Wednesday, November 6, 2024

เปิดประตูสู่จักรวาลแห่งกาลเวลาที่พิพิธภัณฑ์ Audemars Piguet

ลองจินตนาการถึงขุนเขากว้างใหญ่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฤดูร้อนปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวครึ้ม พอฤดูหนาวก็กลายเป็นสีขาวเพราะหิมะ เมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อถึงช่วงหน้าหนาว ชาวบ้านที่ว่างเว้นจากงานเกษตรก็หันมาทำงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกากัน ความรู้เรื่องนาฬิกาซึ่งกำเนิดในอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกทอดมาสู่ชาวสวิส โดยเฉพาะตามชายแดนที่ติดกับฝั่งฝรั่งเศส ก็เพราะชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งอพยพหลบหนีออกมาจากประเทศตัวเองในช่วงสงครามศาสนา และเมื่อนิกายคาลวินนิสม์ซึ่งห้ามสวมใส่เครื่องประดับล้ำค่าได้ขยายความนิยมออกไป ทำให้ศาสตร์การสร้างสรรค์นาฬิกาซึ่งไม่ถือเป็นเครื่องประดับเติบโตไปด้วย 

บริเวณเขตเขาอันกว้างใหญ่ที่ว่านี้เรียกกันว่า Vallée de Joux (วัลเล เดอ ฌูซ์) เป็นต้นกำเนิดและเป็นที่ตั้งของแบรนด์นาฬิกาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Audemars Piguet ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมือง Le Brassus มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1875 ซึ่งถ้าอธิบายด้วยคำสมัยนี้คงต้องเรียกว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่สามารถผลิตนาฬิกาส่งไปขายยังเมืองใหญ่ๆ ปัจจุบัน Audemars Piguet ยังคงได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาแบรนด์นาฬิกาที่ยังคงอยู่ในตระกูลผู้ก่อตั้ง ซึ่งก็คือตระกูลโอเดอมาร์ และตระกูลปิเกต์

Musée Atelier Audemars Piguet คือสถานที่ที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของแบรนด์และการสร้างสรรค์นาฬิกาชั้นสูงเข้าไว้ด้วยกัน โปรเจ็กต์สร้างพิพิธภัณฑ์ของแบรนด์นี้ใช้เวลาดำเนินการอยู่หลายปีจนแล้วเสร็จในปีนี้ต้อนรับทศวรรษใหม่พอดี โดยกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการคือเดือนมิถุนายนที่จะถึง 

ดีไซน์ตัวอาคารรูปทรงเกลียว โอบล้อมด้วยกระจกทรงโค้ง รวมถึงดีไซน์ตาช่ายทองเหลืองที่ล้อมรอบภายนอกอาคารโดย BIG นั้น
ช่วยควบคุมการเปิดรับแสงจากธรรมชาติและอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี โดยไม่บดบังทัศนียภาพอันสวยงามของวัลเลย์ เดอ ฌูซ์

ติดกับอาคารหลังเก่าซึ่งเคยเป็นเวิร์กช็อปของ Jules Louis Audemars และ Edward Auguste Piguet ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ทางบริษัท BIG (Bjarke Ingels Group) ซึ่งชนะการประกวดแบบได้ออกแบบโครงสร้างอาคารขดเป็นเกลียวกลมกลืนกับทิวทัศน์โดยรอบ โอบล้อมผนังด้านในประดับกระจก (ส่วนการก่อสร้างดำเนิการโดยบริษัทสวิส CCHE) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในขนบและแนวคิดล้ำสมัยซึ่งเป็นหัวใจของแบรนด์ Audemars Piguet ทั้งยังจัดวางต่อกันแบบตามเข็มนาฬิกาเพื่อไปบรรจบกับใจกลางของตัวอาคาร ก่อนจะเคลื่อนที่ต่อไปยังทิศทางตรงกันข้าม โดยผู้ชมจะเดินลัดเลาะภายในอาคารในลักษณะที่เหมือนเดินผ่านไปตามสปริงของนาฬิกาแต่ละเรือน

“การทำนาฬิกานั้นไม่ต่างกับงานสถาปัตยกรรมตรงที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการใช้โลหะและแร่ธาตุมาผสานกับพลังงาน การเคลื่อนไหว ความชาญฉลาด และการวัดที่เที่ยงตรง เพื่อสร้างผลงานให้ออกมามีชีวิตด้วยรูปทรงที่บ่งบอกถึงกาลเวลา” บีอาร์ก อินเกิลส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ BIG กล่าว

