Cristóbal Balenciaga (คริสโตบัล บาเลนเซียกา) สองดีไซเนอร์ผู้ยิ่งยงซึ่งมีวิสัยทัศน์และสไตล์เป็นเอกลักษณ์ ได้โคจรมาพบกันในนิทรรศการครั้งสำคัญ Alaïa & Balenciaga. Sculptors of Shape จัดขึ้นที่ Cristóbal Balenciaga Museum ณ เมืองเกตาเรีย ประเทศสเปน ผลงานกว่า 100 ชิ้นแสดงให้เห็นว่าสองประติมากรแห่งโลกแฟชั่นได้พัฒนาสไตล์ที่ไร้กาลเวลาและตราตรึงอย่างไร 

คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการนี้เกิดขึ้นโดย Hubert de Givenchy (อูแบร์ เดอ จีวองชี่) ซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากบาเลนเซียกา หลังจากอาไลยาได้จากโลกนี้ในปี 2017 จีวองชี่ก็ได้นำเสนอคอนเซ็ปต์กับ Olivier Saillard (โอลิวิเยร์ ไซยาร์)  Carla Sozzani (คาร์ลา ซอสซานี) และ Christophe von Weyhe (คริสตอฟ วอน เวย์เฮอ) ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของอาไลยา เขาบอกว่าอยากนำผลงานของทั้งสองดีไซเนอร์มาจัดแสดงร่วมกันเพื่อสร้างวาทกรรมใหม่ในหัวข้อเรื่องสไตล์ แม้ว่าตัวจีวองชีจะจากไปหลังจากที่นัดเจอคุยคอนเซ็ปต์ในครั้งแรก นิทรรศการนี้ก็ได้รับการสานต่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ความคิดของเขาและดีไซเนอร์ทั้งสอง 

“สำหรับอาไลยา เขารักและบาเลนเซียกาจากอิทธิพลในเรื่องต่างๆ ทั้งสองหลงใหลในแพรพรรณเหมือนกัน และใช้งานผ้าเหล่านั้นอย่างชำนาญและแยบยล ชุดกระโปรงของพวกเขาที่ตัดเย็บด้วยผ้ากอซและลูกไม้เป็นประจักษ์พยานที่ดีถึงความชำนิชำนาญของพวกเขา” โอลิวิเยร์ ไซยาร์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการให้สัมภาษณ์ “เช่นเดียวกับสีดำที่เป็นจุดร่วมของดีไซเนอร์ทั้งสอง  ทำให้พวกเขาต้องโฟกัสที่ดีไซน์ รวมทั้งการสอดแทรกขนบและโฟล์กลอร์ อย่างในชุดกระโปรง Gitane ของอาไลยา และชุดที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมสเปนของบาเลนเซียกา” 

หากไล่ดูผลงานต่างๆ ของทั้งสองดีไซเนอร์ จะเห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน หลังจากบาเลนเซียกาประกาศทำคอลเลกชั่นสุดท้ายในปี 1968 อาไลยาก็เริ่มเก็บรวบรวมผลงานของบาเลนเซียกาเป็นอาร์ไคฟ์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะผลงานในยุค 1930S-1940S  จนเวลาผ่านไป 40 ปี เขามีผลงานของบาเลนเซียกามากกว่า 500 ชิ้น อาไลยาชื่นชอบในแนวคิดการออกแบบของดีไซเนอร์รุ่นพี่ ทั้งความใส่ใจในเส้นสาย รูปทรง ผ้า รวมทั้งเทคนิค และรายละเอียด 

นิทรรศการ Sculptors of Shape นำเสนอแง่มุมแฟชั่นที่สองดีไซเนอร์มีเหมือนกัน เช่นซิกเนเจอร์ลุคที่นำมาจัดวางเคียงข้างกันซึ่งทำให้เรามองเห็นความเหมือนได้อย่างชัดเจน เช่นแจ๊กเก็ตขี่ม้า แจ๊กเก็ตโบเลโรปักลาย ชุดเน้นเรือนร่าง และชุดราตรียาว หากไม่มองป้ายคำบรรยาย ก็ยากเช่นกันที่จะบอกว่านี่คือผลงานของใคร

