Wednesday, December 11, 2024

บทบาทของคอสตูม (เชือดนิ่มๆ) ในภาพยนตร์ The Beguiled

มากกว่าแค่เครื่องแต่งกายย้อนยุคสีพาสเทลที่เหล่านักแสดงสาวมือฉมังต่างสวมใส่…แต่ The Beguiled ยังซ่อนความนัยถึงบทบาทเบื้องลึกของตัวละครให้ได้คิดตาม

The Beguiled คือผลงานล่าสุดของผู้กำกับหญิง โซเฟีย คอปโปล่า เนื้อหาอิงนิยายของ โธมัส คัลลิแนน และภาพยนตร์รีเมกของคลินต์ อีสต์วูด (1971) เรื่องราวเกิดขึ้นที่โรงเรียนกุลสตรีในเวอร์จิเนีย รัฐที่เป็นหนึ่งในสมรภูมิในสงครามกลางเมือง เมื่อครูสาวและนักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งหลบภัยสงครามอยู่ในโรงเรียน ลองคิดดูว่าชีวิตที่อยู่ในรั้วรอบขอบชิด มีเพียงเรียนภาษา เย็บปักถักร้อย ทำอาหาร และทำสวน มันจะน่าเบื่อหน่ายสักขนาดไหน

แต่แล้วชีวิตสุดจำเจก็เปลี่ยนไปเมื่อวันหนึ่งมีผู้ชายที่บาดเจ็บและหลงเข้ามา นานๆจะมีภาพยนตร์ที่หยิบยกประเด็นเรื่องพลังปรารถนาของผู้หญิงขึ้นมาเล่า แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ The Beguiled ก็ทำเล่าได้อย่างเชือดเฉือน และชวนขันในบางฉากแม้ว่ามันจะถูกจัดให้เป็นภาพยนตร์แนว ทริลเลอร์ ก็ตาม แถมเรื่องนี้ ยังได้ดาราแนวหน้าอย่าง นิโคล คิดแมนมารับบทครูใหญ่ เคียร์เทน ดันสต์ กับบทครูสาว แอล แฟนนิ่ง กับบทนักเรียนสาวรุ่น และโคลิน ฟาร์เรลในบทผู้หมู่แม็กเบอร์นี่ ทหารฝ่ายแยงกี้ ที่บาดเจ็บและต้องมาหลาบพักฟื้นรักษาตัวในโรงเรียน

นอกจากกระทำของตัวละครแล้ว เครื่องแต่งกายยังมีบทบาทมากทีเดียว ใน The Beguiled สเตซี่ แบทแทต คอสตูมดีไซเนอร์ ได้กลับมาร่วมงานกับคอปโปล่าอีกครั้ง รวมถึงแอน รอส โปรดักชั่นดีไซเนอร์ด้วย เธอได้ค้นคว้าข้อมูลและแรงบันดาลใจจากพิพิธภัณฑ์ เมโทรโพลิแทน ออฟ อาร์ต เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย เธอกล่าวว่า “จุดเด่นของการแต่งกายในยุคสงครามกลางเมืองก็คือ ผู้หญิงจะผสมผสานลวดลายต่างๆเข้าด้วยกัน… ลายดอกไม้ผสมลายตาราง ลายทางกับลายจุด ซึ่งดูไปด้วยกันได้ดีเมืออยู่ในฉาก มันให้ความรู่สึกเหมือน…ชุดกระโปรงของแบรนด์มาร์นี่ เมื่อทุกคนมาเข้าฉากด้วยกัน ชุดมันเล่าเรื่องของมันเอง”

ภายใต้โครงชุดมิดชิดเฉดสีอ่อนเหมือนมาร์ชเมลโลว์เหล่านั้น ยังมีรายละเอียดยิบย่อยที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวด้วย อย่างเช่น มิส มาร์ธา ครูใหญ่ประจำโรงเรียนผู้รักษากฏ (รับบทโดย นิโคล คิดแมน) กับโครงชุดกระโปรงบาน เส้นสายตรงๆ ในเฉดสีขาว งาช้าง และดำ รวมถึงชุดแนวแจีกเก็ตที่ดูขรึม ครูเอดวีน่าผู้ช่างฝันและอยากมีอิสระ (รับบทโดย เคียร์สเทน ดันสต์) กับชุดที่แฝงความโรแมนติก เนื้อผ้ามีความบางเบา พลิ้วไหว ส่วนอลิเชีย (แอล แฟนนิ่ง) สาวรุ่นที่ดูสวยใสภายใต้ชุดระบายและเฉดสีพาสเทล แต่ตัวจริง “ระริกระรี้” และอยากรู้อยากลองเป็นที่สุด

ในเรื่องนี้ นักแสดงสาวทุกคนต้องสวมคอร์เซ็ตไว้ใต้ชุดที่ปกปิดมิดชิด ซึ่งช่วยจัดทรงเรือนร่างให้สมส่วนและสง่างาม แต่ในขณะเดียวก็ไม่มีการใส่โครงสุ่มใหญ่แบบที่นิยมในยุคนั้น โดยคอสตูมดีไซเนอร์ให้เหตุผลว่าเพราะเป็นช่วงยากลำบาก ทุกคนต้องลงมือทำงานหนัก และอยู่แต่ภายในโรงเรียน จึงไม่แปลกที่จะไม่สวมโครงสุ่ม และบางวันก็ทำตัวตามสบาย ปล่อยผมสยาย ไม่เคร่งครัดกับการแต่งกายมากนัก

เสื้อผ้าไม่ได้เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยสี่หรือมีไว้เพื่อประโยชน์ใช้สอยเท่านั้น อย่างในฉากดินเนอร์กับผู้หมู่แม็กเบอร์นี่ ทุกคนขนชุดที่สวยสุดออกมาใส่ ครูใหญ่กับชุดสีงามช้างปักลาย เอดวีน่าซึ่งดูจะเป็นสาวสมัยเลือกชุดเปิดไหล่ประดับลูกไม้ รวมไปถึงเด็กสาวๆในชุดผ้าไหมทัฟต้า… จิวเวลรี่เองก็มีบทบาทในการแต่งตัวไม่น้อย (เป็นของวินเทจที่แบทแทตเสาะหามาให้เข้ากับบรรยากาศในเรื่อง และบางชิ้นเป็นฝีมือของจิวเวลรี่ ดีไซเนอร์ เดวิด รีส) และบทบาทของมันก็เป็นบทบาททางจิตวิทยา มารีนักเรียนสาวขอยืมตุ้มหูของเอ็ดวีน่า ส่วนเอ็ดวีน่าก็ขนเอาเข็มกลัดมาใส่ทั้งที่ไม่ได้ใส่เลยนับตั้งแต่คริสต์มาสที่แล้ว และในมื้อค่ำตอนรับ เธอก็สวมตุ้มหูยาวประดับไข่มุกและสร้อยข้อมือประดับออนิกซ์สีดำ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะผู้หมู่แม็กเบอร์นี่มาพักที่นี่

“เราแต่งตัวทำไม?” ใครที่เคยบอกว่าผู้หญิงไม่แต่งตังเพื่อ “พลีส” ผู้ชาย ก็อาจต้องทำความเข้าใจเรื่องสัญชาตญาณหญิงสักหน่อย ส่วนประเด็นที่ว่าเสื้อผ้าสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่นั้น คงไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าตัวตนที่สะท้อนนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือไม่ เพราะมันเป็นตัวตนที่เราอยากจะบอกให้โลกรู้ก็เท่านั้น

เรื่อง โดย Pimpilai Boonjong (Deputy Editor)

Other Articles