“เราต้องการให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่รวบรวมทั้งประวัติศาสตร์ ความเชี่ยวชาญ ต้นกำเนิดทางวัฒนธรรม และการเปิดกว้างสู่โลกภายนอก ซึ่งอยู่ในภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนื้ที่สะท้อนรากฐานของความเป็นโอเดอมาร์ ปิเกต์อันเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณที่ก้าวล้ำนำสมัยอยู่เสมอ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องขอบคุณและยกย่องช่างทำนาฬิกาและช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่นที่ทำให้โอเดอมาร์ ปิเกต์ มีวันนี้” จัสมิน โอเดอมาร์ ประธานกรรมการบริหารของ Audemars Piguet  กล่าว

ใจกลางของอาคารมีส่วนจัดแสดงนาฬิกาที่มีกลไกซับซ้อนมากที่สุดที่โอเดอมาร์ ปิเกต์เคยผลิตออกมา ทั้งนาฬิกาแกรนด์คอมพลิเคชั่น นาฬิกาที่มีกลไกเชื่อมโยงกับดาราศาสตร์ กลไกการบอกเวลาด้วยเสียง รวมถึงกลไกโครกราฟ ล้อมรอบนาฬิกาพกพารุ่น Universelle (1899)

นอกจากนำเสนอประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาของแดนดินถิ่นนี้ที่ดำเนินมายาวนาน ภายในพิพิธภัณฑ์ยังนำเสนอความเป็นมาของ Audemars Piguet ผ่านนาฬิกาประวัติศาสตร์และร่วมสมัยกว่า 300 เรือน ทั้งการสร้างสรรค์กลไกนาฬิกาที่เชื่อมโยงกับดาราศาสตร์ (Astronomical) กลไกการบอกเวลาด้วยเสียง (Chiming) รวมถึงกลไกโครกราฟ (Chronograph) รวมถึงนาฬิกาพกรุ่น Universelle ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากระบบสุริยะจักรวาล ผลิตออกมาตั้งแต่ปี 1899 ไปจนถึงคอลเลกชั่นนาฬิกาที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในตระกูล  Royal Oak 

ATELIER BRÜCKNER บริษัทออกแบบพิพิธภัณฑ์จากเยอรมนีเลือกออกแบบการจัดแสดงในรูปแบบคล้ายดนตรีที่มีจังหวะจะโคนสลับช่วงไปมา พร้อมทั้งมีผลงานให้ชมทั้งในรูปของงานประติมากรรม หุ่นกลออโตมาตอน งานอินสตอลเลชั่น และชิ้นงานจำลองความเคลื่อนไหวของกลไกต่างๆ ที่มีความละเอียดซับซ้อน ทั้งยังจัดพื้นที่ไว้สำหรับเวิร์กช็อปผลิตนาฬิกาที่สลับซับซ้อน ทั้งการผลิตกลไก Grandes Complication หรือเทคนิคตกแต่ง Metiers d’Art เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นการทำงานของช่างฝีมืออย่างใกล้ชิด

เซบาสเตียน วิวาส์   ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ของ Audemars Piguet กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีความพิเศษอย่างยิ่งสำหรับผู้ชมที่จะได้ค้นพบ และเรียนรู้ ภายใต้การนำเสนอทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญที่จะได้รับการสืบทอดไปยังผู้คนรุ่นต่อไป รายละเอียดที่ถูกถ่ายทอดผ่านสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร รวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับกลไกอันซับซ้อนของกลไกแกรนด์ คอมพลิเคชั่นได้เป็นอย่างดี” 

ข้อมูลของพิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์

พื้นที่ทั้งหมดของอาคารโดมกระจก:   2,500 ตารางเมตร

พื้นที่นิทรรศการ: 900 ตารางเมตร

จำนวนบานกระจก:   108 แผ่น

น้ำหนักที่บานกระจกสามารถรองรับได้:  470 ตัน

ความหนาสูงสุดของโครงกระจก:   12 เซนติเมตร

เวลาในการประกอบบานกระจกแต่ละบาน:  3 สัปดาห์

Musée Atelier Audemars Piguet ตั้งอยู่ ณ อาคาร เลขที่ 18 ถนนรูท เดอ ฟรองซ์, 1348 เลอ บราซูส์ เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป 25 มิถุนายน 2020

https://www.museeatelier-audemarspiguet.com

Other Articles