นิทรรศการนี้ยังนำเสนอประวัติของสองดีไซเนอร์ที่มีคลามคล้ายคลึงกันด้วย อย่างเรื่องพื้นเพที่มาจากครอบครัวธรรมดาและไล่ตามความฝันด้านแฟชั่น บาเลนเซียกาเกิดในปี 1895 มีพ่อเป็นชาวประมงและแม่เป็นช่างเย็บผ้า ส่วนอาไลยาเกิดในปี 1935 ในครอบครัวชาวสวนชาวตูนิเซีย ทั้งสองเรียนรู้เทคนิคการตัดเย็บตั้งแต่เด็ก โดยบาเลนเซียกาได้เรียนจากแม่ และอาไลยาได้เรียนจากพี่สาว ทั้งสองยังได้ทำงานเป็นช่างตัดเสื้อและเรียนรู้อย่างจริงจัง บาเลนเซียกาฝึกงานกับช่างตัดเสื้อตั้งแต่อายุ 12 และหลังจากนั้นไม่นาน  Marchioness de Casa Torres ชนชั้นสูงในยุคนั้นก็คอยอุปถัมภ์เขา ราชวงศ์และขุนนางต่างก็สวมใส่เสื้อผ้าที่เขาออกแบบ และช่วยส่งให้เขามีชื่อเสียงนอกประเทศ ส่วนอาไลยาเริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยช่างตัดเสื้อก่อนจะรับลูกค้าแบบไพรเวท เขาได้ทำงานในแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ กีย์ ลาโรช และเธียร์รี่ มูแกลร์ ก่อนจะตั้งแบรนด์ของตัวเอง 

ทั้งบาเลนเซียกาและอาไลยาต่างก็ยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุด พวกเขาไม่สนใจตารางแฟชั่นที่ยึดถือกัน แต่ผลิตงานตามสัญชาตญาณมากกว่า สไตล์ของบาเลนเซียกามีทั้งเสื้อทูนิค เสื้อเชอร์มีส  ชุดกระโปรงเบบี้ดอลล์ รวมทั้งโครงชุดเอวสูง ชุดแส็ก และกลิ่นอายของกิโมโน ลูกค้าของเขามีทั้งเกรซ เคลลี่ ออเดรย์ เฮปเบิร์น และแจ๊กกี เคนเนดี ส่วนอาไลยาเด่นเรื่องชุดหนัง โครงชุดรัดเอว และชุดที่โอรัดไปกับเรือนร่างจนทำให้เขาได้ฉากยาว่า King of Cling ลูกค้าคนดังของเขาคือ เกรซ โจนส์  ทีน่า เทอร์เนอร์ เลดี้ กากา และมาดอนน่า 

แต่ถึงจะมีความคล้ายคลึง แต่นิทรรศการนี้ยังแสดงให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองดีไซเนอร์ด้วย  “อย่างแรกเลยคือมุมมองที่มีต่อเรือนร่างของผู้หญิง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะยุคสมัยที่พวกเขาสร้างสรรค์ผลงาน และอุดมคติความงาม และมุมมองที่เปิดกว้างเรื่องเรือนร่าง” ไซยาร์ดอธิบาย “อาไลยาจะเน้นให้เห็นเรือนร่าง ส่วนบาเลนเซียกาจะสร้างสเปซและวอลุ่มปกคลุมเรือนร่าง”

นิทรรศการ Alaïa & Balenciaga. Sculptors of Shape จัดแสดงจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2021 ที่ Cristóbal Balenciaga Museum เมืองเกตาเรีย ประเทศสเปน 

Other Articles